backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

โรคผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

โรคผิวหนัง สาเหตุ อาการ และการรักษา

โรคผิวหนัง เป็นภาวะที่ส่งผลต่อผิวหนัง อาจทำให้เกิดผื่น อาการคัน การอักเสบ หรือแผลพุพอง โรคผิวหนังอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ภาวะสุขภาพ และการใช้ยาบางชนิด การค้นหาสาเหตุอาจช่วยรักษาได้อย่างตรงจุด และป้องกันปัญหาผิวหนังได้

คำจำกัดความ

โรคผิวหนัง คืออะไร

ผิวหนังเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากมลภาวะ และการติดเชื้อจากภายนอก เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย ทั้งยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันการขาดน้ำ ช่วยรับรู้เมื่อตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น ความร้อน ความเย็น ช่วยรักษาอุณภูมิร่างกายให้คงที่ และมีหน้าที่สังเคราะห์วิตามินดีจากแสงแดด

โรคผิวหนัง เป็นสภาวะผิดปกติทางผิวหนังที่อาจทำให้เกิดผื่น การอักเสบ อาการคัน การอุดตัน การระคายเคือง แผลพุพอง หรือปัญหาผิวหนังอื่น ๆ บางกรณี โรคผิวหนังอาจเกิดขึ้นจากกรรมพันธุ์ พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การอาบแดดมากเกินไปจนทำให้ผิวไหม้ หรืออาจรวมถึงการใช้ยาบางชนิดในการรักษาโรค

อาการ

อาการโรคผิวหนัง

อาการของโรคผิวหนังอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับชนิดของโรคที่ทำให้เกิดปัญหาผิวหนัง แต่การเปลี่ยนแปลงของผิวหนังอาจไม่ได้เกิดจากโรคเสมอไป เช่น ตุ่มพองจากรองเท้ากัด โดยอาการที่มักพบเมื่อเป็นโรคผิวหนัง มีดังนี้

  • ผิวแห้ง แตก หยาบกร้าน ลอกเป็นขุย
  • สีผิวเปลี่ยน อาจมีสีคล้ำลง
  • มีแผลเปิด แผลพุพอง ตุ่มน้ำ
  • ผื่น อาการคัน อาจมีอาการเจ็บปวด
  • ตุ่มหนองสีเหลือง สีขาว หรือสีแดง

สาเหตุ

สาเหตุโรคผิวหนัง

โรคผิวหนังอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ขึ้นอยู่กับภาวะสุขภาพ หรือปัจจัยการดำเนินชีวิต ดังนี้

  • แบคทีเรียที่อยู่ในรูขุมขน หรือการอุดตันจากสิ่งสกปรก เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว
  • เชื้อราหรือปรสิตที่อาศัยอยู่บนผิวหนัง
  • เชื้อไวรัสก่อโรค
  • ปัญหาต่อมไทรอยด์ ไต หรือระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย
  • การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • โรคเบาหวาน
  • ยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคลำไส้อักเสบที่อาจทำให้เกิดโรคกลาก หรือโรคด่างขาว
  • แสงอัลตราไวโอเลตหรือรังสียูวี (UV) จากดวงอาทิตย์ อาจให้ผิวไหม้ ลอก หรือเป็นมะเร็งผิวหนังได้

ตัวอย่างโรคผิวหนังที่พบบ่อย มีดังนี้

โรคผิวหนังทางพันธุกรรม

  • ไฝ เป็นการรวมกลุ่มของเซลล์ผิวหนังและเนื้อเยื่อรอบข้าง ไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ในบางกรณี ไฝอาจเปลี่ยนลักษณะ เปลี่ยนสี หรือมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาผิวหนังร้ายแรง
  • โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง ลักษณะคือ ผิวหนังเป็นสะเก็ดกระจายเป็นหย่อม ๆ อาจมีสีแดง สีม่วง สีเทา หรือสีน้ำตาลเข้ม
  • กลาก มักเกิดขึ้นในวัยเด็ก แต่สามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน อาจทำให้มีผื่นคันบนใบหน้า หนังศีรษะ คอ มือ เท้า หรือขา
  • โรคด่างขาว ทำให้ผิวหนังสูญเสียเม็ดสี เป็นหย่อม ๆ โดยผิวหนังบางส่วนมีสีเข้มและบางส่วนมีสีขาว
  • โรคโรซาเซีย ทำให้เกิดรอยแดงบนใบหน้า ผู้ที่มีผิวคล้ำในบริเวณที่เป็นโรคอาจมีสีผิวเข้มขึ้นและผิวอุ่นกว่าปกติ

โรคผิวหนังชั่วคราว

  • สิว เกิดจากกรูขุมขนอุดตัน จนอาจอักเสบ เป็นตุ่มหนอง จุดด่างดำ รอยแดง หรือเป็นแผลเป็นได้
  • ลมพิษ ทำให้มีอาการคันบนผิวหนัง ผิวอาจมีสีแดงหรือสีชมพู อาจเกิดจากความเจ็บปวด ระคายเคือง หรือความเครียด
  • น้ำกัดเท้า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อรา อาจทำให้ผิวแห้ง คัน ลอก และอาจมีแผลพุพอง
  • ส่าไข้ ผิวอาจมีสีแดง เป็นตุ่มน้ำ แผลพุพอง มักเกิดขึ้นบริเวณปาก ทำให้รู้สึกเจ็บปวด

โรคผิวหนังที่อาจเกิดขึ้นตามช่วงอายุ

เด็ก

  • โรคหัด มักพบในเด็ก มีอาการผื่นแดงหรือน้ำตาล มีจุดแดงเล็ก ๆ ในปาก
  • แผลพุพอง พบบ่อยในเด็กเล็ก เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชนิดติดต่อได้ ทำให้เกิดอาการคัน มีแผลพุพองรอบปากและบนใบหน้า
  • โรคผิวหนังอักเสบ พบบ่อยในเด็กอายุ 5-15 ปี และผู้ใหญ่ 40-60 ปี มีอาการผื่นแดงหรือม่วงที่หน้าอก ใบหน้า เล็บ หรือข้อศอก อาจมีกล้ามเนื้ออ่อนแรงและบวม

ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ

  • โรคงูสวัด เกิดจากไวรัส varicella-zoster ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใส โดยโรคอีสุกอีใสเป็นโรคผิวหนังที่เกิดขึ้นในวัยเด็ก ทำให้มีตุ่มนูนแดงและคัน เมื่อเติบโตขึ้นเป็นวัยผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดโรคงูสวัดได้อีก โรคนี้อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด มีผื่นแดงเป็นวงกว้าง และเป็นตุ่มพองที่ผิวหนัง
  • กระผู้สูงอายุ หรือจุดแก่ (Age Spots) คือจุดด่างที่เกิดขึ้นเนื่องจากเม็ดสีในบริเวณนั้นมีมากกว่าส่วนอื่น ๆ พบมากในผู้สูงอายุที่อาจสัมผัสแสงแดดมาเป็นระยะเวลานาน เมื่อสภาพผิวอ่อนแอลงตามวัยจึงทำให้เกิดจุดด่างบนผิวหนัง นอกจากนี้ อาจเกิดจากแผลเป็น รอยสิว หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนด้วย
  • โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis) เป็นโรคที่พบได้น้อยและมักเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อและผิวหนัง อาจมีผื่นขึ้นหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง

มะเร็งผิวหนัง

เซลล์มะเร็งเป็นเซลล์ที่เติบโตขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้ เซลล์นี้สามารถเกิดขึ้นได้กับอวัยวะทุกส่วน อาจมีสาเหตุมาจากการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน ทำให้เกิดตุ่มสีชมพู น้ำตาล หรือสีดำ กระจายเป็นหย่อม ๆ บนผิวหนัง มีอาการเจ็บปวด และอาจอันตรายถึงชีวิตได้

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงโรคผิวหนัง

โรคผิวหนังอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังซึ่งอาจเป็นผลมาจากการตั้งครรภ์ ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น สิว ฝ้า พบบ่อยในสตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่เครียดจัด อย่างไรก็ตาม ภาวะสุขภาพเหล่านี้ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังได้

  • โรคเบาหวาน อาจมีปัญหาผิวหนังบ่อย และการรักษาบาดแผลอาจทำได้ยากโดยเฉพาะเท้า
  • โรคลำไส้อักเสบ การใช้ยารักษาโรคลำไส้อักเสบบางชนิดอาจทำให้เกิดปัญหาผิวหนังได้ เช่น กลาก โรคด่างขาว
  • โรคลูปัส เป็นภาวะเรื้อรังที่อาจทำให้เกิดการอักเสบและปัญหาผิวหนัง เช่น ผื่น แผลเป็น ผิวหนังเป็นสะเก็ด

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยโรคผิวหนัง

การวินิจฉัยโรคผิวหนัง คุณหมออาจตรวจผิวหนังเบื้องต้นด้วยสายตาเพื่อหาสาเหตุ แต่โรคผิวหนังบางชนิดอาจต้องใช้วิธีวินิจฉัยอื่นร่วมด้วย เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจนขึ้น ดังนี้

  • การตรวจชิ้นเนื้อ การเก็บผิวหนังบางส่วนไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • การเพาะเชื้อ การเก็บตัวอย่างเชื้อบนผิวหนังเพื่อทดสอบหาสาเหตุ
  • การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
  • การใช้แสงอัลตราไวโอเลต (UV) เพื่อดูเม็ดสีผิวที่มีปัญหา
  • วิธีตรวจกดแล้วจาง (Diascopy) โดยใช้กล้องจุลทรรศน์กดสไลด์ไปกับผิวหนังเพื่อดูว่าผิวหนังเปลี่ยนสีหรือไม่
  • การใช้กล้องส่องดูรอยโรค (Dermoscopy) การวินิจฉัยโรคผิวหนัง เพื่อส่องดูรอยโรคที่มีเม็ดสีมาก
  • วิธีแซ๊งสเมียร์ (Tzanck smears) การตรวจสอบของเหลวจากตุ่มเพื่อตรวจสอบเริม หรืองูสวัด

การรักษาโรคผิวหนัง

การรักษาโรคผิวหนังอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของหลักของอาการด้วย บางกรณีอาจต้องรักษาภาวะสุขภาพให้หาย ปัญหาผิวหนังถึงจะดีขึ้น หรือสภาพผิวบางอย่างอาจเกิดขึ้นเรื้อรัง การรักษาอาจไม่ช่วยให้หายขาดแต่อาจช่วยบรรเทาอาการได้

การรักษาโรคผิวหนังอาจทำได้ดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อโรคบางชนิด
  • ยาแก้แพ้ ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้หรืออาการแพ้
  • เลเซอร์ผลัดผิว เพื่อเร่งผลัดเซลล์ผิวเก่า ให้เซลล์ผิวใหม่เกิดขึ้นทดแทน
  • มอยส์เจอร์ไรเซอร์ อาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวแห้ง ลอก หรือเป็นขุย
  • ยารูปแบบอื่น เช่น ครีม ยาขี้ผึ้ง หรือเจล เตียรอยด์ชนิดครีมหรือฉีด

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการโรคผิวหนัง

โรคผิวหนังบางชนิดที่เกิดจากพันธุกรรมอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่อาจมีวิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำเป็นประจำอย่างน้อยครั้งละ 20 วินาที และเช็ดมือให้แห้งทุกครั้ง
  • พยายามไม่ใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ ของใช้ส่วนตัว หรือเครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในที่สาธารณะ เช่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย ทุกครั้งทั้งก่อนและหลังใช้งาน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ และกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคืองหรือสารเคมีรุนแรง
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากการทำร้ายผิวจากแสง UV และป้องกันไม่ให้ผิวไหม้

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตดังต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้

  • หลีกเลี่ยงหรือรับประทานอาหารบางชนิดให้น้อยลง เช่น น้ำตาล นม ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับคำแนะนำของคุณหมอ
  • ฝึกสุขอนามัยที่ดี รวมถึงการดูแลผิวที่เหมาะสม เช่น การทำความสะอาดผิว การเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิว
  • ฝึกจัดการกับความเครียดด้วยวิธีที่เหมาะสม
  • งดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา