backup og meta

คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)

คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)

คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide) เป็นยาขับปัสสาวะในกลุ่มไทอะไซด์ ใช้รักษาอาการมีน้ำส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกาย และยังอาจใช้เพื่อรักษาความดันโลหิตสูง

ข้อบ่งใช้

คลอโรไทอะไซด์ ใช้สำหรับ

คลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide) เป็นยาขับปัสสาวะในกลุ่มไทอะไซด์ (thiazide diuretic) ทำงานโดยการช่วยไตขับน้ำออกจากร่างกาย

มักใช้ยานี้เพื่อรักษาอาการมีน้ำส่วนเกินสะสมอยู่ในร่างกายซึ่งเกิดจากสภาวะหรือยาบางอย่างและยังอาจใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูงหรือสภาวะอื่นๆ ตามที่แพทย์กำหนด

วิธีใช้ ยาคลอโรไทอะไซด์

ยาคลอโรไทอะไซด์ มักให้โดยการฉีดยาที่โรงพยาบาล หรือคลินิก หากคุณใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ที่บ้าน ควรทำตามแนวทางการใช้ยาที่เรียนรู้จากผู้ให้บริการด้านสุขภาพอย่างเคร่งครัด

ไม่ควรใช้ยาคลอโรไทอะไซด์นั้น หากมีฝุ่นละอองหรือเปลี่ยนสี หรือขวดยามีรอยแตกหรือเสียหาย

เมื่อเริ่มต้นใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจทำให้ปัสสาวะเพิ่มขึ้นหรือบ่อยขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการนี้ส่งผลกระทบกับการนอนหลับ ไม่ควรใช้ยาหลังจาก 6 โมงเย็น

ควรใช้ยาคลอโรไทอะไซด์อย่างต่อเนื่อง แม้คุณจะรู้สึกเป็นปกติ อย่าข้ามมื้อยา

เก็บยานี้รวมทั้งเข็มฉีดยาไว้ให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง อย่าใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์อื่นๆ ในการฉีดยาซ้ำ ควรกำจัดอุปกรณ์ที่ใช้แล้วอย่างถูกต้อง สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีการกำจัดอุปกรณ์ที่เหมาะสม

การเก็บรักษา ยาคลอโรไทอะไซด์

ยาคลอโรไทอะไซด์ มักถูกจัดการและเก็บรักษาโดยผู้ให้บริการด้านสุขภาพ หากคุณใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ที่บ้าน ควรเก็บรักษายาคลอโรไทอะไซด์ ตามที่เภสัชกรหรือผู้ให้บริการด้านสุขภาพกำหนด และควรเก็บให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ ยาคลอโรไทอะไซด์

ก่อนใช้ยาคลอโรไทอะไซด์ แจ้งให้แพทย์ทราบถ้าหาก

  • คุณแพ้ส่วนประกอบในยาคลอโรไทอะไซด์ หรือยาซัลโฟนาไมด์อื่นๆ (Sulfonamides) เช่น ซัลฟาเมทอกซาโซน (sulfamethoxazole) ไกลบูไรด์ (glyburide) อะเซตาโซลาไมด์ (acetazolamide)
  • หากคุณไม่สามารถปัสสาวะได้
  • หากคุณกำลังใช้ยาโดฟีทิไลด์ (dofetilide) หรือคีแทนซีริน (ketanserin)
  • หากคุณกำลังตั้งครรภ์ มีแผนที่จะเตรียมตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
  • หากคุณกำลังใช้ยาใดๆ ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง สมุนไพร หรืออาหารเสริม
  • หากคุณมีอาการแพ้ยา แพ้อาหาร หรือแพ้สารอื่นๆ

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ หมดสติ หรืออ่อนแรง ซึ่งสุรา อากาศร้อน การออกกำลังกาย หรือไข้อาจทำให้อาการเหล่านี้รุนแรงขึ้นได้ เพื่อป้องกันอาการเหล่านี้ คุณควรลุกนั่งหรือลุกยืนช้าๆ โดยเฉพาะในตอนเช้า หากเกิดอาการดังกล่าวควรนั่งลงหรือล้มตัวลงนอนในทันที อย่าขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่อาจเป็นอันตราย จนกว่าคุณจะทราบว่ามีคุณปฏิกิริยาต่อยาอย่างไร

การใช้ยาคลอโรไทอะไซด์เพียงชนิดเดียว ใช้ร่วมกับยาอื่น หรือใช้ร่วมกับการดื่มสุรา อาจลดความสามารถในการขับรถหรือการทำกิจกรรมอื่นที่อาจเป็นอันตราย

ก่อนการรักษาทางการแพทย์ ทันตกรรม การรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือการผ่าตัด ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยาคลอโรไทอะไซด์

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เช่น รู้สึกกระหาย ปัสสาวะเพิ่มขึ้น สับสน ง่วงซึม หน้าแดง หายใจเร็ว หรือมีกลิ่นปากกลิ่นผลไม้ หากเกิดอาการเหล่านี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบในทันที

แพทย์อาจจะสั่งอาหารเสริมโพแทสเซียมให้คุณ ควรรับประทานตามที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด อย่ารับประทานอาหารเสริมโพแทสเซียมเอง หรือเปลี่ยนมารับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมมากขึ้น โดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจทำให้ไวต่อแสงแดดมากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด ทาครีมกันแดดและสวมเสื้อผ้าป้องกันทุกครั้งเมื่อต้องออกไปข้างนอกเป็นเวลานาน

ผู้ป่วยที่รับประทานยานี้ เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง มักจะรู้สึกเหนื่อยล้า หรือเพลียในช่วงหลายสัปดาห์หลังจากเริ่มการรักษา ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าคุณจะรู้สึกเป็นปกติดี หากมีอาการใหม่ๆ เกิดขึ้นควรแจ้งให้แพทย์ทันที

อาจต้องมีการทดสอบในห้องทดลอง รวมไปถึงการตรวจสมรรถภาพไต ความดันโลหิต และการตรวจระดับของอิเล็คโทรไลท์ (electrolytes) ในเลือด เพื่อเฝ้าสังเกตความคืบหน้า และตรวจสอบผลข้างเคียงของยา ควรมาตามนัดของแพทย์และห้องทดลองทุกครั้ง

ผู้สูงอายุควรใช้ยาคลอโรไทอะไซด์อย่างระมัดระวัง เนื่องจากอาจมีปฏิกิรยาไวต่อผลข้างเคียงของยาได้มากกว่า

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่เพียงพอ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาคลอโรไทอะไซด์ จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ ประเภท C จัดโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อสตรีมีครรภ์ โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A = ไม่มีความเสี่ยง
  • B = ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C = อาจจะมีความเสี่ยง
  • D = มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X = ห้ามใช้
  • N = ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ ยาคลอโรไทอะไซด์

ยาทุกชนิดนั้นอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่อาจจะไม่มีผลข้างเคียง หรืออาจมีผลข้างเคียงน้อย ควรติดต่อแพทย์ หากผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปเหล่านี้ไม่ยอมหายไป หรือส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน

  • มองเห็นไม่ชัด
  • มึนงง
  • ปวดศีรษะ
  • วิงเวียนศีรษะ โดยเฉพาะขณะนั่งหรือลุกขึ้นยืน
  • ผิวหนังมีอาการเหน็บชา

หากเกิดผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลทันที

  • ผดผื่น
  • ลมพิษ
  • แน่นหน้าอก
  • บวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น
  • สับสน
  • ปริมาณปัสสาวะลดลง
  • ง่วงซึม
  • โรคเกาต์
  • หย่อนสมรรถภาพทางเพศ
  • ตับอ่อนอักเสบ
  • ปวดกล้ามเนื้อหรือเป็นตะคริว
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
  • ผิวหนังแดง บวม มีแผลพุพองหรือผิวลอก
  • กระสับกระส่าย
  • ชัก
  • หายใจไม่อิ่ม
  • กระหายน้ำผิดปกติ
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หรืออ่อนแรงผิดปกติ
  • ปากแห้งผิดปกติ
  • อาเจียน

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจเกิดอันตรกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ก่อนใช้ยาคลอโรไทอะไซด์คุณควรให้แพทย์ทราบด้วยว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ เพื่อความปลอดภัย อย่าเริ่มหรือ หยุดใช้ยา รวมถึงเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้ความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจมีปฏิกิริยากับ ยาคลอโรไทอะไซด์ เช่น

  • ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) เนื่องจากอาจลดประสิทธิภาพของยาคลอโรไทอะไซด์
  • ยาบาร์บิทูเรต (Barbiturate) เช่น ฟีโนบาร์บิทัล (phenobarbital) ยาแก้ปวดแบบเสพติด (narcotic pain medicines) เช่น โคเดอีน (codeine) มอร์ฟีน (morphine) เฟนทานิล (fentanyl) ยาสำหรับความดันโลหิตสูง เนื่องจากอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคลอโรไทอะไซด์เพิ่มขึ้น
  • ไดอะซอกไซด์ (Diazoxide) หรือยาคลายกล้ามเนื้อกลุ่มนอน-ดีโพลาไรซิง (non depolarizing muscle relaxants) เช่น ทูโบคิวรารีน (tubocurarine) เนื่องจากยาคลอโรไทอะไซด์อาจทำให้ผลข้างเคียงของยาเหล่านี้เพิ่มขึ้น
  • ลิเทียม (Lithium) เนื่องจากความเสี่ยงในการเป็นพิษอาจเพิ่มขึ้นเพราะยาคลอโรไทอะไซด์
  • ไดจอกซิน (Digoxin) โดฟีทิไลด์ (dofetilide) หรือคีแทนซีริน (ketanserin) เนื่องจากความเสี่ยงของการเกิดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติอาจเพิ่มขึ้น เพราะยาคลอโรไทอะไซด์
  • ยาสำหรับโรคเบาหวาน เช่น ไกลพิไซด์ (glipizide) เมทฟอร์มิน (metformin) หรืออินซูลิน เนื่องจากยาคลอโรไทอะไซด์อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ลดลง

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจมีปฏิกิริยากับอาหาร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาคลอโรไทอะไซด์ อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะหากคุณมีอาการหรือโรคดังต่อไปนี้

  • โรคเกาต์
  • ปัญหาเกี่ยวกับไตหรือตับ
  • โรคลูปัส (Lupus)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคหอบหืด
  • ปัญหาเกี่ยวกับพาราไทรอยด์ (Parathyroid)
  • ระดับของคอเลสเตอรอลหรือลิพิด (lipid) ในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • ระดับโซเดียมในเลือดต่ำ
  • ระดับแคลเซียมในเลือดสูง
  • เคยผ่าตัดเส้นประสาท

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่ได้มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ คุณควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสมอ เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาคลอโรไทอะไซด์สำหรับผู้ใหญ่

อาการบวมน้ำ (Edema) ในผู้ใหญ่

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 0.5-1 กรัม (10 ถึง 20 มล.) รับประทาน หรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดทุกวัน หรือทุกๆ 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยโรคบวมน้ำจำนวนมาก จะมีการตอบสนองต่อการรักษาแบบไม่ต่อเนื่อง เช่น ให้ยาวันเว้นวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ลดความเสี่ยงต่อภาวะอิเล็กโทรไลท์ไม่สมดุล

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) – ผู้ใหญ่

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 0.5-1 กรัม (10 ถึง 20 มล.) รับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดครั้งเดียวหรือแบ่งให้ยา อาจเพิ่มหรือลดขนาดยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของความดันโลหิต

อาการบวมน้ำ (Edema) ในผู้สูงอายุ

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 0.5-1 กรัม (10 ถึง 20 มล.) รับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือดทุกวัน หรือทุก ๆ 12 ชั่วโมง ผู้ป่วยโรคบวมน้ำจำนวนมากจะมีการตอบสนองต่อการรักษาแบบไม่ต่อเนื่อง เช่น ให้ยาวันเว้นวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ ลดความเสี่ยงต่อภาวะอิเล็กโทรไลท์ไม่สมดุล

ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ในผู้สูงอายุ

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 0.5-1 กรัม (10 ถึง 20 มล.) รับประทานหรือฉีดเข้าทางหลอดเลือด ครั้งเดียวหรือแบ่งให้ยา อาจเพิ่มหรือลดขนาดยาขึ้นอยู่กับการตอบสนองของความดันโลหิต

ขนาดยาคลอโรไทอะไซด์สำหรับเด็ก

อาการบวมน้ำ (Edema)

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 10 ถึง 20 มก./กก. (5-10 มก./ปอนด์) ทุกวัน หรือแบ่งให้ทุกๆ 12 ชั่วโมง ห้ามเกิน 375 มก./วัน

ความดันโลหิตสูง (Hypertension)

  • ขนาดยาที่แนะนำ : 10 ถึง 20 มก./กก. (5-10 มก./ปอนด์) ทุกวัน หรือแบ่งให้ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ห้ามเกิน 375 มก./วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน 250 มก./5 มล.
  • ยาผงสำหรับฉีด 500 มก.
  • ยาเม็ด: 250 มก., 500 มก.

กรณีฉุกเฉินหรือการใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉินหรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติ ไม่ควรเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Chlorothiazide. https://www.drugs.com/cdi/chlorothiazide.html. Accessed December 5, 2016

Chlorothiazide. http://reference.medscape.com/drug/diuril-chlorothiazide-342411#0. Accessed December 5, 2016

What is chlorothiazide?. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322280.php. Accessed December 5, 2016

เวอร์ชันปัจจุบัน

08/02/2021

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

คนท้องเท้าบวม ขาบวม ทำยังไงได้บ้าง

เวียนหัวเมื่อลุกยืน คุณอาจมีภาวะ ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า ก็เป็นได้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 08/02/2021

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา