backup og meta

เช็กให้ชัวร์ 9 กลุ่มโรคอันตราย หากเป็นแล้วห้ามขับรถ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/09/2020

    เช็กให้ชัวร์  9 กลุ่มโรคอันตราย หากเป็นแล้วห้ามขับรถ

    การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์นั้น อาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุรา ความประมาท หรือแม้แต่ปัญหาสภาพอากาศ แต่คุณรู้หรือเปล่าว่า มีสภาวะบางอย่าง ที่หากเป็นแล้ว ไม่ควรที่จะขับรถ เพราะอาจเป็นอันตราย และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ กลุ่มอาการที่ห้ามขับรถ เหล่านั้นมีอะไรบ้าง มาหาคำตอบร่วมกับ Hello คุณหมอ เลยค่ะ

    9 กลุ่มอาการที่ห้ามขับรถ มีอะไรบ้างนะ

    1. กลุ่มอาการเกี่ยวกับการมองเห็น

    การขับรถนั้นเป็นทักษะที่จำเป็นต้องใช้การมองเห็นเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการบังคับทิศทาง หรือการมองสัญญาณเตือนการจราจรต่างๆ ยิ่งผู้ขับรถมีสมรรถภาพในการมองเห็นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่ได้มากเท่านั้น

    การมองเห็นไม่ชัด หรือไม่สามารถจำแนกสีได้ อาจส่งผลกระทบต่อการขับรถเป็นอย่างมาก หากผู้ขับไม่สามารถมองเห็นสิ่งกีดขวางข้างหน้าได้อย่างชัดเจน หรือไม่สามารถแยกแยะสีไฟจราจร ว่าเป็นสีอะไรกันแน่ ก็อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

    ตัวอย่างปัญหาทางสายตา ที่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ มีดังนี้

    • สายตาเลือนราง
    • โรคต้อกระจก
    • โรคต้อหิน
    • เบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy)
    • โรคจอตามีสารสี หรือโรคอาร์พี (Retinitis pigmentosa)
    • การมองเห็นข้างเดียว จากอาการตาบอดหนึ่งข้าง
    • จอประสาทตาเสื่อม
    • ตากระตุก (Nystagmus)
    • ลานสายตาผิดปกติ (Visual field defects)

    นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการตาบอดสี และไม่สามารถแยะแยะระหว่าง สีแดง สีเขียว หรือสีเหลือง ซึ่งเป็นสีของสัญญาณไฟจราจร ก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการขับรถ เพราะอาจทำให้มองสัญญาณไฟจราจรไม่ออก และเกิดอุบัติเหตุได้

    2. กลุ่มอาการโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular Disease)

    โรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น เป็นหนึ่งในสภาวะที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ยิ่งโดยเฉพาะหากเกิดอาการเฉียบพลันต่างๆ เช่น หัวใจวาย หรือหมดสติ เป็นต้น

    มีงานวิจัยที่พบว่า คนขับรถบรรทุกที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น จะมีความเสี่ยงมากกว่า ที่จะเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ เช่น การขับรถชน มากกว่าผู้ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด แม้จะยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม ถึงจะทราบได้เกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของโรคหัวใจและหลอดเลือดกับการขับรถ แต่ปัญหาเรื่องอาการฉับพลันต่างๆ ของโรค ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดนั้น ควรจะหลีกเลี่ยงการขับรถ

    ตัวอย่างของโรคในกลุ่มอาการโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ มีดังนี้

    • ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ
    • ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ ที่มีปัญหาเกี่ยวกับภาวะสมองขาดเลือด
    • ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure)
    • ผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ (valvular heart disease)

    3. กลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease)

    กลุ่มอาการโรคหลอดเลือดสมอง หมายถึงกลุ่มภาวะ โรค และความผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงในสมอง เช่น

    • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
    • ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischemic attack)
    • ภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Aneurysm)
    • โรคหลอดเลือดผิดปกติ (Vascular anomalies)

    ภาวะเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมอง ที่อาจนำไปสู่การเกิดอาการที่รุนแรงต่างๆ เช่น ปวดหัวอย่างรุนแรง อัมพาต อ่อนแรง สับสน มองเห็นไม่ชัด สูญเสียการมองเห็น สูญเสียการทรงตัว หรือหมดสติ หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นขณะที่กำลังขับขี่ยานพาหนะอยู่ ก็อาจจะเป็นอันตราย และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้

    4. กลุ่มอาการเกี่ยวกับระบบประสาท

    ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของระบบประสาท อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะได้ เช่น ผู้ป่วยโรคลมหลับ (Narcolepsy) ที่จะมีอาการง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา และมักจะคล้อยหลับได้ง่ายๆ อาจมีความเสี่ยงในการหลับในขณะขับรถ และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้

    5. กลุ่มอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

    กลุ่มอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) หรือผู้ที่มีระบบทางเดินหายใจล้มเหลว อาจส่งผลกระทบต่อการหายใจ ทำให้ขาดออกซิเจน และส่งผลให้หมดสติ หรือมีความผิดปกติทางสมองได้อย่างเฉียบพลัน ทำให้เป็นอันตราย และไม่ควรที่จะขับรถ เพราะอาการอาจกำเริบได้ทุกเมื่อ

    6. กลุ่มอาการโรคทางเมตาบอลิก (Metabolic Diseases)

    กลุ่มอาการโรคทางเมตาบอลิก หรือที่เรารู้จักกันว่า โรคอ้วนลงพุง เป็นความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญอาหาร ที่ทำให้ผู้ป่วยนั้นมีน้ำหนักตัวที่มากเกินกำหนด และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ ทั้งโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ควรหลีกเลี่ยงการขับรถทั้งสิ้น

    7. กลุ่มอาการโรคไต

    ผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ทั้งผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และผู้ป่วยไตวาย มักจะจำเป็นต้องรับการฟอกไตอยู่เป็นประจำ และส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น หายใจไม่ออก เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ เท้าบวม คลื่นไส้ วิงเวียน ซึ่งอาการเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ก็อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการขับขี่รถยนต์ทั้งสิ้น ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตในระดับรุนแรง และจำเป็นต้องได้รับการฟอกไตเป็นประจำ จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ

    8. กลุ่มอาการสมองเสื่อม

    ภาวะสมองเสื่อม หมายถึงกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความผิดปกติของการทำงานในสมอง ทำให้ส่งผลกระทบต่อทักษะที่ต้องใช้ความคิดต่างๆ เช่น การใช้เหตุผล การตัดสินใจ ทักษะทางภาษา อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ป่วยนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความจำ มีอาการหลงๆ ลืมๆ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก หากจะต้องขับรถ

    9. กลุ่มอาการโรคทางจิตเวช

    ความผิดปกติทางจิตต่างๆ ทั้ง โรคจิตเภท (Schizophrenia) ความผิดปกติของบุคลิกภาพ หรือภาวะพิษสุราเรื้อรัง เป็นสภาวะที่สามารถส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ การรับรู้ และทักษะในการขับขี่ยานพาหนะได้ ตามกฏหมายหลายๆ ประเทศ รวมไปจนถึงประเทศไทย จึงได้ห้ามไม่ให้ผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตขับรถนั่นเอง

    คุณสมบัติต้องห้าม ที่ไม่สามารถรับใบขับขี่ได้

    นอกเหนือจากคำแนะนำเกี่ยวกับ กลุ่มอาการที่ไม่ควรขับรถ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว ตามกฎหมายของไทยนั้น ก็ได้มีข้อกำหนดสำหรับผู้ที่จะขอรับใบขับขี่ ว่าจะต้องมีคุณสมบติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตราที่ 46 ดังต่อไปนี้

    • มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
    • มีความรู้และความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ
    • มีความรู้ในการขับรถ ตามพรบ. รถยนต์ และกฎหมายทางจราจร
    • ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายพิการจนไม่สามารถขับรถได้
    • ไม่มีโรคประจำตัวที่อาจจะเป็นอันตรายขณะขับรถ
    • ไม่ใช่ผู้วิกลจริต จิตฟั่นเฟือน

    นอกจากนี้ กรมขนส่งทางบกของไทย ยังได้กำหนดกลุ่มโรคเสี่ยง ที่อาจจะเกิดอันตรายจากการขับขี่ยานพาหนะ ดังต่อไปนี้

    • ผู้ป่วยโรคเท้าช้าง
    • ผู้ป่วยวัณโรค
    • ผู้ป่วยโรคเรื้อน
    • ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง
    • ผู้ป่วยติดยาเสพติด
    • ผู้ป่วยโรคลมชัก
    • ผู้ป่วยโรคเบาหวานร้ายแรง
    • ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจ
    • ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดสมอง

    จะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับโรคอันตรายที่ไม่ควรขับรถนั้น จะสอดคล้องกับกลุ่มอาการที่ห้ามขับรถ ที่ได้กล่าวมาเบื้องต้น แต่จะไม่ได้กล่าวถึงในส่วนของผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นต่างๆ เช่น โรคตาบอดสี หรือสายตาพร่ามัวต่างๆ เพราะ ผู้ที่จะเข้ารับการทดสอบขอใบขับขี่ในเมืองไทยนั้น จะต้องได้รับการทดสอบสมรรถภาพการมองเห็นพื้นฐานอยู่แล้ว ดังนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อีกที ที่จะประเมินว่า ความผิดปกติเกี่ยวกับการมองเห็นเหล่านั้น ส่งผลกระทบต่อการขับขี่ยานพาหนะหรือไม่

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 28/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา