ไซนัสอักเสบ เป็นโรคที่สามารถก่อให้เกิดอาการรุนแรงไม่น้อยไปกว่าโรคทางเดินระบบหายใจอื่น ๆ ทำให้คุณคัดจมูก มีปัญหาด้านการได้กลิ่น และในที่สุดอาจทำให้เนื้อเยื่อโพรงจมูกของคุณอักเสบได้ อีกทั้งโรคไซนัสยังแบ่งออกเป็นอีกหลายประเภทด้วยกัน ที่วันนี้ Hello คุณหมอ ได้รวบรวม ประเภทของไซนัสอักเสบ มาฝากให้ทุกคนได้ศึกษา เพื่อป้องกันตนเองได้อย่างเท่าทัน
ไซนัสอักเสบ เกิดจากอะไร
ไซนัสอักเสบ เกิดได้จากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยที่สุดนั้นคงเป็น การติดเชื้อไวรัสที่เข้าไปกระตุ้นให้คุณเกิดอาการแพ้ และผลิตเมือกของเหลวในโพรงจมูกออกมาจำนวนมากจนเกิดการอุดตัน และเป็น ไซนัสอักเสบ ได้นั่นเอง
ส่วนใหญ่ผู้ที่เสี่ยงเป็นไซนัสอักเสบมักมีประวัติการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคภูมิแพ้ตามฤดูกาล ไข้หวัด ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อีกทั้งสำหรับผู้ที่ได้รับควันพิษอยู่บ่อยครั้ง และมีร่างกายที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง หรือขนสัตว์ ก็สามารถนำพาไปสู่ ไซนัสอักเสบ ได้เช่นเดียวกัน
ประเภทของไซนัสอักเสบ มีอะไรบ้าง
ไซนัสอักเสบ แต่ละประเภทมีอาการที่ค่อนข้างคล้ายกัน เช่น น้ำมูกไหล อาการไอ คัดจมูก เหนื่อยล้า รู้สึกปวดบริเวณใบหน้า แต่อาจต่างกันที่ระยะเวลาที่คุณเป็น โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้
1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute sinusitis) ช่วงแรกจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนตนเองเป็นไข้หวัดแบบปกติ แต่อาจมีระยะเวลาที่ยาวนานกว่าประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรือกายไปได้เองภายใน 7-10 วัน
2.ไซนัสอักเสบกึ่งเฉียบพลัน (Subacute sinusitus) การอักเสบที่คุณเป็นนี้ อาจใช้เวลาราว 4-12 สัปดาห์ กว่าอาการจะค่อย ๆ บรรเทาลง
3.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (Chronic sinusitus) คุณอาจต้องอยู่กับอาการของ ไซนัสอักเสบ นี้นานกว่า 12 สัปดาห์
4.ไซนัสอักเสบซ้ำซ้อน (Recurrent sinusitis) ถึงแม้ว่าคุณจะรักษาไซนัสอักเสบหาย ต่อย่างไรก็มีโอกาสเป็นซ้ำ ๆ ได้ใหม่ และมากกว่า 1 ครั้งต่อปี
ไม่ว่าคุณจะเผชิญกับไซนัสอักเสบประเภทใด โปรดจำไว้ว่าคุณต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำแพทย์ พร้อมเข้ารับการตรวจเช็กอาการสม่ำเสมอ เพื่อปกป้องระบบทางเดินหายใจของคุณให้ไกลห่างจากภาวะรุนแรง
วิธีป้องกันไซนัสอักเสบง่าย ๆ ด้วยตัวคุณ
วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน ไซนัสอักเสบ คือการเลี่ยงไม่ให้ตนเองต้องเจ็บป่วย หรือเป็นไข้หวัดบ่อย เพื่อลดการสะสมของเสมหะ และน้ำมูกไม่ให้เกิดการอุดตัน หรือเนื้อเยื่อโพรงจมูกได้รับความเสียหายนำไปสู่โรคไซนัสอักเสบขึ้น
เคล็ดลับการป้องกันไซนัสอักเสบที่คุณควรนำไปปรับเปลี่ยนในชีวิตประจำวัน มีดังต่อไปนี้
- หมั่นฉีดวัคซีนตามกำหนดให้ครบทุกปี
- รับประทานผัก หรือผลไม้ให้มาก ๆ เพื่อเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ และวิตามินส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
- รักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือบ่อย ๆ
- หลีกเลี่ยงควันพิษต่าง ๆ เช่น ควันบุหรี่ ควันรถ ควันจากโรงงาน
- ติดตั้งเครื่องทำความชื้น เพื่อให้อากาศภายในบ้านชุ่มชื้น
- ทำความสะอาดบ้านเป็นประจำไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น
- เลิกบุหรี่อย่างถาวร โดยสามารถเข้าขอคำการบำบัดในการเลิกบุหรี่จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้
- ล้างจมูกเป็นประจำด้วยน้ำเหลือทางการแพทย์
หากคุณกำลังรักษา ไซนัสอักเสบ ควรมีการรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำร่วมด้วย และไม่ควรหยุดยา หรือลดปริมาณยาเอง จนกว่าแพทย์จะอนุญาตถึงแม้คุณจะรู้สึกว่าตนเองมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม