backup og meta

การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น

    การนอนของทารก อาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน และอาจขึ้นอยู่กับช่วงอายุด้วย โดยทารกมักนอนมากที่สุดในช่วงแรกเกิด แต่จะนอนหลับไม่นาน หรือหลับ ๆ ตื่น ๆ  ตลอดทั้งวัน เมื่อทารกเติบโตขึ้น ระยะเวลาในการนอนกลางวันจะค่อย ๆ ลดลง และจะนอนในตอนกลางคืนได้นานขึ้น และมักหลับจนถึงเช้าโดยไม่ตื่นกลางดึก

    การนอนของทารก เป็นอย่างไร

    โดยทั่วไปทารกแรกเกิดจะนอนหลับในตอนกลางวันประมาณ 8-9 ชั่วโมง และนอนหลับในตอนกลางคืนประมาณ 8 ชั่วโมง แต่อาจนอนหลับครั้งละไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นถ้าทารกกินอิ่ม เมื่อทารกอายุประมาณ 3 เดือน อาจนอนหลับในช่วงเวลากลางคืนได้นานขึ้น คือประมาณ 6-8 ชั่วโมง โดยไม่ตื่นกลางดึก และเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ทารกมักจะนอนหลับได้ตลอดทั้งคืนจนถึงเช้า โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการง่วงนอนของทารกได้จากพฤติกรรม เช่น ขยี้ตา มองไปรอบ ๆ หาว งอแง

    ทารกควรนอนมากแค่ไหน

    ทารกแต่ละคนอาจต้องการระยะเวลาในการนอนหลับที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาในการนอนโดยเฉลี่ยที่ทารกควรได้รับตลอด 24 ชั่วโมง อาจเป็นดังนี้

    • ทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาช่วงนอนหลับมากกว่าช่วงตื่นนอน ทารกแรกเกิดอาจนอนหลับ 8-18 ชั่วโมง ทารกบางคนอาจตื่นกลางดึกเพราะหิว หรือบางครั้งถ้าอิ่มมาก ๆ ก็อาจหลับยาว ๆ ได้ นอกจากนี้ อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไปก็อาจรบกวนการนอนหลับของทารกแรกเกิดได้เช่นกัน
    • ทารกอายุ 3-6 เดือน ทารกรู้สึกหิวในตอนกลางคืนน้อยลง จึงทำให้นอนหลับในตอนกลางคืนได้นานขึ้น บางคนอาจนอนหลับได้นาน 8 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น และระยะเวลาในการนอนกลางวันอาจลดลงไปด้วย
    • ทารกอายุ 6-12 เดือน ทารกบางคนอาจไม่รู้สึกหิวตอนกลางคืนเลย และสามารถนอนหลับในตอนกลางคืนได้นานถึง 12 ชั่วโมง แต่อาจไม่สบายตัวเนื่องจากเปียกแพมเพิสเลยตื่นได้
    • ทารกอายุ 12 เดือนถึง 2 ปี ทารกเริ่มนอนหลับอย่างต่อเนื่องและยาวนานขึ้น ส่วนใหญ่จะนอนหลับประมาณ 12-15 ชั่วโมง
    • เด็กอายุ 2 ปี ส่วนใหญ่จะนอนหลับในตอนกลางคืนได้นานประมาณ 11-12 ชั่วโมง และอาจงีบหลับในตอนกลางวันประมาณ 1-2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง
    • เด็กอายุ 3-4 ปี ส่วนใหญ่จะนอนหลับประมาณ 8-14 ชั่วโมง และบางคนอาจงีบหลับในเวลากลางวัน ประมาณ 1-2 ชั่วโมง

    สัญญาณปัญหาการนอนหลับของทารก

    เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 6 เดือน การนอนหลับของทารกจะเริ่มยาวนานขึ้น แต่ทารกบางคนอาจมีปัญหาในการนอนหลับ ซึ่งอาจสังเกตได้จากอาการหรือพฤติกรรม เช่น นอนหลับยาก นอนกรน หายใจไม่สม่ำเสมอขณะหลับ ซึ่งอาจเกิดจากความเหนื่อยล้า อากาศที่ร้อนหรือเย็นเกินไป เป็นต้น นอกจากนี้ ทารกบางคนอาจมีปัญหาในการนอนหลับ หรือตื่นกลางดึกมากขึ้น เนื่องจากมีภาวะวิตกกังวลหรือกลัวการแยกจาก เช่น การแยกที่นอน การแยกห้องนอน  ซึ่งอาจสังเกตได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้

    • ตื่นและร้องไห้ในตอนกลางคืนอย่างน้อย 1 ครั้ง
    • ร้องไห้หนัก หรือโวยวายเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยตอนจะนอน
    • ไม่ยอมนอนหากพ่อแม่ไม่อยู่ใกล้ ๆ หรือนอนด้วยกัน
    • ไม่ชอบการแยกจาก พยายามตามติดพ่อแม่เมื่อต้องแยกกัน

    หากสังเกตเห็นว่าทารกมีปัญหาในการนอนหลับ หรือมีรูปแบบการนอนหลับผิดปกติ ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าทารกเป็นโรคเกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น กรดไหลย้อน การติดเชื้อที่หู โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคระบบทางเดินหายใจ การแพ้นมวัว ซึ่งควรได้รับการรักษาทันที

    วิธีที่ช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น

    การจัดบรรยากาศให้เหมาะสมกับการนอน และฝึกกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกิจวัตรก่อนนอนดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ทารกเรียนรู้ว่ากำลังอยู่ในเวลากลางคืนและต้องเตรียมเข้านอน และอาจช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่ายขึ้น

    • อาบน้ำ เปลี่ยนชุดและผ้าอ้อมใหม่ก่อนนอน ควรเลือกเสื้อผ้าทารก หรือผ้าสำหรับห่อตัวที่ไม่หนาจนทำให้ทารกนอนไม่สบายตัว หรือบางจนทำให้ทารกหนาวและนอนไม่หลับ
    • กำหนดช่วงเวลากินอาหารตอนกลางคืน หรือให้ทารกกินนมพร้อมกล่อมนอนไปด้วย แต่ถ้ามีฟันขึ้นแล้วไม่ควรหลับพร้อมขวดนม เนื่องจากทำให้ฟันผุได้
    • อ่านหนังสือ ร้องเพลงกล่อม หรือจูบลาก่อนเข้านอน
    • หรี่ไฟให้มืดลง ไม่มืดสนิทหรือสว่างเกินไป
    • สร้างสภาพแวดล้อมให้เงียบสงบไม่มีเสียงรบกวน หรือจะเปิดเพลงกล่อมนอนก็ได้
    • ปรับอุณภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นเกินไป
    • จัดที่นอนให้เหมาะกับการนอน เลือกผ้าปูที่นอนหรือเปลนอนที่ปลอดภัยและมั่นคง ควรรัดผ้าปูที่นอนให้แน่นและเรียบ เพื่อป้องกันการเกิดช่องว่างระหว่างที่นอนกับด้านข้างของเปลนอน
    • ควรแยกของเล่น หมอน ผ้าห่ม ผ้านวม เชือก หรือสิ่งของอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายกับทารกหรืออาจรบกวนการนอนหลับออกจากที่นอนทารก
    • ใช้จุกนมหลอก เพราะทารกบางคนที่ยังไม่หย่านมอาจต้องการดูดจุกนมหลอกเพื่อให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ควรสูบบุหรี่ในห้องนอนหรือใกล้ทารก เพราะอาจเสี่ยงทำให้ทารกเกิดปัญหาในระบบทางเดินหายใจ หรือเป็นโรคไหลตายในทารก ซึ่งเป็นภาวะที่ทารกเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

    นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ทารกสามารถนอนหลับได้เอง ด้วยการพาทารกเข้านอนก่อนทารกจะหลับ เพราะอาจช่วยให้ทารกวิตกกังวลน้อยลง และนอนหลับได้เองโดยไม่ต้องกล่อมหรือไม่ต้องมีพ่อแม่อยู่ด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 04/04/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา