backup og meta

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

    โรคไข้หวัดใหญ่ คือ โรคติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา (Influenza) ที่เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจผ่านสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอ การจาม รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ช้อนส้อม จาน แก้ว ผ้าเช็ดหน้า ที่อาจนำไปสู่การเจ็บป่วยระดับรุนแรง แต่สามารถป้องกันได้ด้วย วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ดังนั้น จึงควรเข้ารับการฉีด วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่หรือช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ คือ วัคซีนที่ช่วยป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยอาจฉีดบริเวณต้นแขนหรือต้นขาหรือพ่นจมูก โดยวัคซีนไข้หวัดใหญ่แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย (Live Attenuated Influenza Vaccines : LAIV) เป็นวัคซีนที่ประเทศไทยนิยมใช้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ สามารถรับได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง แต่สำหรับเด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 8 ปี ที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดอาจจำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 4 สัปดาห์
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อเป็น (Inactivated Influenza Vaccines : IIV) อาจฉีดในกลุ่มที่มีอายุ 2-4 ปี และไม่มีโรคประจำตัว แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในสตรีตั้งครรภ์และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยแพทย์อาจให้พ่นวัคซีนผ่านทางจมูก 1 โดส สำหรับเด็กอายุ 2-8 ปี ที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนตามกำหนดอาจจำเป็นต้องเข้ารับการพ่นวัคซีน 2 โดส ห่างกันโดสละ 4 สัปดาห์
  • ความสำคัญของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปีอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ หรือช่วยลดอาการรุนแรงเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่ในแต่ละสายพันธุ์ได้ และอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ กลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน การติดเชื้อที่หู ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ

    นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ยังอาจช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ลดอัตราการเสียชีวิต ลดปัญหาค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย และช่วยลดปัญหาการขาดเรียนหรือขาดงานบ่อยครั้งเนื่องจากต้องพักรักษาตัวจนกว่าจะหายดี

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เหมาะสำหรับใคร

    วัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถฉีดได้ทุกคน แต่คนบางกลุ่มอาจมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป ดังนี้

    • เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป และผู้สูงอายุ
    • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคปอด โรคหอบหืด
    • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
    • ผู้ที่เป็นโรคที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเอดส์ โรคลูปัส (Systemic Lupus erythematosus) โรคมะเร็ง รวมถึงผู้ที่กำลังใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
    • ผู้ที่อยู่ในระหว่างการฉายรังสีรักษามะเร็ง และผู้ที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ
    • สตรีตั้งครรภ์ โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3
    • ผู้ที่จำเป็นต้องอยู่ในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวกและมีผู้คนแออัด เช่น ฟิตเนส โรงพยาบาล โรงเรียน สนามบิน เครื่องบิน รถไฟฟ้า รถเมล์

    สิ่งที่ควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่

    สิ่งที่ควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ มีดังนี้

  • ควรพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง ก่อนฉีดวัคซีน เพื่อลดอาการอ่อนเพลียและอาจช่วยป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง
  • ควรแจ้งประวัติสุขภาพให้บุคลากรทางการแพทย์ทราบก่อนฉีด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือมีโรคภูมิแพ้ไข่ เนื่องจากวัคซีนบางชนิดอาจผลิตจากไข่ เพื่อให้แพทย์เลือกชนิดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้อย่างเหมาะสม
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น มีไข้เล็กน้อยปวดกล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาการตอบสนองระหว่างระบบภูมิคุ้มกันและวัคซีน โดยรับประทานยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน
  • ดูแลตัวเองก่อนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ด้วยการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยให้ดี เช่น ล้างมือด้วยสบู่บ่อย ๆ ใช้เจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด ทำความสะอาดสิ่งรอบตัวที่สัมผัสบ่อยครั้ง หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูกและปาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่
  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพในประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดวัคซีน และภูมิคุ้มกันจะมีอายุนาน 1 ปี ดังนั้น จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 24/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา