backup og meta

เลิกใส่ส้นสูง แล้วจะเกิดอะไรดีๆ กับสุขภาพของเราบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 24/06/2020

    เลิกใส่ส้นสูง แล้วจะเกิดอะไรดีๆ กับสุขภาพของเราบ้าง

    หากต้อง เลิกใส่ส้นสูง อาจทำให้ผู้หญิงบางคนทำใจไม่ได้ เนื่องจากส้นสูงเป็นแฟชั่นที่อยู่คู่กับสาว ๆ มานับสิบ ๆ ปีแล้ว แต่ Hello คุณหมอ ก็อยากแนะนำให้คุณเลิกใส่ส้นสูง หรืออย่างน้อยก็ใส่ส้นสูงให้น้อยลง แล้วสุขภาพของคุณจะดีขึ้นอีกเป็นกอง จนคุณต้องเอ่ยว่า “รู้งี้เลิกใส่ส้นสูงนานแล้ว’

    ข้อดีของการ เลิกใส่ส้นสูง

    อาการปวดหลังจะหายไป

    คุณอาจคิดว่าการใส่รองเท้าส้นสูงส่งผลกระทบกับแค่ที่เท้าและขาเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง รองเท้าส้นสูงส่งผลต่อกล้ามเนื้อมากมายหลายส่วน ตั้งแต่เท้า ขา หลังช่วงล่าง หลังช่วงกลาง เรื่อยไปจนถึงกล้ามเนื้อคอ นอกจากนี้ เวลาที่เราใส่ส้นสูง กระดูกเชิงกรานของเราจะแอ่นไปทางด้านหลัง ส่งผลให้เกิดแรงกดบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว และกล้ามเนื้อในบริเวณใกล้เคียง นอกจากจะทำให้กระดูกเชิงกรานวางแนวไม่ได้ระดับแล้ว ยังทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ด้วย แต่ถ้าคุณหยุดใส่ส้นสูงเมื่อไหร่ กระดูกเชิงกรานก็จะวางแนวอยู่ในระดับปกติ อาการปวดหลังหายไปเป็นปลิดทิ้ง

    มีโอกาสติดเชื้อราน้อยลง

    เมื่อพูดถึงเรื่องแฟชั่น บางครั้งเราก็ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก ในการพยายามยัดร่างกายส่วนต่าง ๆ เข้าไปในเครื่องแต่งกายที่รัด หรือเล็กกว่าปกติ เช่น เสื้อชั้นในแบบมีโครงลวด ถุงน่อง กางเกงรัดรูป รองเท้าส้นสูง ที่ถึงแม้จะใส่แล้วอึดอัด ไม่สบายตัวแค่ไหนแต่เราก็ทำได้เพื่อความสวย แต่คุณรู้หรือเปล่าว่าการใส่รองเท้าส้นสูงนาน ๆ สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเชื้อรา

    รองเท้าหัวแหลมและรองเท้าส้นสูงจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณปลายเท้าตลอดเวลาที่สวมใส่ โดยเฉพาะในบริเวณนิ้วหัวแม่เท้า จึงมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อราได้ง่าย หรืออาจเป็นเล็บขบได้ด้วย แต่หากเราเลิกใส่ส้นสูง ก็จะช่วยลดแรงกดบริเวณเล็บเท้าลงได้ จึงช่วยลดการติดเชื้อราลง 

    ลดโอกาสพิการ

    ปัญหาที่รุนแรงอีกอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นจากการใส่ส้นสูงนานเกินไป ก็คือทำให้เกิดเป็นตาปลาและสภาพนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ ถ้าอาการเช่นนี้ยังไม่เกิดขึ้นกับคุณ คุณก็ยังมีเวลาที่จะหลีกเลี่ยงได้ด้วยการใส่รองเท้าพื้นราบเก๋ ๆ แทน เพราะจะช่วยไม่ให้เท้าโดนบีบหรือกดทับมากเกินไป จนอาจนำไปสู่ปัญหากระดูกเท้าผิดรูป หรือนิ้วงอผิดปกติ ทั้งยังลดการก่อตัวของตาปลาที่ดูน่าเกลียด ๆ ลงได้ด้วย

    ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อหัวเข่า

    การใส่ส้นสูงสามารถส่งผลเสียต่อหัวเข่า โดยอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ ซึ่งผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูงบ่อย ๆ มีความเสี่ยงเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า โดยผลการศึกษาวิจัยพบว่า เมื่อเราหยุดใส่ส้นสูง จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดกับหัวเข่าลงได้ถึง 19-26 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสูงของรองเท้าส้นสูงที่คุณใส่ด้วย

    คุณจะเดินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    การใส่รองเท้าส้นสูงเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้ความสามารถในการเดินเปลี่ยนแปลงได้ จากการศึกษาวิจัยในอาสาสมัครผู้หญิง 9 คนที่ใส่รองเท้าส้นสูงอย่างน้อยสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง เป็นเวลาสองปี กับอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่ได้ใส่ส้นสูงเป็นประจำ พบว่า ผู้หญิงที่ใส่ส้นสูงในระยะยาวมีประสิทธิภาพในการเดินลดลง อันเป็นผลมาจากการวางเท้าและท่าทางในการเดินที่เปลี่ยนไป ฉะนั้น หากเลือกได้ คุณควรเลิกใส่ส้นสูง หรือเปลี่ยนมาใส่รองเท้าส้นแบนหรือรองเท้าผ้าใบบ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการผิดปกติดังกล่าว

    ลดโอกาสบาดเจ็บที่ข้อเท้า

    เวลาที่เราใส่ส้นสูง จุดสมดุลในร่างกายจะเลื่อนสูงขึ้น ทำให้ร่างกายไม่สมดุลและทรงตัวได้ไม่มั่นคงเท่าตอนไม่ใส่ส้นสูง และมีแนวโน้มจะเกิดการหกล้มได้ง่ายขึ้นด้วย ยิ่งส้นรองเท้าสูงขึ้นเท่าไหร่ โอกาสหกล้มก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น

    ผลการศึกษาวิจัยพบว่า คนที่ใส่ส้นสูงแล้วเกิดอาการบาดเจ็บ มักมีอายุต่ำกว่า 55 ปี โดยอาการบาดเจ็บส่วนใหญ่จะเกิดที่บริเวณข้อเท้า เนื่องจากการใส่ส้นสูงทำให้ข้อเท้าเกร็ง จึงมีโอกาสเกิดข้อเท้าแพลงได้ง่าย แต่ถ้าเราหยุดใส่ส้นสูงหรือใส่ให้น้อยลง ผลการศึกษาวิจัยก็บอกว่าจะช่วยลดอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าลงได้

    ร่างกายต้องการเวลาปรับตัว

    ถ้าสาวคนไหนตัดสินใจที่จะเลิกใส่ส้นสูงหลังจากใส่มาเป็นเวลานาน นักวิจัยเผยว่า ร่างการอาจต้องการเวลาในการฟื้นฟูตัวเองเล็กน้อย กว่าจะกลับสู่ในสภาพปกติได้ ซึ่งก็หมายความว่า เนื้อเยื่อจะเริ่มปรับตัวให้เหมาะสมกับท่าทางใหม่ เอ็นร้อยหวายจะยืดออก อาการปวดหลังช่วงล่างจะหายไป และเท้าก็จะไม่รู้แข็งและเกร็งอีกต่อไป

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 24/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา