
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 900,000 คนและมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 80,000 คน มากไปกว่านั้น บางคนก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ บทความนี้จึงชวนมาตรวจสอบว่าคุณอยู่ใน กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่ หรือเปล่า
โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร
ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา ซึ่งจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ที่สัมพันธ์กับอวัยวะต่างๆ ได้แก่ จมูก คอ และปอด สำหรับอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะมีตั้งแต่ระดับที่ไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรง ได้แก่ เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล คัดจมูก ปวดร่างกาย ปวดหัว มีไข้หนาวสั่น และอ่อนเพลีย นอกจากนี้บางคนอาจมีอาการท้องเสียและอาเจียนร่วมด้วย แต่อาการท้องเสียและอาเจียนมักจะพบบ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
ใครคือ กลุ่มเสี่ยงโรคไข้หวัดใหญ่
ผู้หญิงตั้งครรภ์
ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรได้ 2 สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยมากกว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ เนื่องจากร่างกายกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ และปอด ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น หากผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด หรือการพิการแต่กำเนิดของทารก
นอกจากนี้การเป็นไข้หวัด ถือเป็นอาการปกติของไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นถ้าคุณตั้งครรภ์และเป็นไข้หวัด หรือมีอาการของโรคไข้หวัดใหญ่ ควรไปหาแพทย์โดยด่วน เนื่องจากไข้หวัดใหญ่สามารถเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ มากไปกว่านั้นหากมีอาการเหล่านี้ ควรไปหาแพทย์ทันที
- การเคลื่อนไหวของทารกลดลง หรือไม่มีการเคลื่อนไหวเลย
- มีไข้ เหงื่อออกมาก และมีไข้หนาวสั่น โดยเฉพาะในกรณีที่กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ปวดหน้าอกและปวดท้อง
- วิงเวียนศีรษะ
- มึนงง
- อาเจียนอย่างรุนแรง หรืออาเจียนไม่หยุด
- ความดันโลหิตสูงขึ้น
เด็กและทารก
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ มากกว่าวัยผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ เด็กที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง เช่น อวัยวะมีความผิดปกติ เด็กเป็นโรคเบาหวานหรือโรคหอบหืด รวมถึงเด็กที่ป่วยบ่อย อาจมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ จึงทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน มากไปกว่านั้น หากเด็กมีอาการเหล่านี้ควรไปพบคุณหมอทันที
- การหายใจมีปัญหา
- มีไข้สูง
- เหงื่อออก หรือมีไข้หนาวสั่น
- ผิวเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินหรือสีเทา
- อาเจียนไม่หยุด
- เบื่ออาหาร
- ไม่ตอบสนอง
ในกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว จึงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ของเด็กเล็ก
ผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ และอาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรงจากการเป็นไข้หวัดใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอตามวัย และในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคปอด และโรคเบาหวาน การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สามารถทำให้อาการของโรคเรื้อรังเหล่านี้แย่ลง มากไปกว่านั้น หากคุณมีอายุมากกว่า 65 มีและมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอทันที
- การหายใจมีปัญหา
- มีไข้สูง
- เหงื่อออก หรือมีไข้หนาวสั่น
- อาการไม่ดีขึ้นภายใน 3-4 วัน
- อาการเริ่มดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็มีอาการแย่ลง
องค์กรอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ ได้อนุมัติวัคซีนที่มีปริมาณสูงพิเศษสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปที่เรียกว่า ฟลูโซน ไฮโดส (Fluzone High-Dose) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีปริมาณมากกว่าปกติ 4 เท่า ที่ช่วยป้องกันแอนติบอดี และให้การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้น อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ว่าวัคซีนชนิดใดที่เหมาะกับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด