backup og meta

เด็ก งอแง สาเหตุและการดูแล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    เด็ก งอแง สาเหตุและการดูแล

    เด็ก งอแง เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความหิว ความง่วง กินอาหารมากเกินไป ความเจ็บปวดทางกาย ความร้อน ความหนาวเย็น หรืออาจเกิดจากอาการโคลิค (Colic) หรือการร้องไห้ตอนกลางคืน ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยในเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน ทำให้เด็กร้องไห้งอแงมากและอาจควบคุมได้ยาก การเข้าใจถึงสาเหตุและการดูแลให้เด็กรู้สึกสบายตัวมากที่สุดจึงอาจช่วยลดอาการงอแงได้

    สาเหตุที่ทำให้เด็ก งอแง

    เด็ก งอแง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความหิว เป็นสาเหตุที่อาจพบบ่อยที่สุด เนื่องจากเด็กอาจสื่อสารได้เพียงการร้องไห้เพื่อแสดงความต้องการอาหาร แต่เมื่อได้รับอาหารอย่างเพียงพอเด็กก็หยุดงอแง
  • ความง่วง ทำให้เด็กงอแงได้ เนื่องจากเด็กอาจกำลังสื่อสารให้ผู้ปกครองพาเข้านอนและจัดท่าทางให้อยู่ในท่าที่สบาย เช่น การอุ้ม การตีก้น การห่อตัว แล้วจึงค่อย ๆ หลับลง
  • การกินอาหารมากเกินไป การป้อนอาหารบ่อยและมากเกินไปอาจทำให้เด็กอึดอัดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ทำให้เด็กรู้สึกไม่สบายตัว
  • การใส่เสื้อผ้าที่ไม่เหมาะกับสภาพอากาศ อาจทำให้ทารกรู้สึกร้อนหรือหนาวเกินไป นอกจากนี้ การใช้ผ้าอ้อมที่ไม่สะอาดอาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองจนเกิดอาการคันหรือแสบร้อนจนทำให้เด็กงอแงได้เช่นกัน
  • ความเจ็บปวด ได้แก่ แผลในปาก อาการปวดหู ผื่นผ้าอ้อม แผลที่ปลายองคชาต อาจทำให้เด็กมีอาการเจ็บและงอแงมากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการรักษา
  • อาการโคลิก เป็นอาการที่พบได้บ่อยในเด็กแรกเกิดอายุตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน เด็กมักจะร้องไห้ตอนกลางคืนอย่างหนักและใช้เวลานานกว่าจะหยุดร้องไห้ ทำให้พ่อแม่รู้สึกเครียดและวิตกกังวล ซึ่งอาการโคลิกจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากเด็กอายุ 3-4 เดือนขึ้นไป
  • คาเฟอีนในนมแม่ คุณแม่ที่ดื่มเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีคาเฟอีนเป็นประจำทุกวัน อาจต้องหลีกเลี่ยงคาเฟอีนในขณะให้นมลูก เพราะอาจส่งผลต่อน้ำนมที่ลูกกิน ทำให้เด็กไม่ง่วงนอน ตื่นกลางดึกบ่อยและอาจทำให้งอแงมากขึ้น
  • การดูแลเพื่อลดอาการเด็ก งอแง

    วิธีที่อาจช่วยให้ลดอาการเด็กงอแง มีดังนี้

    • การห่อตัวเด็ก อาจช่วยลดความตื่นตกใจขณะหลับได้ ช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่นเหมือนโดนกอดและหลับสบายมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เด็กงอแงน้อยลง
    • ควรจำกัดการนอนกลางวันของเด็กไม่เกิน 3 ชั่วโมง เพื่อให้เด็กหลับได้ยาวนานมากขึ้นในตอนกลางคืน ซึ่งอาจช่วยลดอาการงอแงตอนกลางคืนได้ และควรจัดห้องนอนให้มืดสนิท ไม่มีเสียงรบกวนเพื่อให้เด็กหลับได้สนิทและยาวนานขึ้น
    • การให้ทารกนอนในเปล เด็กบางคนอาจชอบการนอนในเปลที่อุ่นสบายและเคลื่อนไหวเบา ๆ ซึ่งคล้ายกับการเคลื่อนไหวเมื่ออยู่ในท้องแม่
    • การเปิดเพลงที่ทำให้เด็กผ่อนคลาย เด็กแต่ละคนอาจชอบเสียงที่แตกต่างกัน อาจเปิดเพลงจังหวะสบาย ๆ เพื่อให้เด็กผ่อนคลายมากขึ้น หรือเปิดเสียงพัดลม เสียงคลื่นหัวใจเพื่อให้เด็กรู้สึกเหมือนอยู่ในท้องแม่
    • หลีกเลี่ยงการให้นมหรือป้อนมากเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กอึดอัดและไม่สบายท้องจนเกิดอาการงอแงได้ ควรเว้นระยะห่างการป้อนอาหารประมาณ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่ง/ครั้ง
    • การอุ้มเด็กหลังจากกินอาหารและลูบหลังเบา ๆ เพื่อช่วยให้ย่อยอาหารง่ายขึ้นและช่วยให้เด็กเรอหลังกินอาหารเสร็จ จะลดความอึดอัดท้องและเด็กจะรู้สึกสบายท้องมากขึ้น
    • การกินอาหาร เด็กบางคนอาจงอแงเพราะอาหารที่กินเข้าไป หรืออาการแพ้อาหารบางชนิด สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคาเฟอีน อาหารรสเผ็ด รสเปรี้ยว เนื่องจากอาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารของเด็ก ส่วนทารกที่กินนมผง คุณแม่อาจต้องปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับนมที่เหมาะสมกับช่วงวัยและสุขภาพของลูกน้อยด้วย
    • การจดบันทึกอาการเด็กงอแง คุณแม่อาจต้องจดบันทึกความถี่ในการป้อนลูก และลูกร้องไห้มากที่สุดเมื่อใด เพื่อช่วยสังเกตพฤติกรรมของลูกและสามารถใช้สิ่งที่จดบันทึกพูดคุยกับคุณหมอเพื่อหาความผิดปกติของทารก

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา