backup og meta

ยาคุมฉุกเฉิน การรับประทานและความเสี่ยง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    ยาคุมฉุกเฉิน การรับประทานและความเสี่ยง

    ยาคุมฉุกเฉิน เป็นวิธีคุมกำเนิดสำหรับกรณีฉุกเฉินเมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิดแบบปกติ สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75%-85% ซึ่งน้อยกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ การรับประทานยาคุมฉุกเฉินบ่อยครั้งอาจเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย เนื่องจากเป็นฮอร์โมนในปริมาณสูง และเพิ่มความเสี่ยงท้องนอกมดลูกได้ จึงควรทำความเข้าใจความเสี่ยงและความเหมาะสมในการใช้ยาด้วย

    ยาคุมฉุกเฉินทำงานอย่างไร

    ยาคุมฉุกเฉิน เป็นยารับประทานที่แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) และ ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพที่แตกต่างกันเล็กน้อย ดังนี้

    • ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นฮอร์โมนโปรเจนเตอโรนสังเคราะห์ ช่วยชะลอหรือหยุดการปล่อยไข่ เพิ่มความเหนียวของมูกปากมดลูก เเละทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลง ควรใช้เร็วที่สุดภายใน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
    • ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate) ช่วยหยุดการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ชะลอหรือหยุดการปล่อยไข่ ควรใช้โดยเร็วที่สุด ภายใน 120 ชั่วโมง หรือ 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

    การรับประทานยาคุมฉุกเฉินทั้ง 2 ชนิด สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 75-85% ซึ่งน้อยกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น และยิ่งรับประทานยาเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพของยามากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น จึงควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน

    วิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉิน

    ยาคุมฉุกเฉินสามารถซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากคุณหมอ โดยวิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ให้รับประทานยาทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่ควรเกิน 3-5 วัน หรือ 72-120 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ควรรับประทานหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ถุงยางแตก หรือลืมรับประทานยาคุมแบบปกติ

    ยาคุมฉุกเฉินแบบลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) มี 2 ประเภท คือ แบบ 0.75 มิลลิกรัม มี 2 เม็ด และแบบ 1.5 มิลลิกรัม มี 1 เม็ด ซึ่งส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะนิยมใช้แบบ 0.75 มิลลิกรัม มี 2 เม็ด มีวิธีรับประทาน ดังนี้

    • แบบ 0.75 มิลลิกรัม มี 2 เม็ด เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ให้รับประทานยา 1 เม็ด หลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันทันที และเว้นไปอีก 12 ชั่วโมง จึงรับประทานยาเม็ดที่ 2 หรืออาจรับประทานยาพร้อมกันทั้ง 2 เม็ด ทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งได้ผลไม่ต่างกัน
    • แบบ 1.5 มิลลิกรัม มี 1 เม็ด ให้รับประทานยา 1 เม็ดทันทีหลังมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกันหรือมีความเสี่ยงตั้งครรภ์

    ผลข้างเคียงของยาคุมฉุกเฉิน

    ยาคุมฉุกเฉิน อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายต่าง ๆ ดังนี้

    • ปวดศีรษะ ปวดท้องน้อย
    • รอบประจำเดือนอาจเปลี่ยนแปลง อาจมาเร็วขึ้นหรือช้าลง และอาจมีอาการปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ บางรายอาจมีเลือดออกผิดปกติ
    • หากมีอาการผิดปกติ เลือดออกมาก ควรเข้าพบคุณหมอ เพื่อดูอาการและหาสาเหตุเพิ่มเติมของผลข้างเคียงนี้ คุณหมออาจเพิ่มขนาดยาคุมฉุกเฉิน หรืออาจต้องใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดฉุกเฉินอย่างห่วงคุมกำเนิดทองแดง (Copper IUD) ร่วมด้วยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

    ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจร่างกาย หากอาการข้างเคียงจากยาคุมฉุกเฉินไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่น ๆ ดังนี้

  • สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
  • ประจำเดือนรอบต่อไปมาช้ากว่ากำหนดเดิม 7 วัน
  • ประจำเดือนมาน้อยกว่าปกติ
  • มีอาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เป็นผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้น้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • ความเสี่ยงในการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

    ยาคุมฉุกเฉินอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในบางคนที่แพ้ส่วนประกอบในยา หรือกำลังใช้ยาบางชนิดที่อาจลดประสิทธิภาพของยาคุมฉุกเฉิน เช่น

    • ยาลดกรดในกระเพาะ เช่น โอเมพราโซล (Omeprazole)
    • ยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) และ ไรฟาบูติน (Rifabutin)
    • ยาที่ใช้ในการรักษาโรคลมชัก เชื้อเอชไอวี หรือวัณโรค

    นอกจากนี้ ยาคุมฉุกเฉินอาจมีประสิทธิภาพลดลงในผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน อาจต้องได้รับยาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ ไม่ควรซื้อยาคุมฉุกเฉินมารับประทานเพิ่มเอง และยาคุมฉุกเฉินอาจส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ ดังนั้น ก่อนรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ เพื่อสุขภาพและพัฒนาการที่ดีของทารก

    ยาคุมฉุกเฉินสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 75%-85% ซึ่งน้อยกว่าการคุมกำเนิดแบบอื่น และไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ นอกจากนี้ ไม่ควรรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินติดต่อกันบ่อย ๆ เพราะอาจส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ และระบบฮอร์โมน ส่งผลถีงระบบการสืบพันธุ์ในอนาคต และอาจเพิ่มความในการเสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

    ยาคุมฉุกเฉินเหมาะกับใคร

    ยาคุมฉุกเฉิน เหมาะสำหรับใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางอนามัยแตกหรือหลุด ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม หรือชนิดฮอร์โมนเดี่ยว ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดหรือใช้วงแหวนช่องคลอดไม่ถูกวิธี

    โดยปกติผู้หญิงทุกคนสามารถรับประทานยาคุมฉุกเฉินได้ แต่อาจมีข้อจำกัดสำหรับบางคนที่แพ้ส่วนประกอบของยา หรือมีภาวะสุขภาพ หากไม่มั่นใจสามารถมาปรึกษาคุณหมอเพื่อการใช้ยาคุมอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา