แผลกดทับ เป็นแผลที่เกิดจากแรงกดทับของผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี หรืออาจเกิดจากการเสียดสีของผิวหนังกับวัตถุเป็นเวลานาน ส่งผลทำให้ผิวอ่อนแอจนเนื้อตายและเกิดบาดแผล แผลกดทับมักเกิดกับผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่ใช้รถเข็นหรือไม่สามารถเคลื่อนตัวได้สะดวก โดยมักเกิดขึ้นบริเวณหลัง หลังส่วนล่าง ก้นกบ ก้น ข้อศอก ส้นเท้า ผิวหนังหลังเข่า ซึ่งเป็นบริเวณที่อาจเกิดแรงกดหรือการเสียดสีได้ง่าย ดังนั้น ควรดูแลผู้ป่วยที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นแผลกดทับ เพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพผิวและการติดเชื้อที่อาจรุนแรงในระยะยาว
คำจำกัดความ
แผลกดทับ คืออะไร
แผลกดทับ คือ แผลบนผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นได้จากด้านในหรือด้านนอกร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณเหนือปุ่มกระดูก หรือผิวหนังที่ได้รับแรงกดทับหรือแรงเสียดสีบ่อยครั้งเป็นระยะเวลานาน จนทำให้ผิวหนังอ่อนแอจนเนื้อตายและเกิดเป็นบาดแผล โดยแผลกดทับอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความเปียกชื้นของผิว อายุที่มากขึ้นส่งผลต่อความเสื่อมสภาพของผิว ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเคลื่อนตัวได้สะดวก สูญเสียความรู้สึก ไม่ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสมจนทำให้ผิวอ่อนแอ หรือมีประวัติสุขภาพบางประการที่อาจส่งผลต่อการสมานตัวของแผลและการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ
อาการ
อาการแผลกดทับ
อาการของแผลกดทับอาจแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้
อาการแผลกดทับระยะที่ 1 อาจเป็นสัญญาณเตือนของแผลกดทับ เช่น
- กดแล้วมีอาการเจ็บ ปวดหรือคัน
- สีผิวเปลี่ยนแปลงหรือเนื้อสัมผัสของผิวเปลี่ยนแปลง อาจมีสีม่วง สีน้ำเงิน สีซีด รอยแดง
- ผิวบริเวณแผลมีความอุ่นหรือเย็นกว่าบริเวณอื่น
อาการแผลกดทับระยะที่ 2
- อาการบวม มีหนองและของเหลวไหลออกมาจากแผล
- แผลเปิด แผลพุพอง
- แผลอุ่น แดงและเจ็บปวด
อาการแผลกดทับระยะที่ 3
- แผลพุพอง มีกลิ่นเหม็น
- แผลอาจติดเชื้อ แผลมีขอบแดง
- แผลเป็นหนอง แผลอุ่น มีของเหลวใสไหลออกจากแผล
อาการแผลกดทับระยะที่ 4
- แผลมีขนาดใหญ่ แผลลึกถึงชั้นผิวหนังด้านในหรือลึกถึงชั้นกระดูก
- แผลอาจลึกจนเห็นเส้นเอ็น กล้ามเนื้อหรือกระดูก
- แผลอาจเปลี่ยนเป็นสีดำ
- แผลมีสัญญาณการติดเชื้อ เช่น แผลขอบแดง มีหนอง กลิ่นเหม็น แผลอุ่น มีของเหลวใสไหลออกจากแผล
ในบางกรณี แผลกดทับอาจเกิดลึกเข้าไปในชั้นผิวหนังทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นความลึกและความรุนแรงของแผลได้ หรือแผลอาจถูกปกคลุมด้วยเนื้อตายหรือสะเก็ดแข็ง ทำให้ไม่สามารถระบุความรุนแรงของแผลได้จนกว่าจะไปพบคุณหมอเพื่อทำความสะอาดและตัดเนื้อตายออก
โดยบริเวณร่างกายที่มักเกิดแผลกดทับ อาจมีดังนี้
- กระดูกก้นกบหรือก้น
- สะบักและกระดูกสันหลัง
- หลังแขนและขา
- ด้านหลังหรือด้านข้างของศีรษะ
- สะโพก หลังส่วนล่าง หรือกระดูกสันหลัง
- กระดูกสะบัก
- ส้นเท้า ข้อเท้า และผิวหนังหลังเข่า
สาเหตุ
สาเหตุแผลกดทับ
แผลกดทับมีสาเหตุมาจากแรงกดของผิวหนังที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงผิวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ผิวอ่อนแอและบอบบางลงจนเกิดเป็นเนื้อตายและทำให้เกิดแผลกดทับ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลกดทับ อาจมีดังนี้
- การเสียดสีระหว่างผิวหนังกับเสื้อผ้าหรือที่นอน อาจทำให้ผิวระคายเคืองและบอบบางลงจนทำให้เสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
