
นอกจากการแบ่งประเภทของ ยาแก้ไอ ตามคุณสมบัติการออกฤทธิ์ เพื่อรักษาอาการไอในลักษณะต่างๆ แล้ว รูปแบบของยาแก้ไอก็มีส่วนสำคัญ ในการพิจารณาเลือกใช้ เพื่อให้เหมาะสมกับอาการ รวมทั้งความสะดวกในการใช้อีกด้วย ดังนั้น เราจึงขอแนะนำ ยาแก้ไอ รูปแบบ ต่างๆ ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาอม ยาผง หรือยาเม็ดฟู่ โดยเน้นให้เห็นถึงคุณสมบัติในการรักษา รวมทั้งข้อดีและข้อเสีย เพื่อการเลือกใช้ตามความเหมาะสม และเพื่อรักษาอาการไอได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทำไมยาต้องมีรูปแบบต่างกัน
รูปแบบของยาที่แตกต่างกันนั้น ส่งผลถึงการช่วยให้ตัวยาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุดตามอาการต่างๆ โดยยาแต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันและมีผลต่อร่างกายต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้ยาสามารถทำงานได้ตามคุณสมบัติอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมยาในรูปแบบต่างกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ดังนี้
- เพื่อปกป้องตัวยาไม่ให้สลายง่ายโดยสิ่งแวดล้อม เช่น ความชื้น
- เพื่อป้องกันการสลายตัวโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
- เพื่อกลบรสหรือทำให้ได้รสที่น่ารับประทาน
- เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับตัวยา เช่น ถ้าละลายน้ำได้ดีก็ทำเป็นยาน้ำใส ถ้าไม่ละลายก็ทำเป็นยาแขวนตะกอน
- ให้ตัวยาอยู่ในรูปแบบที่เหมาะสมกับการนำไปใช้ เช่น ยาน้ำใสปราศจากเชื้อเพื่อใช้ฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น
- ให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับการนำติดตัวไปใช้ และการขนส่ง เช่น การทำเป็นยาเม็ดแทนยาน้ำ
- ให้ได้รูปแบบของยาที่ได้ขนาดที่ถูกต้องและปลอดภัย เกิดอันตรายกับผู้ใช้น้อยที่สุดและถ้าเกิดอันตรายขึ้นสามารถแก้ได้ไม่ยาก
- ให้ได้รูปแบบของยาที่จะให้ประโยชน์ในการรักษามากที่สุด
ยาแก้ไอ รูปแบบ ไหนบ้างที่ใช้กันบ่อย
ยาแก้ไอชนิดน้ำ
ยาแก้ไอในรูปแบบน้ำสำหรับรับประทาน จัดอยู่ในกลุ่มยาระงับอาการไอ เหมาะสมสำหรับอาการไอแห้งแบบไม่มีเสมหะ มีตัวยาสำคัญ คือ ฝิ่น ที่มีฤทธิ์ระงับอาการไอ และสมุนไพรไทยอย่างชะเอมที่ทำให้ชุ่มคอ จัดว่าเป็นยาระงับการไอที่ให้ผลดีพอสมควร แต่รสชาติอาจไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบเท่าไหร่นัก โดยเฉพาะในเด็ก จึงมักใช้ยาแก้ไอน้ำเชื่อม เป็นตัวเลือกสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ ยังมียาแก้ไอแบบน้ำสำหรับอาการไอแบบมีเสมหะ ซึ่งจะต่างกับยาแก้ไอน้ำดำในเรื่องของตัวยาสำคัญที่ออกฤทธิ์ต่างกัน โดยส่วนใหญ่มักประกอบตัวยา อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) ในกลุ่มยาละลายเสมหะ และ ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ในกลุ่มยาขับเสมหะ ยาแก้ไอชนิดน้ำ มักมีข้อจำกัดในการใช้เนื่องจากไม่สะดวกในการพกพาเท่ากับยาแก้ไอแบบเม็ด
ยาแก้ไอชนิดเม็ด
ยาแก้ไอแบบเม็ดมักจะเป็นยาที่มีตัวยาสำคัญเดี่ยวๆ ไม่ได้ผสมกับยาอื่น โดยตัวยาสำคัญจะออกฤทธิ์รักษาการไอประเภทต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเป็นแบบแคปซูลที่มักพบในยากลุ่มขับเสมหะหรือละลายเสมหะ โดยยาแก้ไอชนิดเม็ดมีข้อดีในเรื่องของความสะดวกในการรับประทานและการพกพา
ยาอมแก้ไอ
ยาอมแก้ไอ หรือแก้เจ็บคอ มักมีการปรุงแต่งรสชาติคล้ายลูกอม ใช้อมให้ตัวยาละลายในปากอย่างช้าๆ เพื่อไประงับการไอแบบชั่วคราว รวมทั้งสร้างความชุ่มชื้นในระบบทางเดินหายใจเพื่อลดการระคายเคืองในลำคอ โดยส่วนใหญ่ มักมีส่วนประกอบของยาชา แต่ในปริมาณน้อยมาก มักใช้บรรเทาอาการไอแบบไม่มีเสมหะเท่านั้น
ยาแก้ไอแบบผง
ยาแก้ไอ รูปแบบ นี้มักเป็นยาละลายเสมหะที่มีตัวยาสำคัญคือ อะเซทิลซิสเทอีน ซึ่งจะช่วยให้เสมหะแตกตัวและคลายความข้นเหนียวลง มักมีลักษณะเป็นผงสีขาวบรรจุในซองสำหรับละลายกับน้ำแล้วดื่ม ข้อดีของยารูปแบบนี้คือเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสามารถดูดซึมตัวยาได้ดี แต่มักมีรสชาติไม่ดี รับประทานยาก
ยาแก้ไอเม็ดฟู่
จุดประสงค์หลักของการผลิตยาในรูปแบบเม็ดฟู่นั้นคือ เพื่อกลบรสชาติของยาบางประเภทที่มีรสชาติไม่ดี ยากต่อการรับประทาน ยาในรูปแบบของเม็ดฟู่ ทำให้รับประทานง่ายขึ้นนั่นเอง โดยยาแก้ไอที่อยู่ในรูปแบบนี้มักเป็นยาชนิดละลายเสมหะ ซึ่งรสชาติจะดีกว่าและทานง่ายกว่ายาแก้ไอแบบผง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม:
Review Date: มีนาคม 21, 2019 | Last Modified: ตุลาคม 4, 2019