น้ำผึ้ง เป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดอายุ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ น้ำผึ้งมีสรรพคุณในการเยียวยาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นช่วยเยียวยาบาดแผลและรอยไหม้ ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย ช่วยป้องกันการติดเชื้อ แต่ก็ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม เพราะหากรับประทานมากเกินไปก็อาจส่งผลกระทบกับระดับไขมันในเลือด และการหลั่งอินซูลินได้
ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งที่เราเห็นกันนั้น มีรสชาติ กลิ่น และสีสันแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของดอกไม้ที่ผึ้งไปดูดเอาน้ำหวานมา ที่เราพบเห็นได้ในท้องตลาด เช่น น้ำผึ้งดอกลำไย น้ำผึ้งดอกลิ้นจี่ น้ำผึ้งดอกไม้ป่า โดยทั่วไปแล้ว น้ำผึ้ง 1 ช้อนโต๊ะ (21 กรัม) ให้พลังงานทั้งหมด 64 กิโลแคลอรี่ และมีน้ำตาล 17 กรัม แบ่งเป็นน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) น้ำตาลกลูโคส (Glucose) น้ำตาลมอลโทส (Maltose) และน้ำตาลซูโครส (Sucrose) และอาจมีสารอาหารอื่นๆ ด้วย เช่น วิตามินซี วิตามินบี ขึ้นอยู่กับแหล่งของน้ำหวานที่ผึ้งใช้ทำน้ำผึ้ง ถึงแม้จะมีวิตามินและแร่ธาตุน้อย แต่น้ำผึ้งก็อุดมไปด้วยสารประกอบจากพืชและสารต้านอนุมูลอิสระ ยิ่งน้ำผึ้งมีสีเข้มก็ยิ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระมาก
น้ำผึ้งถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นานกว่า 5,000 ปีแล้ว เนื่องจากมีสรรพคุณในการเยียวยาแผล และต้านเชื้อแบคทีเรีย สำหรับใครที่อยากเพิ่มรสชาติหวานหอมให้กับอาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภค ก็สามารถใช้น้ำผึ้งแทนน้ำตาลได้ เพราะหากรับประทานในปริมาณที่พอดี ก็ดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำตาล
ประโยชน์ของน้ำผึ้ง
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยและค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์สุขภาพจากน้ำผึ้ง ดังต่อไปนี้
- ช่วยเยียวยาบาดแผลและรอยไหม้
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า การใช้น้ำผึ้งทาแผลนั้น เป็นการเยียวยาแผลที่ได้ผลจริง และนอกจากจะมีราคาถูกกว่ายาปฏิชีวนะแล้ว ยังมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรใช้น้ำผึ้งกับเด็กทารก เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Botulism) จนมีอาการอาหารเป็นพิษชนิดรุนแรงได้ ถึงแม้กรณีเช่นนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรระวังไว้ก่อนดีที่สุด
- น้ำผึ้ง ช่วยป้องกันโรคกรดไหลย้อน
ผลการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำผึ้งทำหน้าที่เป็นสารเคลือบกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร จึงช่วยป้องกันและบรรเทาอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ เช่น แสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย
- ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย
ผลการศึกษาวิจัยชี้ว่า น้ำผึ้งช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเกิดอาการท้องเสียลงได้ เนื่องจากน้ำผึ้งช่วยความชุ่มชื้นและโพแทสเซียมให้แก่ร่างกาย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มากต่ออาการท้องเสีย อีกทั้ง นักวิจัยที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศไนจีเรียระบุว่า น้ำผึ้งมีสรรพคุณในการยับยั้งการทำงานของเชื้อโรค ซึ่งก่อให้เกิดอาการท้องเสียที่พบได้บ่อยๆ
- ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ผลการศึกษาวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2010 ระบุว่า น้ำผึ้งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียในโปรตีนที่เรียกว่า Defensin-1 ได้ นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยอีกชิ้นยังพบว่า น้ำผึ้งมานูก้า (Manuka) ช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium Difficile) ไม่ให้ก่อตัวหรือเจริญเติบโตในร่างกายได้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักทำให้เกิดความเจ็บป่วย และอาการท้องเสียขั้นรุนแรง
- ลดอาการหวัดและอาการไอ
องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้น้ำผึ้งเป็นยาแก้ไอที่ได้จากธรรมชาติ ส่วนสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่า สามารถใช้น้ำผึ้งเป็นยาแก้ไอได้ โดยเด็กที่อายุเกิน 1 ปีก็สามารถใช้น้ำผึ้งในการรักษาหวัดและอาการไอได้ โดยผลการศึกษาวิจัยเมื่อปี ค.ศ. 2007 พบว่า น้ำผึ้งอาจช่วยลดอาการไอในตอนกลางคืน และช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนของเด็กได้ดีกว่ายาปฏิชีวนะ แต่อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกและสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ก็เตือนว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี รับประทานน้ำผึ้ง เนื่องจาก อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคโบทูลิซึม (Botulism) ได้
- ใช้ทดแทนน้ำตาลได้
สารให้ความหวานจากธรรมชาติอย่างน้ำผึ้ง ถือเป็นทางเลือกที่ดีในการใช้เติมความหวานในอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล เนื่องจาก น้ำตาล โดยเฉพาะน้ำตาลทรายขาว ให้แต่พลังงานจากคาร์โบไฮเดรต แต่ไม่มีวิตามินและแร่ธาตุชนิดอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเลย หากรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก ก็อาจทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นโรคอ้วน หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวานด้วย ผิดกับน้ำผึ้งที่สามารถเติมในอาหารและเครื่องดื่มได้ โดยที่ส่งผลเสียน้อยกว่า และมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่า อย่างไรก็ดี น้ำผึ้งก็ยังขึ้นชื่อว่าเป็นสารให้ความหวาน เพราะฉะนั้นต้องระวังเรื่องปริมาณในการบริโภคด้วย
ข้อควรระวังในการบริโภคน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งมีน้ำตาลฟรุกโตสในปริมาณค่อนข้างสูง หากบริโภคมากไป อาจส่งผลกระทบกับระดับไขมันในเลือด และการหลั่งอินซูลินได้ ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือมีไขมันในเลือดสูง ควรรับบริโภคอย่างระมัดระวัง โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ควรบริโภคน้ำตาลฟรุกโตสเกินวันละ 25 กรัม และคนบางกลุ่ม เช่น เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ไม่ควรรับประทานน้ำผึ้ง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคโบทูลิซึม (Botulism) ได้
[embed-health-tool-bmr]