backup og meta

วิธีกินยาคุม แต่ละชนิด และผลข้างเคียงของยาคุมที่ควรรู้

วิธีกินยาคุม แต่ละชนิด และผลข้างเคียงของยาคุมที่ควรรู้

ยาคุมกำเนิดมีให้เลือกหลายชนิด เช่น ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน แต่ วิธีกินยาคุม แต่ละชนิดอาจแตกต่างกัน เนื่องจากความเข้มข้นของฮอร์โมนภายในยาแต่ละชนิดอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการคุมกำเนิด หากกินยาคุมไม่ถูกวิธีอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลงได้ ดังนั้น การทำความเข้าใจวิธีกินยาคุมแต่ละชนิดอย่างถูกต้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีขึ้นด้วย

[embed-health-tool-ovulation]

วิธีกินยาคุม แต่ละชนิด

ยาคุมกำเนิดมีด้วยกัน 3 ชนิด คือ ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน โดยมีรายละเอียดและวิธีกินยาคุมแต่ละชนิด ดังนี้

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined Oral Contraceptive หรือ COC)

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% หากรับประทานอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ประกอบด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสโตเจนรวมกันในเม็ดเดียวในปริมาณที่เท่ากัน ซึ่งยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมแบ่งเป็นแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด มีวิธีกินยาคุมที่คล้ายคลึงกัน ดังนี้

เริ่มต้นกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

  • เริ่มรับประทานยาคุมกำเนิดเม็ดแรกตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาหรือไม่เกิน 5 วัน นับตั้งแต่วันแรกของประจำเดือน แต่หากเริ่มรับประทานยาหลังจากวันที่ 5 ของรอบประจำเดือน ควรป้องกันด้วยถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะรับประทานยาครบ 7 วัน
  • สำหรับยาคุมกำเนิดแบบ 21 เม็ด ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ในเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เป็นเวลา 21 วัน เมื่อยาหมดแผงให้หยุดรับประทาน 7 วัน และเริ่มรับประทานแผงใหม่ในวันที่ 8 เมื่อนับครบ 7 วันแล้ว
  • สำหรับยาคุมกำเนิดแบบ 28 เม็ด ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ในเวลาเดียวกันอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เป็นเวลา 28 วัน ซึ่งยาที่มีฮอร์โมนจะมีเพียง 21 เม็ด ส่วนอีก 7 เม็ด จะเป็นเป็นสารที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่น ธาตุเหล็ก หรือแป้ง เมื่อรับประทานยาหมดแผงสามารถเริ่มแผงใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดยา

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม มีข้อดีทำให้ประจำเดือนมาปกติและอาจปวดท้องประจำเดือนน้อยลง แต่สำหรับในผู้ที่ผ่านการคลอดบุตรมาไม่นาน แท้งบุตร หรือมีรอบเดือนสั้น ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมกำเนิดก่อนเสมอ เนื่องจากอาจต้องใช้การคุมกำเนิดอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจไม่รุนแรงและอาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว หากรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่องผลข้างเคียงจะค่อย ๆ หายไปเอง ดังนี้

  • ปวดหัว คลื่นไส้ เจ็บเต้านม และอารมณ์แปรปรวน
  • ความดันโลหิตสูง
  • อาจมีเลือดออกในช่วง 2-3 เดือนแรกของการรับประทานยา
  • อาจทำให้เกิดภาวะสุขภาพร้ายแรง เช่น ลิ่มเลือด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก

ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only Pills หรือ POP)

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว อาจมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึง 99% หากรับประทานอย่างถูกต้อง ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสโตเจน (Progestogen) เพียงชนิดเดียว ใน 1 แผงจะมีทั้งหมด 28 เม็ด มีวิธีกินยาคุม ดังนี้

เริ่มต้นกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

  • เริ่มกินยาคุมกำเนิดเม็ดแรกในวันแรกของประจำเดือนหรือไม่เกิน 5 วัน นับจากวันแรกเมื่อประจำเดือนมา หากกินยาคุมช้ากว่า 5 วัน หรือมีรอบเดือนสั้น ควรใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งจนว่าจะกินยาครบ 2 วัน
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวมี 28 เม็ด ให้เริ่มรับประทานวันละ 1 เม็ด ตรงเวลาทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เป็นเวลา 28 วันจนหมดแผง และเริ่มแผงใหม่ได้ทันทีโดยไม่ต้องหยุดยา

ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยวเหมาะสำหรับผู้ที่มีผลข้างเคียงจากฮอร์โมนเอสโตรเจน สำหรับผู้หญิงที่ผ่านการคลอดบุตรมาไม่นาน ทำแท้งหรือแท้งบุตร ควรได้รับคำแนะนำจากคุณหมอก่อนรับประทานยาคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว

ผลข้างเคียงมักเกิดขึ้นใน 2-3 เดือนแรก และหายได้เองเมื่อกินยาคุมอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

  • สิว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อารมณ์แปรปรวน ปวดหัวและไมเกรน
  • เต้านมขยายและอาจเจ็บเต้านม
  • ความต้องการทางเพศอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลง
  • อาจมีซีสต์ในรังไข่ มักไม่เป็นอันตรายและหายได้เองโดยไม่ต้องรักษา

ลืมกินยาคุมกำเนิด

หากลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมและชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ควรปฏิบัติดังนี้

  • รับประทานยา 1 เม็ดทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ และรับประทานยาเม็ดถัดไปในเวลาปกติอย่างต่อเนื่อง
  • หากลืมรับประทานยานานกว่ากำหนด ให้รับประทานยา 2 เม็ด ใน 1 วัน คือ รับประทาน 1 เม็ด เมื่อนึกขึ้นได้ และอีก 1 เม็ดในเวลาปกติ
  • หากลืมรับประทานยานานหลายวัน ให้หยุดยาแผงเก่าและเริ่มต้นยาแผงใหม่ในรอบเดือนถัดไป
  • ป้องกันด้วยถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อลืมรับประทานยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ดแบบฉุกเฉิน (Emergency Contraception Pill)

ยาคุมฉุกเฉิน อาจมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 87% มักใช้ในกรณีฉุกเฉิน เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมกินยาคุมแบบปกติ โดยยาคุมฉุกเฉินมีระดับความแรง 2 ประเภท คือ แบบ 0.75 มิลลิกรัม มี 2 เม็ด และแบบ 1.5 มิลลิกรัม มี 1 เม็ด วิธีกินยาคุม มีดังนี้

  • ยาคุมฉุกเฉิน 0.75 มิลลิกรัม มี 2 เม็ด ให้กินยาคุมเม็ดแรกทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด หรือไม่เกิน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง และเว้นไปอีก 12 ชั่วโมง เพื่อกินยาเม็ดที่ 2 หรืออีกวิธีสามารถกินยาคุมฉุกเฉินพร้อมกัน 2 เม็ดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์
  • ยาคุมฉุกเฉิน 1.5 มิลลิกรัม มี 1 เม็ด ให้กินยาคุม 1 เม็ด ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เกิน 72 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน

ผลข้างเคียงอาจเกิดขึ้นในระยะยาว ดังนี้

  • ปวดหัว ปวดท้อง
  • อาจมีเลือดออกจากช่องคลอดเล็กน้อย
  • ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง อาจมาช้าลงหรือเร็วขึ้น และอาจปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ
  • หากมีความรู้สึกป่วยหลังจากกินยาคุมฉุกเฉินภายใน 2-3 ชั่วโมง ควรรีบพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control Pills. https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-pills. Accessed October 14, 2021

Combined pill. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/combined-contraceptive-pill/. Accessed October 14, 2021

The progestogen-only pill. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/the-pill-progestogen-only/. Accessed October 14, 2021

Emergency contraception (morning after pill, IUD). https://www.nhs.uk/conditions/contraception/emergency-contraception/. Accessed October 14, 2021

กินยาคุมกำเนิดให้ถูกวิธี คุมได้ก็หายห่วง. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4/. Accessed October 14, 2021

บทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/419/%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%89%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%89%E0%B8%B4%E0%B8%99/. Accessed October 14, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

16/03/2023

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้ยาคุม อาการและผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของยาคุม มีอะไรบ้าง ยาคุมไม่เหมาะกับใคร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 16/03/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา