backup og meta

8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ

    เด็กต้องการการเลี้ยงดูที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย แข็งแรง และได้เรียนรู้ ทั้งยังต้องการการสนับสนุนจากผู้ปกครอง เพราะเมื่อเด็กรู้สึกปลอดภัยและมีความสุข พวกเขาก็จะมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่ดี นอกจากนั้นการเป็นต้นแบบที่ดีให้กับเด็กก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ เพราะเด็กจะเริ่มเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรม คำพูด และการกระทำของผู้เลี้ยงตั้งแต่เป็นทารก และอาจนำแบบอย่างเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตประจำวันเมื่อโตขึ้น ดังนั้น เคล็ดลับการ เลี้ยงเด็ก จึงอาจเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีความสุขและมีคุณภาพที่ดีได้

    8 เคล็ดลับเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพ

    การ เลี้ยงเด็ก ที่ดีถือว่ามีคุณภาพและพัฒนาการของเด็ก ดังนั้น เคล็ดลับการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพ อาจทำได้ดังนี้

    1. การเป็นแบบอย่างที่ดี

    เด็กจะเริ่มเรียนรู้ด้วยการหัดเลียนแบบพฤติกรรม คำพูดและการกระทำจากผู้ปกครอง หากผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีก็จะทำให้เด็กจดจำและมีพฤติกรรมที่ดีตามไปด้วย ในทางกลับกัน หากผู้ปกครองชอบพูดเสียงดังโวยวาย ใช้ความรุนแรง พูดคำหยาบ ก็อาจทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดีได้เช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น สื่อโฆษณา โทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอเกม เพื่อนที่โรงเรียน ก็อาจเป็นแบบอย่างให้กับเด็กเช่นกัน ดังนั้น ผู้ปกครองต้องช่วยเด็กเลือกแบบอย่างที่ดีโดยการให้คำแนะนำ เช่น พูดยกตัวอย่างบุคคลใกล้ตัวที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กฟัง สอนให้เด็กสามารถระบุคุณสมบัติของแบบอย่างที่ดีที่เด็กชื่นชม จากนั้นผู้ปกครองอาจให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กเข้าใจมากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งเด็กอาจเจอกับตัวอย่างที่ไม่ดีได้ คำแนะนำเหล่านี้อาจช่วยให้ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับเด็กให้เข้าใจมากขึ้น เช่น

    • การพูดให้เด็กรู้ว่าทุกคนมีทั้งคุณสมบัติที่ดีและไม่ดี ทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้ และหากทำผิดก็ควรขอโทษและเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
    • การถามเด็กว่าคิดอย่างไรกับพฤติกรรมของต้นแบบนี้ และคิดว่าจะทำอะไรให้ต่างจากต้นแบบนี้บ้างในทางสร้างสรรค์เพื่อให้มีพฤติกรรมที่ดี
    • อาจยกตัวอย่างวิธีจัดการกับสถานการณ์ในเชิงบวกให้เด็กฟัง เช่น ช่วยครูถือของหนัก แบ่งขนมให้เพื่อนเพื่อผูกมิตร
    1. การให้เวลากับเด็ก

    การใช้เวลาร่วมกับเด็กเป็นเรื่องที่คุ้มค่า ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัว เนื่องจากเด็กที่ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองมักแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพื่อเรียกร้องความสนใจ เช่น การร้องไห้โวยวาย งอแง และนอนกลิ้งไปกับพื้น ผู้ปกครองควรให้ความสนใจและให้เวลากับเด็ก เช่น การกินข้าวกับเด็กอย่างมีความสุข ออกไปเดินเล่นยามเช้ากับเด็ก ดูการ์ตูนเรื่องที่ชื่นชอบด้วยกัน และสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ง่ายๆว่าได้แง่คิดอะไรจากการ์ตูนเรื่องนี้

    สำหรับในวัยรุ่น แม้พวกเขาจะต้องการความสนใจจากผู้ปกครองน้อยลง เนื่องจากมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยลง และเด็กวัยรุ่นมักต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ผู้ปกครองก็ควรหาเวลาและกิจกรรมที่ทำร่วมกับเด็ก เพื่อความสัมพันธ์ที่ดี เช่น เข้าร่วมงานโรงเรียน ไปดูพวกเขาแข่งกีฬา จัดปาร์ตี้ในครอบครัว เข้าร่วมคอนเสิร์ตกับเด็ก ไปเที่ยวร่วมกันทั้งครอบครัว

    1. การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร

    เด็กอาจไม่เข้าใจในคำสั่งหรือการสื่อสารบางอย่างของผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงควรพยายามสื่อสารหรือให้เหตุผลกับเด็กในคำพูดหรือคำสั่งนั้น ๆ ด้วยความใจเย็น เพื่อให้เด็กเข้าใจในความหมาย และจุดประสงค์ของการสื่อสารให้มากขึ้น รวมถึงให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการตัดสินใจมากขึ้น เช่น การสอนให้เด็กขอโทษเมื่อทำผิด และให้เด็กเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม ว่าจะแก้สถานการณ์เช่นนี้อย่างไรในทางสร้างสรรค์ บางครั้งเด็กอาจไม่เข้าใจว่าทำไมต้องขอโทษและกำลังทำผิดอะไร ผู้ปกครองอาจต้องอธิบายอย่างใจเย็นด้วยความเมตตา ให้เด็กเข้าใจถึงความผิดและข้อดีของการขอโทษ เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าการขอโทษเมื่อทำผิดเป็นการกระทำที่ดี และที่สำคัญ คือ หากทำผิดแล้ว ไม่ทำผิดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ การกระตุ้นให้เด็กคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาที่ทำผิดในทางสร้างสรรค์ จะช่วยลดความรู้สึกการถูกตำหนิ และยังทำให้เด็กมีพลังบวกที่จะแก้ปัญหาเชิงบวกต่อไป

    1. การชื่นชมเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดี

    การให้พลังบวกเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงเด็ก เพราะจะช่วยส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีของเด็กในระยะยาว โดยผู้ปกครองควรชื่นชมหรือให้รางวัลเมื่อเด็กทำสิ่งที่ดีได้ด้วยตนเอง แม้ว่าเด็กยังอาจทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรแต่ผู้ปกครองควรให้คำชื่นชมและกำลังใจมากกว่าการตำหนิในจุดที่ผิดพลาด เช่น กล่าวคำชื่นชมเมื่อเด็กนำจานของตัวเองไปล้างเมื่อกินอาหารเสร็จและอาจสอนถึงการล้างจานให้สะอาดมากขึ้น กล่าวคำชื่นชมเมื่อพี่คนโตช่วยดูแลน้องและสอนการดูแลน้องที่ถูกต้องมากขึ้น ทั้งนี้ อาจมีการตกลงการให้รางวัลเป็นครั้งคราวหากเด็กกระทำสิ่งดีๆได้ตามเป้าหมาย แต่ต้องไม่ใช้การให้รางวัลมาเป็นเงื่อนไขในการทำดี

    1. การส่งเสริมให้เด็กนับถือตนเอง

    น้ำเสียง ภาษากาย และการแสดงออกของผู้ปกครองสำคัญต่อความรู้สึกนับถือตนเองของเด็ก โดยเด็กจะเริ่มซึมซับสิ่งต่าง ๆ รอบตัวตั้งแต่ยังเป็นทารก การยกย่อง ชมเชย ให้ความสนใจกับสิ่งที่เด็กทำจะทำให้พวกเขาภาคภูมิใจ มั่นใจ เชื่อมั่นในตนเอง และคิดแต่เรื่องดี ๆ จะช่วยพัฒนาความสามารถของเด็ก ให้มีแนวโน้มที่จะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดีที่สุดและเพิ่มความนับถือตนเองได้อีกด้วย ตรงกันข้าม หากมองข้ามความสามารถ พูดดูถูก ไม่ชื่นชมกับสิ่งที่พวกเขาทำ ก็อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้ความสามารถ และหมดความนับถือตนเอง จนไม่อยากสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ

    1. การสร้างวินัยให้เด็ก

    ผู้ปกครองควรสอนและสร้างวินัยให้กับเด็ก เพื่อช่วยให้พวกเขาเรียนรู้พฤติกรรมที่ควรกระทำและสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ เช่น

    • เด็กทารกที่ชอบดึงผม ผู้ปกครองอาจพูดว่า “ไม่” ด้วยน้ำเสียงมั่นคง สีหน้ามีเมตตา และสัมผัสมือทารกเบา ๆ เพื่อสื่อว่าไม่ควรทำ
    • เด็กวัยหัดเดิน เป็นช่วงวัยที่ต้องการความเป็นอิสระ เริ่มมีอารมณ์หงุดหงิดและโกรธ อยากเข้าสังคม ผู้ปกครองอาจสร้างวินัยโดยการพูดคุยด้วยเหตุผลง่าย ๆ หรือแสดงท่าทางตำหนิเมื่อเด็กโกรธ ร้องไห้เสียงดังอย่างไม่มีเหตุผล จากนั้นเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กรู้สึกดีขึ้น เช่น หากเด็กหงุดหงิด ร้องไห้งอแงเมื่ออยู่ในบ้าน ผู้ปกครองอาจปลอบให้เด็กสงบ รอคอยเล็กน้อย จากนั้นพาเด็กออกไปนอกบ้านเพื่อให้เด็กรู้สึกอิสระและมีความสุขมากขึ้น
    • เด็กวัยเรียนจะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจพฤติกรรมที่ควรกระทำทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน แต่อาจมีบางเรื่องที่ผู้ปกครองยังต้องสร้างวินัยเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กมีความรับผิดชอบและพฤติกรรมที่ดียิ่งขึ้น เช่น ห้ามดูโทรทัศน์จนกว่าการบ้านจะเสร็จ สอนให้ช่วยทำงานบ้านในวันหยุด ล้างจานของตัวเองเมื่อกินอาหารเสร็จ ไม่อนุญาตให้ล้อเลียนหรือทำร้ายร่างกายผู้อื่น ดูแลจัดการอาบน้ำ แต่งตัวเอง เมื่อทำได้ดีให้ชื่นช
    • การสร้างวินัยให้กับเด็กจำเป็นต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ อย่างสม่ำเสมอ เมื่อเด็กทำไม่ถูกต้องหรือต้องการสร้างวินัยบางอย่างให้เด็กปฏิบัติตาม เพื่อเป็นการย้ำเตือนความจำของเด็กว่าสิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ หรือควรเริ่มทำเมื่อใดและหยุดเมื่อใด และเมื่อเด็กมีวินัยมากขึ้นควรให้รางวัลหรือคำชื่นชมเพื่อให้เด็กรู้สึกว่าอยากทำต่อไป
    1. การแสดงความรัก

    ความรักเป็นสิ่งสำคัญในครอบครัว ความรักช่วยให้เด็กรู้สึกอบอุ่น มีความสุข และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว นอกจากนี้ ความรักในครอบครัวอาจเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เด็กมีกำลังใจมากขึ้นในการใช้ชีวิตและทำสิ่งที่ดี โดยผู้ปกครองอาจแสดงความรักได้หลายรูปแบบ เช่น การกอด การหอมแก้ม การลูบหัว การตบบ่าเบา ๆ การแสดงคำชื่นชม แสดงความภาคภูมิใจในตัวเด็ก การให้กำลังใจ ซึ่งพฤติกรรมและการกระทำที่แสดงถึงความรักเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้นและเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

    1. การยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงดู

    ผู้ปกครองอาจรู้สึกกังวลหรือผิดหวังเมื่อการเลี้ยงเด็กไม่ประสบผลสำเร็จ ในบางกรณีอาจเกิดจากสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก เช่น เด็กเล็กมักชอบสำรวจ หยิบจับสิ่งของ บางสภาพแวดล้อมอาจมีสิ่งของที่เป็นอันตรายจนผู้ปกครองต้องเตือนว่าห้ามหยิบจับสิ่งของตลอดเวลาจนอาจจำกัดการเรียนรู้ของเด็ก ผู้ปกครองควรเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อให้เด็กได้สำรวจและหยิบจับสิ่งของอย่างอิสระ หรืออาจเป็นเพราะวิธีการเลี้ยงอาจยังไม่เหมาะสมกับเด็ก เช่น ผู้ปกครองอาจคิดว่าการเสริมทักษะทางวิชาการอย่างเข้มงวดอาจดีกับเด็กในอนาคต แต่ความจริงแล้วเด็กอาจชื่นชอบและมีความสุขในงานศิลปะมากกว่า ผู้ปกครองอาจต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยเหมาะแก่การเรียนรู้หรือเปลี่ยนวิธีเลี้ยงเด็กใหม่ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ ไม่มีข้อจำกัด เช่น คำสั่งจากผู้ปกครองว่า ไม่ ห้าม อันตราย ข้อจำกัดเหล่านี้อาจจำกัดการเรียนรู้หรืออาจทำให้เด็กรู้สึกต่อต้านได้

    นอกจากนี้ เด็กแต่ละช่วงวัยมักต้องการการเลี้ยงดูที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจธรรมชาติและความต้องการของเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย เช่น เด็กวัยหัดเดินอาจต้องการอิสระในการวิ่งเล่นและสำรวจ ผู้ปกครองจึงควรปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นและเรียนรู้มากกว่าการสั่งให้เด็กหยุดและนั่งเฉย ๆ ส่วนวัยรุ่นอาจรู้สึกอยากอยู่กับเพื่อนมากกว่าผู้ปกครองและต้องการอิสระมากขึ้น ผู้ปกครองอาจต้องปล่อยให้ลูกเป็นอิสระมากขึ้นและทำกิจกรรมครอบครัวในบางช่วงเวลาอย่างการกินอาหารร่วมกันเพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอนงค์พร ผาภูมิ

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 15/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา