backup og meta

สิวที่แก้ม เกิดจากอะไร และควรดูแลตนเองอย่างไร

สิวที่แก้ม เกิดจากอะไร และควรดูแลตนเองอย่างไร

สิวที่แก้ม เกิดจากการอุดตันของรูขุมขน รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังบริเวณแก้ม มักเกิดจากการที่ผิวบริเวณแก้มโดนสัมผัสหรือถูกเสียดสีบ่อยครั้งจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การคุยโทรศัพท์ที่แนบโทรศัพท์ไว้กับใบหน้า การใส่หน้ากากอนามัย การสวมหมวกกันน็อค เมื่อเป็นสิวที่แก้ม ควรดูแลตัวเอง เช่น ใช้ยารักษาสิว งดการสัมผัสใบหน้า เลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสิว

[embed-health-tool-ovulation]

สิวที่แก้ม เกิดจากอะไร

โดยปกติ สิว รวมถึงสิวที่แก้ม มักเกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว หรือต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป

นอกจากนั้น สิวยังอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ อย่างเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) หรือคูติแบคทีเรียม แอคเน่ (Cutibacterium Acnes) ที่มักทำให้เกิดสิวอักเสบหรือสิวอุดตัน

ปัจจัยเสี่ยงสิวที่แก้ม

สิวที่แก้ม มักเกิดจากการเสียดสี ซึ่งอาจเป็นผลจากพฤติกรรมบางอย่าง เช่น นอนตะแคงโดยไม่พลิกตัว สวมหมวกกันน็อค ใส่หน้ากากอนามัย คุยโทรศัพท์โดยแนบไว้ที่แก้ม พฤติกรรมการเอามือจับหน้าบ่อย ๆ

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเป็นสิวที่แก้ม ได้แก่

  • พันธุกรรม หรือประวัติการเป็นสิวของคนในครอบครัว
  • สิวที่เป็นอยู่แล้ว หากเป็นสิวอยู่แล้ว การเสียดสีบนใบหน้าอาจทำให้สิวเพิ่มจำนวนมากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ระหว่างเข้าสู่วัยรุ่นหรือช่วงเวลาตั้งครรภ์ มีผลทำให้ต่อมใต้ผิวหนังมีขนาดใหญ่ขึ้น และผลิตน้ำมันมากขึ้น
  • การบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ระดับฮอร์โมนอินซูลินที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือดหลังบริโภคอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตมักไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) และฮอร์โมนอินซูลิน-ไลค์ โกรท แฟคเตอร์ 1 (Insulin-like Growth Factor 1) ซึ่งมีผลให้ต่อมใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันมากขึ้นและอาจก่อให้เกิดสิวได้
  • ตัวยาบางชนิด เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ลิเทียม (Lithium)
  • การใช้ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอางบางอย่าง อาจก่อให้เกิดสิวอุดตันหรือสิวอักเสบได้เนื่องจากส่วนผสมบางอย่าง เช่น เบนซาลดีไฮด์ (Benzaldehyde) ซึ่งเป็นสารน้ำหอมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง กรดลอริก (Lauric Acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันชนิดอิ่มตัวที่อาจก่อให้เกิดการอุดตัน โดยเฉพาะผู้ที่มีผิวบอบบางหรือเป็นสิวง่าย รวมทั้งผู้ที่ใช้สเปรย์หรือเจลแต่งผมเป็นประจำ

เป็นสิวที่แก้ม ควรดูแลตัวเองอย่างไร

เมื่อเป็นสิวที่แก้ม ควรดูแลตัวเองตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ลดการเสียดสีบริเวณแก้ม โดยเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่อาจก่อให้เกิดสิว เช่น เลือกสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้าที่ไม่มีสายรัดบริเวณแก้ม เลือกคุยโทรศัพท์โดยใช้หูฟังแทนการแนบโทรศัพท์กับใบหน้า
  • เลือกใช้สบู่ฤทธิ์อ่อนทำความสะอาดใบหน้าวันละ 1-2 ครั้ง เนื่องจากการใช้สบู่ฤทธิ์แรง หรือสบู่ที่มีน้ำหอมเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ผิวหน้าระคายเคืองและอาการของสิวที่แก้มแย่ลง
  • ใช้ครีมแต้มสิวหรือยารักษาสิว ที่มีส่วนผสมในการช่วยบรรเทาอาการสิว อย่างเบนโซ อิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการรูขุมขนอุดตัน ทำให้สิวแห้ง และกำจัดแบคทีเรียเพื่อลดโอกาสการเกิดสิวเม็ดใหม่ กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) มีคุณสมบัติช่วยผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว กำจัดไขมันที่อุดตันรูขุมขน และยับยั้งการอักเสบหรือบวมแดงของสิว ช่วยให้สิวยุบตัวเร็วขึ้น

เป็นสิวที่แก้ม ควรไปพบคุณหมอหรือไม่

ปกติแล้ว เมื่อเป็นสิวที่แก้ม หากดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมหรือใช้ผลิตภัณฑ์แต้มสิว สิวมักค่อย ๆ ยุบตัวและหายไป อย่างไรก็ตาม ถ้าอาการของสิวไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมว่าใช่สิวหรือไม่ เพราะในบางรายที่มีตุ่มบวมบนใบหน้าอาจดูคล้ายสิว แต่จริง ๆ แล้วอาจเป็นอาการแพ้หรือปฏิกิริยาของผิวหนังเมื่อสัมผัสกับสารบางอย่าง ควรได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมโดยคุณหมอผิวหนัง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Acne. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/acne/symptoms-causes/syc-20368047. Accessed September 9, 2022

Dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20352380#:~:text=Dermatitis%20is%20a%20general%20term,ooze%2C%20crust%20or%20flake%20off. Accessed September 9, 2022

Slideshow: Acne Visual Dictionary. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/acne/ss/slideshow-acne-best-worst-foods. Accessed September 9, 2022

Acne. https://www.nhs.uk/conditions/acne/causes/#:~:text=Acne%20is%20caused%20when%20tiny,individual%20hair%20grows%20out%20of. Accessed September 9, 2022

HOW TO TREAT DIFFERENT TYPES OF ACNE. https://www.aad.org/public/diseases/acne/diy/types-breakouts. Accessed September 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยารักษาสิว มีกี่ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติอย่างไร

สิวซีสต์ สาเหตุ อาการ และการรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา