BMI (Body Mass Index) หรือ ค่าดัชนีมวลกาย เป็นเครื่องมือชี้วัดน้ำหนักว่าน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมีแนวโน้มน้ำหนักเกิน ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เพื่อทำให้สามารถควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานได้อย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmi]
BMI คืออะไร สำคัญอย่างไร
BMI คือ สูตรคำนวณค่ามาตรฐานของน้ำหนัก เพื่อบอกถึงแนวโน้มน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และแนวโน้มน้ำหนักเกิน โดยค่า BMI ไม่ได้วัดมวลไขมันในร่างกายโดยตรง แต่เป็นวิธีวัดมวลกายโดยรวมที่อาจแสดงถึงการเผาผลาญอาหารในร่างกาย หรือแนวโน้มการเกิดโรค เพื่อควบคุมน้ำหนักและสุขภาพโดยรวมของร่างกาย ซึ่งความสำคัญของ BMI มีดังนี้
- เป็นตัวชี้วัดมาตรฐานความสมดุลของน้ำหนักตัวต่อส่วนสูง เพื่อประเมินสภาวะของร่างกายอย่างเหมาะสม
- เป็นเครื่องมือคัดกรองผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานในผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป
โดยค่า BMI ใช้วิธีคำนวณจากค่า น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง และแสดงค่าเป็นหน่วย กิโลกรัม/เมตร2 สามารถแปลผลค่า BMI ได้ดังนี้
- ค่า BMI น้อยกว่า 18.5
อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อย อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพตามมา เช่น ภาวะทุพโภชนาการ จึงควรพบคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำในการเพิ่มน้ำหนักอย่างสุขภาพดี
- ค่า BMI 18.5 – 22.90
อยู่ในเกณฑ์ปกติ เป็นน้ำหนักตัวที่แสดงถึงความสมบูรณ์แข็งแรง และความสมส่วนของร่างกาย
- ค่า BMI 23 – 24.90
อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกิน เป็นระยะที่ควรควบคุมน้ำหนักให้กลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะกำลังเข้าสู่ภาวะอ้วน
- ค่า BMI 25 – 29.90
อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนระดับที่ 1 อาจเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน จึงควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ค่า BMI 30 ขึ้นไป
อยู่ในเกณฑ์โรคอ้วนระดับที่ 2 เป็นปัญหาของโรคอ้วนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ รวมถึงโรคหัวใจ จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาแนวทางในการลดน้ำหนัก
BMI เด็กและวัยรุ่น
การวัดค่า BMI ในเด็กและวัยรุ่นอาจมีความแตกต่างกับการวัดค่าในผู้ใหญ่เล็กน้อย โดยสูตรหาค่า BMI จะใช้สูตรเดียวกับผู้ใหญ่ แต่เด็กและวัยรุ่นจะต้องใช้แผนภูมิเฉพาะอายุและเพศร่วมด้วย เนื่องจากรูปแบบการเจริญเติบโต ปริมาณไขมัน และน้ำหนัก ของเด็กและวัยรุ่นในแต่ละเพศอาจมีความแตกต่างกัน
วิธีการคำนวณ
วิธีคำนวณหาค่า BMI ในเด็กและวัยรุ่นจะใช้วิธีเดียวกับผู้ใหญ่ โดยนำ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร)2 จากนั้นนำค่าที่ได้เป็นหน่วย กิโลกรัม/เมตร2 มาเทียบกับแผนภูมิของเด็กและวัยรุ่นในแต่ละเพศ เพื่อดูว่าน้ำหนักของเด็กและวัยรุ่นเหมาะสมกับอายุหรือไม่
การอ่านผลการคำนวณ
เมื่อคำนวณค่าน้ำหนักและเทียบแผนภูมิ สามารถสรุปเป็นค่ามาตรฐานได้ ดังนี้
- เด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักน้อย คือ น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5
- เด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเหมาะสม คือ อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 5 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85
- เด็กและวัยรุ่นที่มีน้ำหนักเกิน คือ อยู่ระหว่างเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 แต่น้อยกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95
- เด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วน คือ มากกว่าหรือเท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 95
BMI ผู้ใหญ่
วิธีการคำนวณ
วิธีคำนวณหาค่า BMI ในผู้ใหญ่ ใช้วิธี น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร)2 ได้ค่าเป็นหน่วย กิโลกรัม/เมตร2 ซึ่งส่วนใหญ่ประเทศไทยจะวัดส่วนสูงเป็นหน่วยเซนติเมตร จึงสามารถคำนวณด้วยการนำ ส่วนสูง (เซนติเมตร) ÷ 100 ก็จะได้ความสูงเท่ากับหน่วยเมตร
ตัวอย่าง น้ำหนัก 63 กิโลกรัม ความสูง 170 เซนติเมตร (1.70 เมตร)
สามารถคำนวณได้ ดังนี้
63 ÷ (1.70)2 = ค่า BMI 21.78 กิโลกรัม/เมตร2 แสดงว่าน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
การอ่านผลการคำนวณ
สามารถแปลผลค่า BMI ได้ ดังนี้
- ค่า BMI น้อยกว่า 18.5 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักน้อยหรือผอม
- ค่า BMI 18.5-22.90 อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ค่า BMI 23-24.90 อยู่ในเกณฑ์น้ำหนักเกินมาตรฐาน
- ค่า BMI 25-29.90 โรคอ้วนระดับที่ 1
- ค่า BMI 30 ขึ้นไป โรคอ้วนระดับที่ 2
อย่างไรก็ตาม การแปลผลค่า BMI อาจยังมีข้อจำกัดบางประการ คือ สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังกายและมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่าไขมัน ผู้ที่มีภาวะบวมน้ำ หรือกลุ่มชาติพันธ์ุที่มีสัดส่วนร่างกายเล็ก อาจทำให้ค่า BMI สูงได้โดยที่ไม่ได้มีภาวะน้ำหนักเกิน