backup og meta

ลูกชอบร้องตอนกลางคืน เพราะอะไร มีวิธีแก้ไขอย่างไร

ลูกชอบร้องตอนกลางคืน เพราะอะไร มีวิธีแก้ไขอย่างไร

ลูกชอบร้องตอนกลางคืน อาจเป็นพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจเพื่อแสดงความรู้สึกหรือความต้องการของทารก เช่น รู้สึกโกรธ เศร้า หิว คิดถึงพ่อแม่ ตกใจ ไม่สบายตัว อาการร้องไห้ตอนกลางคืนส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือน พ่อแม่จึงอาจต้องสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของทารกเพื่อช่วยในการปลอบประโลม และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

สาเหตุที่ลูกชอบร้องตอนกลางคืน

ทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจชอบร้องตอนกลางคืน โดยมีสาเหตุ ดังนี้

  • ความหิว อาจเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่ทำให้ทารกชอบร้องตอนกลางคืน เนื่องจากทารกเป็นวัยที่ต้องการการนอนหลับประมาณ 14-17 ชั่วโมงในหนึ่งวัน แต่อาจนอนหลับได้เพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ต่อครั้ง ซึ่งทารกแรกเกิดยังคงมีกระเพาะเก็บอาหารที่เล็กและเป็นวัยที่ร่างกายเติบโตอย่างรวดเร็ว ทารกจึงอาจหิวบ่อยกว่าเด็กช่วงวัยอื่น จึงจำเป็นต้องได้รับอาหารบ่อยครั้งแม้แต่ในช่วงเวลากลางคืน
  • ความคิดถึงพ่อแม่ ทารกที่ตื่นกลางดึกแล้วไม่เจอพ่อแม่อยู่ข้าง ๆ อาจรู้สึกคิดถึงพ่อแม่จนร้องไห้กลางดึก โดยเฉพาะทารกอาจมีอาการติดเต้าแม่ ทำให้ตื่นบ่อย ๆ ได้
  • ความไม่สบายตัว อาจมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิในห้อง ความเปียกชื้นของผ้าอ้อม การห่อตัวที่แน่นเกินไป ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ทำให้ทารกรู้สึกไม่สบายตัวและร้องไห้ตอนกลางคืนได้เช่นกัน
  • สิ่งรบกวน การมีสิ่งกระตุ้นให้ทารกตื่นตกใจกลางดึก เช่น แสงไฟ เสียงดัง อาจทำให้ทารกร้องไห้ตอนกลางคืนได้
  • อาการโคลิก (Colic) เป็นอาการที่ทารกร้องไห้งอแงหนักมากและบ่อยครั้ง ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน พบมากในทารกอายุประมาณ 6 สัปดาห์ และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากอายุ 3-4 เดือน
  • ความเจ็บป่วย ทารกที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น กรดไหลย้อน มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ภูมิแพ้ อาจทำให้ทารกเจ็บปวดร่างกายหรือรู้สึกไม่สบายตัว ทำให้ทารกอาจตื่นกลางดึกและร้องไห้ตอนกลางคืนได้

วิธีป้องกันอาการลูกชอบร้องตอนกลางคืน

เพื่อให้ลูกนอนหลับยาวนานขึ้นและลดการร้องไห้ตอนกลางคืน อาจสามารถทำได้ดังนี้

  • สังเกตพฤติกรรมและความรู้สึกของลูก บางครั้งการที่ลูกร้องไห้อาจเป็นการแสดงความรู้สึกและอารมณ์ ทารกอาจรู้สึกโกรธ โมโห เศร้า หิว พ่อแม่อาจต้องสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกเสมอ เพื่อช่วยในการปลอบโยนและแก้ปัญหาอย่างตรงจุด เมื่อลูกร้องไห้อาจเริ่มด้วยการอุ้มเดิน พูดคุยกับลูกและแสดงความรักความห่วงใย วิธีนี้อาจช่วยให้ลูกอารมณ์เย็นลงและหยุดร้องไห้
  • การทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย อาจมีหลายวิธีที่ทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น เช่น การให้จุกนมหลอก การอุ้มลูกและเดินไปรอบ ๆ การห่อตัวลูก การอาบน้ำอุ่น การนวดตัว วิธีเหล่านี้จะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายและนอนหลับได้ยาวนานขึ้น อาจช่วยลดการร้องไห้ตอนกลางคืนได้
  • การปรับเปลี่ยนอาหาร ลูกอาจมีอาการแพ้นมผงบางชนิด พ่อแม่จึงต้องเลือกนมที่ย่อยง่ายขึ้น เช่น นมผงสูตรไฮโดรไลเสต (Hydrolysate) ซึ่งเป็นนมผงที่มีโปรตีนขนาดเล็กย่อยได้ง่ายกว่า หรือทารกบางคนอาจแพ้นมแม่ เนื่องจากการรับประทานอาหารของแม่ที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น นมวัว ถั่ว ข้าว ไข่ คุณแม่จึงอาจต้องงดรับประทานอาหารเหล่านี้ และกรณีที่ทารกดื่มนมแม่อย่างเดียว ให้คุณแม่ระวังเรื่องอาหารที่คุณแม่รับประทานด้วย เพราะอาจทำให้ลูกไม่สบายท้อง ไม่สบายตัวได้
  • จัดการกับสิ่งรบกวน เช่น แสงไฟ เสียงดัง สิ่งรบกวนเหล่านี้อาจทำให้ลูกตกใจตื่นตอนกลางดึก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้ผ้าม่านปิดหน้าต่างที่มีแสงไฟเพื่อทำให้ห้องมืดมากที่สุด ปิดประตูหน้าต่างทุกบานเพื่อกันเสียงจากภายนอกที่อาจรบกวนการนอนของลูก

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

 

Baby crying at night: Normal or cause for concern?. https://www.reidhealth.org/blog/baby-crying-at-night-normal-or-cause-for-concern. Accessed February 9, 2022

Frequent Night Awakenings: Why Is My Baby Crying During Sleep?. https://www.childrenscolorado.org/conditions-and-advice/parenting/parenting-articles/baby-crying-sleep/. Accessed February 9, 2022

When Your Baby Won’t Stop Crying. https://www.helpguide.org/articles/parenting-family/when-your-baby-wont-stop-crying.htm. Accessed February 9, 2022

Colic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colic/symptoms-causes/syc-20371074. Accessed February 9, 2022

Colic-Diagnosis-treatment. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/colic/diagnosis-treatment/drc-20371081. Accessed February 9, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/03/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

เด็ก งอแง สาเหตุและการดูแล

8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 29/03/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา