backup og meta

ยาแต้มสิว ที่ช่วยลดสิวอย่างได้ผล และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    ยาแต้มสิว ที่ช่วยลดสิวอย่างได้ผล และการดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิว

    สิวเป็นปัญหาผิวที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยรุ่น มักเกิดจากระดับฮอร์โมนแปรปรวน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เป็นสิวเรื้อรัง หรือกลายเป็นปัญหาผิวที่รุนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวด้วยการใช้ ยาแต้มสิว ที่มีประสิทธิภาพในการต้านแบคทีเรีย ลดการอักเสบ และเหมาะกับสภาพผิวและความรุนแรงของสิวที่เป็นอยู่ อาจช่วยรักษาสิวให้หายได้ นอกจากการรักษาสิวด้วยการใช้ยาแต้มสิวแล้ว การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิวอย่างถูกวิธีก็อาจช่วยลดความระคายเคืองผิว ลดการเกิดแผลเป็นหรือรอยดำ และป้องกันการเกิดสิวใหม่ได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาคุณหมอและเภสัชกรก่อนใช้ยาแต้มสิว เพื่อการใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุด

    สาเหตุของการเกิดสิว

    สิวส่วนใหญ่เกิดจากระดับฮอร์โมนในร่างกายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นจะมีการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่กระตุ้นให้ต่อมน้ำมันบนผิวหน้าผลิตไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า หลัง ไหล่ รวมไปถึงบริเวณหน้าอก ทำให้แบคทีเรียประจำถิ่นที่อาศัยอยู่ที่ผิวชั้นนอกย่อยไขมันเป็นอาหาร ซึ่งกระบวนการนี้ทำให้ผิวระคายเคือง น้ำมันและเซลล์ผิวที่ตายแล้วอุดตันรูขุมขน เกิดเป็นสิวชนิดต่าง ๆ เช่น สิวอุดตัน สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวอักเสบ สิวเสี้ยน

    ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดสิว อาจมีดังนี้

    • อายุ คนทุกวัยสามารถเป็นสิวได้ แต่มักพบบ่อยในช่วงวัยรุ่น
    • ระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนจะกระตุ้นต่อมไขมันให้ผลิตน้ำมันมาเคลือบผิวมากขึ้น
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีคนในครอบครัวเป็นสิวมาก่อน มีโอกาสมากกว่าคนทั่วไปที่จะเป็นสิว
    • เครื่องสำอาง การใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น โฟมล้างหน้า ครีมบำรุง โลชั่น ที่มีส่วนผสมของน้ำมัน อาจทำให้ผิวอุดตันและเกิดสิวได้
    • แรงเสียดสีบนผิวหนัง สิ่งของต่าง ๆ ที่กดแนบไปกับผิวหนังหรือเสียดสีผิวหนังบ่อยครั้ง เช่น โทรศัพท์ สายเสื้อชั้นใน ปกเสื้อ หมวกกันน็อก เป้สะพายหลัง อาจทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดสิวได้

    ส่วนประกอบที่ควรมีใน ยาแต้มสิว

    ส่วนประกอบที่ควรมีใน ยาแต้มสิว เพื่อช่วยบรรเทาการอักเสบและลดสิว อาจมีดังนี้

    เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide)

    เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) มีทั้งแบบครีมและแบบเจล ความเข้มข้น 2.5–10% มีฤทธิ์ต้านอักเสบ ช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียและความมันบนใบหน้า ลดสิวหัวดำและสิวหัวขาว เป็นยาที่ใช้รักษาสิวระดับเบาไปจนถึงรุนแรง โดยปกติให้ใช้ 1-2 ครั้ง/วัน โดยอาจใช้ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ

    ข้อแนะนำในการใช้: ใช้แต้มบริเวณที่เป็นสิว ทิ้งไว้ 20-30 นาทีก่อนล้างออก และควรใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากอาจทำให้ผิวระคายเคืองได้ ควรเริ่มใช้ที่ความเข้มข้นต่ำ ๆ ก่อน หรืออาจใช้วันเว้นวันแล้วปรับมาเป็นทุกวัน ไม่ควรทาเกิน 2 ครั้ง/วัน ยาแต้มสิวชนิดนี้อาจทำให้ผิวไวต่อแสงแดด จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดดให้มากที่สุด และทาครีมกันแดดที่มีเอสพีเอฟ 30 ขึ้นไปเพื่อป้องกันรังสี UVA ที่อาจทำให้เกิดริ้วรอย จุดด่างดำ และทำให้ผิวหมองคล้ำ และรังสี UVB ที่อาจทำให้ผิวชั้นนอกไหม้แดด

    เรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่ (Topical retinoids)

    ยาในกลุ่มเรตินอยด์ เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) แบบเจล ความเข้มข้น 0.1-0.3% เตรทติโนอิน (Tretinoin) แบบครีม ความเข้มข้น 0.05 และ 0.025% ทาซาโรทีน (Tazarotene) เป็นยากลุ่มวิตามินเอรูปแบบสังเคราะห์ที่นิยมใช้รักษาสิว ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและอาจอุดตันรูขุมขน ยานี้นิยมใช้สำหรับสิวอักเสบระดับเบาถึงปานกลาง มักใช้เพียงวันละครั้งในช่วงก่อนนอน โดยอาจใช้ต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ และเว้นระยะของความถี่การใช้ยาเมื่อเวลาผ่านไปและสิวลดลงแล้ว

    ข้อแนะนำในการใช้: หลังล้างหน้าเสร็จแล้วประมาณ 20 นาที ให้ใช้ยาแต้มบริเวณที่เป็นสิว และใช้เท่าที่จำเป็น เนื่องจากคุณสมบัติผลัดเซลล์ผิวอาจทำให้รู้สึกระคายเคือง และผิวอาจไวต่อแสงแดดและรังสี UV จึงควรใช้ครีมกันแดดเป็นประจำ ทั้งนี้ ยาแต้วสิวเรตินอยด์ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เนื่องจากอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของทารกในครรภ์

    กรดอะซีลาอิก (Azelaic acid)

    กรดอะซีลาอิก มีทั้งแบบครีมและแบบเจล โดยแบบครีมมีความเข้มข้น 20% และแบบเจลมีความเข้มข้น 15% เป็นยาแต้มสิวที่ช่วยยับยั้งแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว และช่วยผลัดเซลล์ผิวจึงลดการอุดตันของรูขุมขนได้ ทั้งยังใช้เพื่อลดรอยดำได้ด้วย ยานี้นิยมใช้รักษาสิวอักเสบระดับเบาถึงปานกลาง และมักใช้ในกรณีที่ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์และยาในกลุ่มเรตินอยด์ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคือง แสบผิว ควรใช้ 1-2 ครั้ง/วัน โดยอาจใช้ต่อเนื่อง 4 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผล

    ข้อแนะนำในการใช้: หลังล้างหน้าเสร็จแล้วประมาณ 20 นาที ให้ใช้ยาแต้มบริเวณที่เป็นสิว ยาชนิดนี้ไม่ทำให้ผิวไวต่อแสงแดด แต่อาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น ระคายเคือง แสบร้อน คัน

    ยาปฏิชีวนะชนิดใช้เฉพาะที่ (Topical antibiotics)

    ยาปฏิชีวนะ เช่น อีริโธรมัยซิน (Erythromycin) แบบน้ำและเจลมีความเข้มข้น 2% และ 4% คลินดาไมซิน (Clindamycin) แบบน้ำและแบบเจลมีความเข้มข้น 1% ช่วยในการต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบของสิว  ใช้ในปริมาณ 2 ครั้ง/วัน โดยอาจใช้ต่อเนื่องกัน 6-8 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผล ยานี้นิยมที่ใช้รักษาสิวอักเสบระดับปานกลาง แต่ต้องเป็นสิวที่มีสาเหตุมาจากแบคทีเรียเท่านั้น และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกินไป เนื่องจากอาจทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้ การใช้ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ร่วมกับยาปฏิชีวนะชนิดใช้เฉพาะที่อาจลดโอกาสการดื้อยาปฏิชีวนะของแบคทีเรียได้

    ข้อแนะนำในการใช้: หลังล้างหน้าเสร็จแล้วประมาณ 20 นาที ให้ใช้ยาแต้มบริเวณที่เป็นสิว และควรใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์หรือเรตินอยด์ชนิดใช้เฉพาะที่เพื่อรักษาสิวอุดตันร่วมกับสิวอักเสบ

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิว

    การดูแลตัวเองเมื่อเป็นสิว สามารถทำได้ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการล้างหน้าหรือผิวบริเวณที่เป็นสิวมากกว่า 2 ครั้ง/วัน เพราะผิวอาจระคายเคืองและทำให้อาการแย่ลงได้
  • ควรล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เนื่องจากน้ำร้อนหรือเย็นจัดอาจทำให้สิวแย่ลงได้
  • หลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิว เพราะอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามและเกิดรอยดำจากสิวหรือหลุมสิวได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหรือเครื่องสำอางหลายชนิดเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวหน้าระคายเคือง และเกิดสิวอักเสบได้
  • ลบเครื่องสำอางและล้างหน้าให้สะอาดหมดจดทุกครั้งก่อนเข้านอน เพื่อป้องกันรูขุมขนอุดขัน
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์แต่งหน้า สกินแคร์ และครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของน้ำมัน
  • ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก โดยเลือกฉลากที่ระบุว่าไม่ก่อให้เกิดสิว อาจช่วยลดความเสี่ยงที่ทำให้ผิวอุดตันได้
  • หากมีปัญหาผิวแห้ง ควรใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหน้าที่ไม่มีส่วนประกอบของน้ำหอม
  • สระผมเป็นประจำ และไม่ควรปล่อยให้ผมปรกใบหน้า เพราะอาจทำให้เกิดสิวได้ง่าย
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการนำมือมาสัมผัสหน้า
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมวัวซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้
  • การใช้ ยาแต้มสิว อย่างปลอดภัย

    ยาแต้มสิว เป็นยารักษาโรคผิวหนังที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตาม ควรเลือกใช้ยาอย่างระมัดระวังตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้

    • ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามที่หมอผิวหนังหรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด
    • สำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยาหรือหลีกเลี่ยงการใช้ยาจนกว่าจะคลอด เพราะอาจทำให้ทารกในครรภ์เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น ภาวะผิดปกติโดยกำเนิด (Birth Defects)
    • การใช้ยาแต้มสิวอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ระคายเคือง คัน ผิวลอก แดง ผิวไวต่อแสงแดด หากพบว่า ใช้ยาแต้มสิวในปริมาณเข้มข้นแล้วเกิดอาการระคายเคือง อาจปรับลดขนาดความเข้มข้นของยาให้เหมาะกับสภาพผิวของตัวเองมากที่สุด
    • หากใช้ยาแต้มสิวแล้วมีผลข้างเคียง เช่น สิวเห่อลามเพิ่มขึ้น แสบผิวรุนแรง อาการของสิวแย่ลง ควรหยุดใช้ยาโดยทันที และควรไปพบคุณหมอเพื่อเปลี่ยนวิธีการรักษาหรือเปลี่ยนยาที่ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพผิวและเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 24/07/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา