backup og meta

ใครชอบปล่อยให้บ้านรก ฝุ่นเขรอะ ระวังจะป่วยเพราะ แบคทีเรียในฝุ่นละออง

ใครชอบปล่อยให้บ้านรก ฝุ่นเขรอะ ระวังจะป่วยเพราะ แบคทีเรียในฝุ่นละออง

Hello คุณหมอ เข้าใจดีว่า หลายคนต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ตื่นเช้ามารีบออกไปทำงาน กว่าจะกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น วันหยุดก็อยากนอน ไม่อยากทำอะไร บางครั้ง ความเร่งรีบในการดำเนินชีวิตก็อาจทำให้คุณละเลยการดูแลทำความสะอาดบ้าน จนบ้านมีฝุ่นละอองสะสมตามที่ต่าง ๆ และหากคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่ปล่อยให้บ้านรก ฝุ่นเขรอะ เราอยากแนะนำให้คุณรีบทำความสะอาดบ้านโดยด่วน เพราะนอกจากจะทำให้บ้านดูสกปรก ไม่น่าอยู่แล้ว แบคทีเรียในฝุ่นละออง ยังอาจทำให้คุณป่วยได้อีกด้วย

แบคทีเรียในฝุ่นละออง กับปัญหาสุขภาพ

ผู้เชี่ยวชาญเผยว่า แบคทีเรียในฝุ่นละอองส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาว T helper 1 (Th1) และ Th17 ที่คอยกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และเซลล์มะเร็ง เสียสมดุล จนนำไปสู่การติดเชื้อที่นิวโทรฟิล (Neutrophil) ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ร่างกายจึงต่อต้านเชื้อดังกล่าวได้น้อยลง ความเสี่ยงในการเกิดโรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease หรือ COPD) และโรคมะเร็งปอดจึงเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีงานศึกษาวิจัยที่ชี้ว่า แบคทีเรียจากนอกบ้านที่เล็ดลอดเข้าไปในบ้านเวลาเราเปิดประตูหน้าต่าง หรืออาจติดตามตัวเราเวลาเราออกไปข้างนอก และเข้าไปฟุ้งกระจายอยู่ในบ้าน อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียในฝุ่นละอองกลายเป็นแบคทีเรียดื้อต่อยาปฏิชีวนะ (Antibiotic resistance) หรือที่เรียกว่า “เชื้อดื้อยา” ได้ และหากเกิดการติดเชื้อดื้อยา การรักษาด้วยยาตัวเดิมที่เคยใช้ได้ผล ก็อาจจะไม่ได้ผลอีกต่อไป

แสงแดด… อาวุธลับ ปราบ แบคทีเรียในฝุ่นละออง

แบคทีเรียในฝุ่นละอองเป็นตัวการก่อโรคที่เราไม่ควรปล่อยไว้ ทางที่ดี คุณจึงควรทำความสะอาดบ้าน ปัดฝุ่น ดูดฝุ่นละอองที่เกาะอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในบ้านเป็นประจำทุกวัน แต่เราก็เข้าใจว่า บางคนอาจไม่สะดวกทำความสะอาดบ้านทุกวัน หากเป็นอย่างนั้น เราอยากให้คุณเปิดหน้าต่าง หรือเปิดม่านเพื่อรับแสงแดดบ้าง เพราะงานศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยโอเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เผยแพร่ในวารสาร Microbiome ระบุว่า การปล่อยให้แสงแดดส่องเข้ามาในบ้าน สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในฝุ่นละอองได้

ทีมนักวิจัยได้สร้างห้องขนาดเล็กขึ้นมา 7 ห้องโดยจำลองมาจากห้องพักอาศัยจริง พวกเขาควบคุมสภาพอากาศของทั้ง 7 ห้องให้เหมือนกันทุกประการ จากนั้นจึงนำฝุ่นที่เก็บจากบ้านคนมาทิ้งไว้ในห้องแต่ละห้อง แล้วจึงเคลือบกระจกของแต่ละห้องให้มีลักษณะต่างกัน 3 ลักษณะคือ

  1. กระจกใสที่แสงธรรมชาติ สามารถผ่านได้เกือบ 100%
  2. กระจกที่แสงยูวีผ่านได้
  3. กระจกทึบที่แสงไม่สามารถลอดผ่านได้เลย ทำให้ห้องมืดสนิท

หลังจากนั้น 90 วัน ทีมนักวิจัยได้เก็บฝุ่นละอองจากในแต่ละสภาพแวดล้อมมาวิเคราะห์องค์ประกอบ ความสมบูรณ์ และความสามารถในการดำรงชีวิตและการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่อยู่ในฝุ่นละออง ผลการวิเคราะห์ออกมาว่า ห้องที่มืดสนิทมีเชื้อแบคทีเรียอยู่ประมาณ 12% และเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ต่อไปได้ด้วย ในขณะที่ห้องที่ได้รับแสงแดด จะมีแบคทีเรียอยู่แค่ 6.8% ส่วนห้องที่ได้รับแสงยูวีจะมีแบคทีเรียอยู่เพียง 6.1% เท่านั้น

ทีมนักวิจัยแนะนำว่า อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ควรเปิดรับแสงแดดบ้าง เพราะแสงแดดสามารถทำลายจุลินทรีย์ในฝุ่นละออง เช่น แบคทีเรีย จึงสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะติดเชื้อที่เกิดจากฝุ่นละอองได้

เคล็ดลับกำจัดฝุ่นและแบคทีเรียอย่างได้ผล

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า หากคุณอยากกำจัดฝุ่นละออง และแบคทีเรียในฝุ่นละอองภายในบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ คุณควรทำตามเคล็ดลับเหล่านี้

  • เริ่มทำความสะอาดบ้านโดยการใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์เช็ดฝุ่นตามเฟอร์นิเจอร์ และประตูหน้าต่างให้สะอาด โดยไล่จากที่สูงลงที่ต่ำ อย่าใช้ไม้ปัดฝุ่น เพราะมีแต่จะทำให้ฝุ่นละอองกระจายฟุ้งไปทั่วบ้าน
  • กำจัดฝุ่นเสร็จแล้ว จึงค่อยเริ่มดูดฝุ่น และถูพื้นตามห้องต่าง ๆ โดยเริ่มจากตามซอกมุมของห้อง หมุนวนตามเข็มนาฬิกา และทำความสะอาดไล่จากหลังบ้านไปหน้าบ้าน
  • อย่าใช้ผ้าไมโครไฟเบอร์ผืนเดียวเช็ดฝุ่นละอองทั่วบ้าน คุณควรใช้ผ้าหนึ่งผืนต่อหนึ่งห้อง หรือหากเป็นบริเวณใหญ่ ๆ เช่น ห้องนั่งเล่น ก็ควรเปลี่ยนผ้าผืนใหม่ หากรู้สึกว่าผ้าสกปรกมากแล้ว
  • อย่าใช้น้ำยาทำความสะอาดมากเกินไป เพราะน้ำยาทำความสะอาดบางชนิดอาจมีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนประกอบ เมื่อสูดดมเข้าไปอาจทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง หรือเป็นพิษต่อร่างกาย หรือหากสัมผัสผิวหนัง ก็อาจทำให้ระคายเคืองที่ผิวหนังได้ด้วย

แบคทีเรียในฝุ่นละออง เป็นตัวการก่อโรคอีกชนิดที่คุณไม่ควรละเลย แนะนำว่า คุณควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อไม่ให้มีฝุ่นละอองสะสมอยู่ในบ้าน เมื่อบ้านปราศจากฝุ่นละออง และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอย่างแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา และอื่น ๆ ความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพบางประการก็จะน้อยลง โดยเฉพาะโรคระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพของคุณก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

We’re Surrounded! House Dust Is A Rich Source Of Bacteria. https://www.sciencedaily.com/releases/2008/04/080407190600.htm. Accessed November 11, 2020

Dust at Various Workplaces—Microbiological and Toxicological Threats. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5981916/. Accessed November 11, 2020

Bacteria hiding in indoor dust could spread antibiotic resistance. https://www.livescience.com/dust-carries-antibiotic-resistant-bacteria.html. Accessed November 11, 2020

THE SURVIVAL OF BACTERIA IN DUST. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2234961/pdf/jhyg00170-0029.pdf. Accessed November 11, 2020

Letting the sunshine in may kill dust-dwelling bacteria. https://www.biomedcentral.com/about/press-centre/science-press-releases/18-10-18. Accessed November 11, 2020

Bacteria and fungi in organic dust as potential health hazard. http://www.aaem.pl/Bacteria-and-fungi-in-organic-dust-as-potential-health-hazard,90543,0,2.html. Accessed November 11, 2020

House dust microbiome and human health risks. https://link.springer.com/article/10.1007/s10123-019-00057-5. Accessed November 11, 2020

DUST INHALATION AND HEAT EXPOSURE INCREASE RISK OF INVASIVE BACTERIAL DISEASE. https://www.aaaai.org/global/latest-research-summaries/Current-JACI-Research/dust-bacterial-disease. Accessed November 11, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/11/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

รู้หรือไม่! ปลอกหมอน ที่เรานอนหนุน อาจกักตุนแบคทีเรียเอาไว้ก็ได้นะ

อาการภูมิแพ้ไรฝุ่น รับมืออย่างไรดี


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 24/11/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา