การตั้งครรภ์ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย ซึ่งภาวะหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นคือ ความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยแม่ท้องแต่ละคนอาจเกิดภาวะนี้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว แม่ท้องความอยากอาหาร หิวบ่อย มักเริ่มในช่วงปลายไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาการจะรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ และความอยากจะลดลงเมื่อหมดไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
[embed-health-tool-due-date]
สิ่งที่ควรรู้เมื่อ แม่ท้องอยากอาหาร หิวบ่อยขึ้น
ความอยากอาหารระหว่างตั้งครรภ์ ภาวะนี้มักเริ่มตอนไหน
ความอยากอาหารที่เพิ่มขึ้นเมื่อท้องอาจเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยแม่ท้องแต่ละคนอาจเกิดภาวะนี้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน แต่โดยทั่วไปแล้ว ความอยากอาหารระหว่างตั้งครรภ์มักเริ่มในช่วงปลายไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาการจะรุนแรงที่สุดในช่วงไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ และความอยากจะลดลงเมื่อหมดไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์
สาเหตุที่ทำให้ แม่ท้องอยากอาหาร หรือหิวบ่อย
ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญยังไม่ทราบแน่ชัดว่าคนท้องอยากอาหารเป็นเพราะสาเหตุใดกันแน่ แต่ก็เชื่อว่า ความอยากอาหารระหว่างตั้งครรภ์ อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้
- ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
ในช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ และฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปก็อาจทำให้เกิดความอยากอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นพิเศษในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งอาหารดังกล่าว อาจเป็นอาหารที่แปลกพิสดาร หรือเป็นอาหารที่ไม่เคยชอบกินมาก่อน
- ประสาทสัมผัสเปลี่ยนแปลง
แม่ท้องบางคนอาจมีประสาทสัมผัสเปลี่ยนแปลงไป เช่น รับกลิ่นได้ดีขึ้น แม้ต้นกำเนิดของกลิ่นจะอยู่ไกลออกไปและรู้สึกไวต่อกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งมากขึ้น บางทีแค่ได้กลิ่นของสิ่งดังกล่าวก็ทำให้รู้สึกคลื่นไส้อาเจียนได้แล้ว แม่ท้องส่วนใหญ่จะไม่ชอบกลิ่นฉุน ๆ หรือกลิ่นแรง ๆ จะชอบกลิ่นหอม ๆ มากกว่า และไม่ใช่แค่ประสาทรับกลิ่น เพราะประสาทสัมผัสในการรับรสของแม่ท้องก็มักเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน
- ความต้องการด้านโภชนาการเปลี่ยนแปลง
แม่ท้องต้องการสารอาหารบางชนิด เช่น แคลเซียม (Calcium) ธาตุเหล็ก (Iron) เพิ่มขึ้น และนั่นอาจทำให้แม่ท้องอยากอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กดังกล่าว แนะนำว่า คุณแม่และคนในครอบครัวควรใส่ใจเรื่องอาหารที่กินให้ดีด้วย ควรเน้นแหล่งสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย หากอยากเสริมแคลเซียม ควรบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมสูงและดีต่อสุขภาพ เช่น ผักใบเขียว อัลมอนด์ ปลา แทนที่จะกินแต่ไอศกรีม เพราะถึงแม้จะมีแคลเซียม แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ หากรู้สึกอยากกินของหวาน หรืออาหารทอด ควรกินนิด ๆ หน่อย ๆ แค่พอหายอยาก
อาหารที่คนท้องส่วนใหญ่มักอยากกิน
เมื่อแม่ท้องอยากอาหาร บางคนอาจอยากกินอาหารที่ตัวเองไม่เคยชอบกินเลย หรืออยากกินอะไรแปลก ๆ ที่คนอื่นเห็นแล้วตกใจ เช่น ดิน สำหรับสิ่งที่แม่ท้องมักอยากกินมากเป็นพิเศษ อาจได้แก่
- ของหวาน
- อาหารแคลอรี่สูง หรืออาหารจำพวกแป้ง เช่น พิซซ่า ขนมขบเคี้ยว
- โปรตีนจากเนื้อสัตว์
- ผลไม้
หรือแม่ท้องบางคนก็อาจยังคงชอบอาหารเมนูเดิม แต่มีวิธีกินที่แปลกขึ้น เช่น นำอาหารโปรด 2 เมนูมาผสมกัน ซึ่งนั่นอาจเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของประสาทรับรสและรับกลิ่นนั่นเอง
แม่ท้องอยากอาหารขั้นไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ
แม้ความอยากอาหารระหว่างตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป แต่หากคุณแม่อยากกินอะไรแปลก ๆ เช่น สบู่ ดิน ผู้ดูแลควรรีบพาคุณแม่ไปพบคุณหมอทันที เพราะความอยากกินอะไรแปลก ๆ นี้อาจเป็นสัญญาณว่าคุณแม่มีพฤติกรรมหรือความผิดปกติทางการกินอาหาร คือ กินสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร หรือเรียกง่าย ๆ คือ เป็นโรคชอบกินของแปลก หรือกินของที่ไม่ใช่อาหาร (Pica Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้
หรือหากแม่ท้องบางคนอยากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาเสพติด ก็ควรรีบพาไปพบคุณหมอเช่นกัน เพราะความอยากดังกล่าวก็ส่งผลเสียไม่ต่างจากโรคกินของที่ไม่ใช่อาหารเลย
คนท้องควรกินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ
แม้ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนอาจอยากอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากเป็นพิเศษ แต่คุณพ่อและสมาชิกในครอบครัวก็ควรดูแลให้คุณแม่กินอาหารให้หลากหลายด้วย อย่าให้กินแต่ของที่อยากกิน เพราะอาจทำให้ขาดสารอาหารได้ แม่ท้องควรได้รับสารอาหารต่อไปนี้ในปริมาณที่เหมาะสม
- โปรตีน
แม่ท้องต้องการโปรตีนประมาณ 75 กรัม/วัน โดยคุณสามารถเพิ่มโปรตีนได้ด้วยการบริโภคเนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ เนื้อปลา ไข่ ถั่วต่าง โดยเฉพาะถั่วเหลือง เป็นต้น
- แคลเซียม
แม่ท้องต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมพบมากในผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียว ปลา ถั่ว เมล็ดงา เป็นต้น
- กรดโฟลิก
กรดโฟลิกช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือด และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดประสาทไม่ปิด (Neural Tube Defect หรือ NTDs) ในทารกในครรภ์ โดยแม่ท้องอาจเพิ่มกรดโฟลิกได้ด้วยการกินผักใบเขียว ถั่ว ผลไม้รสเปรี้ยว วิตามินบำรุงครรภ์ เป็นต้น
- ธาตุเหล็ก
แม่ท้องเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางจึงต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น คือ ต้องได้รับธาตุเหล็กวันละประมาณ 27 มิลลิกรัม โดยแม่ท้องอาจหาธาตุเหล็กได้จากธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อสัตว์ ผักใบเขียว ถั่ว เป็นต้น