- แรงดึงผิว ในบางครั้งผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยที่นั่งรถเข็นที่ขยับตัวลำบาก ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หรือไม่มีความรู้สึกบริเวณผิวหนัง อาจเสี่ยงที่ผิวหนังจะพับขึ้นหรือยืดตึงเป็นเวลานานจนอาจทำให้ผิวบริเวณนั้นเกิดเป็นแผลกดทับได้
- แรงกดทับ แรงกดที่เกิดขึ้นบนผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งอาจลดการไหลเวียนของเลือดที่ต้องไปเลี้ยงผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นขาดออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงเซลล์และเนื้อเยื่อ จนอาจทำให้ผิวอ่อนแอลงและกลายเป็นเนื้อตายได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงแผลกดทับ
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดแผลกดทับ อาจมีดังนี้
- การไม่ได้รับโภชนาการที่ดี เนื่องจากผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่อยากอาหารทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารอย่างเหมาะสม รวมทั้งการขาดน้ำอาจทำให้ผิว เนื้อเยื่อ เซลล์ขาดความชุ่มชื้นจนอาจทำให้เกิดแผลกดทับได้ง่าย
- การกลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่ จนไหลออกมาสัมผัสกับผิวหนังอาจทำให้ผิวหนังบางลงได้หากสัมผัสกับของเสียเป็นเวลานาน
- ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ อาจเกิดจากอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
- ประสาทสัมผัสไม่รับรู้ อาการบาดเจ็บของไขสันหลังและความผิดปกติของระบบประสาทอาจกระทบต่อประสาทการรับรู้ ทำให้ไม่รู้สึกถึงสัญญาณว่าควรเปลี่ยนท่า
- ปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ อาจทำให้เนื้อเยื่อเสียหายและเกิดแผลกดทับได้
- อายุ ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี อาจเคลื่อนไหวได้ลำบากและผิวหนังบอบบางอาจถูกทำลายได้ง่ายกว่า
ภาวะแทรกซ้อนของแผลกดทับ
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นแผลกดทับ อาจมีดังนี้
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นภาวะติดเชื้อบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้บริเวณผิวหนัง ทำให้มีอาการบวมแดง ปวด ร้อนบริเวณที่ติดเชื้อ
- การติดเชื้อที่กระดูกและข้อต่อ แผลกดทับที่ติดเชื้ออาจทำให้กระดูกและข้อต่อติดเชื้อ รวมทั้งอาจลดการทำงานของข้อต่อต่าง ๆ ได้
- มะเร็ง แผลกดทับที่เกิดขึ้นเรื้อรังอาจพัฒนาเป็นเนื้อตายและกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้
การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยแผลกดทับ
คุณหมออาจทำการวินิจฉัยเพื่อประเมินการรักษาแผลกดทับ ดังนี้
- ซักถามประวัติสุขภาพ สาเหตุของแผลกดทับและอาการที่เกิดขึ้น
- ตรวจสอบผิวหนังเพื่อประเมินอาการของแผลกดทับและความรุนแรงของแผล เพื่อกำหนดวิธีการรักษา
- ตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อหาการติดเชื้อและประเมินปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง
การรักษาแผลกดทับ
การรักษาแผลกดทับเพื่อบรรเทาอาการ ลดความรุนแรงของแผลและป้องกันการติดเชื้อ อาจทำได้ดังนี้
การรักษาเพื่อลดแรงกดทับ
เป็นการรักษาเบื้องต้นเพื่อรักษาแผลกดทับไม่ให้ลุกลามหนักขึ้น ซึ่งอาจทำได้ดังนี้
- การปรับตำแหน่ง หากผู้ป่วยมีแผลกดทับ ให้ผู้ดูแลพยายามปรับเปลี่ยนตำแหน่งและเปลี่ยนท่าทางของผู้ป่วยบ่อย ๆ เพื่อลดแรงกดทับที่แผล
- การใช้เบาะรองเพื่อลดแรงกดทับ เช่น ที่นอน หมอนรองนั่ง หมอนอิง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยนั่งและนอนได้สบายขึ้น ทั้งยังช่วยลดแรงเสียดสีและแรงกดทับที่อาจส่งผลกระทบต่อผิวของผู้ป่วย
การทำความสะอาดและปิดแผลกดทับ
การทำความสะอาดแผลกดทับ อาจทำได้ดังนี้
- ทำความสะอาด ล้างทำความสะอาดแผลกดทับด้วยน้ำเกลือ โดยการเช็ดแผลอย่างเบามือจากด้านในออกข้างนอกให้ห่างจากขอบแผลประมาณ 1 นิ้ว หรืออาจใช้การฉีดล้างสำหรับแผลลึกเป็นโพรง โดยใช้กระบอกฉีดยาฉีดน้ำเกลือล้างแผลประมาณ 2-3 ครั้ง จนกว่าน้ำเกลือที่ล้างแผลจะเป็นสีใส จากนั้นซับแผลให้แห้งสนิท ห้ามใช้ยาแดง เบตาดีน แอลกอฮอล์ ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) ในการล้างแผล เพราะอาจทำให้เนื้อเยื่อที่กำลังสร้างใหม่ถูกทำลาย
- ปิดแผลด้วยผ้าพันแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ป้องกันแรงกดทับ ป้องกันการกระทบกระเทือนกับแผลและช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น
- เปลี่ยนผ้าพันแผลอยู่เสมอ ทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประจำทุกวัน หรือเมื่อผ้าพันแผลอับชื้นและสกปรกให้ทำความสะอาดและเปลี่ยนผ้าพันแผลใหม่ทันที
- รับประทานยา เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาพรอกเซน โซเดียม (Naproxen Sodium) เพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการอักเสบ
ในผู้ป่วยบางรายคุณหมออาจตัดเอาเนื้อเยื่อที่ตายแล้วหรือติดเชื้อออกจนหมด และทำความสะอาดแผลอย่างเบามือ เพื่อให้แผลสมานตัวได้ดีขึ้นและป้องกันการติดเชื้อเพิ่มเติม
การผ่าตัด
หากแผลกดทับมีขนาดใหญ่หรือลึกจนถึงชั้นผิวหนังหรือชั้นกระดูก คุณหมออาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย เพื่อซ่อมแซมเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ผิวหนัง และเนื้อเยื่ออื่น ๆ เพื่อให้แผลกลับมาสมานตัวได้อีกครั้ง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับแผลกดทับ
การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันแผลกดทับอาจทำได้ ดังนี้
- เปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หากเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือขยับตัวลำบาก ผู้ดูแลควรเปลี่ยนท่าทางให้ผู้ป่วยบ่อย ๆ อย่างน้อยชั่วโมงละ 1 ครั้ง หรือหากผู้ป่วยต้องนั่งรถเข็นเป็นเวลานานและมีแรงพอที่จะยกตัวเองได้ ควรยกตัวเองขึ้นบ่อย ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
- ใช้หมอนอิง เบาะรองนั่ง หรือที่นอนที่ช่วยลดแรงกดทับ หลีกเลี่ยงการใช้หมอนที่มีรูตรงกลางเพราะอาจกดทับเนื้อเยื่อรอบข้างได้
- ปรับระดับความสูงของเตียง หากเตียงสามารถยกขึ้นจากศีรษะได้ ให้ยกขึ้นได้ไม่เกิน 30 องศา ซึ่งจะช่วยป้องกันแรงดึงผิวที่อาจทำให้ผิวหนังพับหรือยืดตึงเป็นเวลานานจนอาจเกิดเป็นแผลกดทับได้
- รักษาให้ผิวสะอาดและแห้ง โดยทำความสะอาดผิวด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยนและซับให้แห้ง รวมทั้งควรทำความสะอาดผิวเป็นประจำทุกวัน เพื่อกำจัดสิ่งสปกรกและการหมักหมมของสิ่งสกปรกที่อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อ
- เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและเสื้อผ้าบ่อย ๆ หากมีความอับชื้นจากอุจจาระหรือปัสสาวะ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าที่มีกระดุมหรือสิ่งที่อาจทำให้ผิวเกิดแรงกดทับและระคายเคือง
- ตรวจสอบผิวทุกวัน หากพบว่าผิวมีรอยแผลหรือแผลกดทับควรเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
- รับประทานอาหารที่ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น โดยควรรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินซี วิตามินเอ ธาตุเหล็ก และสังกะสี เนื่องจาก สารอาหารเหล่านี้อาจช่วยในการสร้างคอลลาเจนและอิลาสติน (Elastin) สร้างกล้ามเนื้อ เสริมความแข็งแรงของเนื้อเยื่อและเซลล์ ทั้งยังช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันที่อาจช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำวันละ 2.5 ลิตร/วัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว และป้องกันภาวะขาดน้ำ
[embed-health-tool-heart-rate]