backup og meta

เล็บขบเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

เล็บขบเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไรบ้าง

เล็บขบ เป็นภาวะที่เล็บมือหรือเล็บเท้างอกไปเบียดเนื้อข้างเล็บ มักเกิดที่เล็บเท้าบ่อยกว่าเล็บมือ โดยเฉพาะนิ้วหัวแม่เท้า หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่า เล็บขบเกิดจากอะไร เล็บขบอาจเกิดจากเล็บได้รับบาดเจ็บเนื่องจากนิ้วไปกระแทกขอบโต๊ะ มีของหล่นใส่นิ้ว สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่บีบรัดนิ้วเท้ามากเกินไป ตัดเล็บผิดวิธี เป็นต้น อุบัติเหตุหรือพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เนื้อเยื่อรอบเล็บ โดยเฉพาะที่มุมเล็บอักเสบ บวมแดง เกิดเป็นแผล และอาจเป็นหนองหรือติดเชื้อ หากเล็บที่ขบติดเชื้อรุนแรงอาจทำให้เชื้อลุกลามไปที่กระดูก เป็นแผลที่เท้า เกิดเนื้อตาย หรือต้องตัดนิ้วทิ้งได้ จึงควรหมั่นดูแลสุขอนามัยของเล็บมือและเล็บเท้าอยู่เสมอ ตัดเล็บอย่างถูกวิธี และระวังอุบัติเหตุที่อาจส่งผลกระทบต่อเล็บหรือนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเล็บขบ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจตามมา

[embed-health-tool-bmi]

เล็บขบเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้เล็บขบอาจมีดังต่อไปนี้

  • ตัดเล็บมือหรือเล็บเท้าสั้นเกินไป
  • ตัดเล็บเท้าเป็นแนวโค้งแทนที่จะตัดเป็นแนวตรง จึงอาจทำให้เล็บงอกเข้าไปในผิวหนังได้
  • สวมถุงเท้าหรือรองเท้าที่คับแน่นเกินไป หรือสวมรองเท้าที่บีบรัดนิ้ว เช่น รองเท้าส้นสูง
  • บริเวณนิ้วมือหรือนิ้วเท้าได้รับบาดเจ็บจนเกิดแรงกดทับที่เล็บ หรือเล็บได้รับแรงเสียดสีบ่อย ๆ จากอุบัติเหตุหรือกิจกรรม เช่น วิ่ง เตะต่อย นิ้วกระแทกขอบโต๊ะ
  • ไม่ค่อยดูแลรักษาสุขอนามัยนิ้วมือและนิ้วเท้า ทำให้เล็บติดเชื้อรา

นอกจากนี้ ปัจจัยบางประการก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะเล็บขบได้ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นเล็บขบ มีภาวะสุขภาพอย่างโรคเบาหวานที่ทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี

อาการเมื่อเกิดเล็บขบ

อาการเมื่อเกิดเล็บขบ อาจมีดังนี้

  • รู้สึกปวดบริเวณนิ้วที่เป็นเล็บขบ
  • ผิวหนังรอบเล็บอักเสบ
  • หากติดเชื้อ อาจทำให้เกิดอาการบวมแดง มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากผิวหนังบริเวณเล็บ

วิธีรักษาเล็บขบ

วิธีรักษาและบรรเทาอาการเมื่อเป็นเล็บขบ อาจทำได้ดังนี้

  • แช่มือหรือเท้าที่เป็นเล็บขบในน้ำอุ่นประมาณ 15-20 นาที วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อลดอาการบวม
  • ดูแลมือและเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และสวมรองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้มีเหงื่อหรือความชื้นสะสม
  • ทาครีมฆ่าเชื้อ แล้วใช้ผ้าพันแผลพันนิ้วที่เป็นเล็บขบไว้
  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่บีบรัดนิ้วเท้าและอาจทำให้เจ็บเล็บขบมากขึ้น เช่น รองเท้าส้นสูง
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อาจช่วยลดอาการปวดและบวมได้

หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการเล็บขบไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงจนถึงขั้นติดเชื้อ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจมีดังต่อไปนี้

  • คุณหมออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะแบบรับประทานเพื่อรักษาการติดเชื้อบริเวณเล็บ
  • ในกรณีที่เล็บขบไม่รุนแรงและไม่มีหนอง คุณหมออาจใช้วิธียกเล็บเพื่อปรับให้เล็บอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  • คุณหมออาจตัดเล็บที่ติดเชื้อบางส่วนออก โดยเริ่มจากฉีดยาชาที่โคนนิ้ว รอยาชาออกฤทธิ์ แล้วจึงตัดเล็บที่ฝังเข้าไปในผิวหนังออก
  • ในกรณีที่ติดเชื้อรุนแรง เป็นหนองหรือบวมแดงเลือดออก อาจต้องถอดเล็บที่ติดเชื้อออกทั้งเล็บ จากนั้นจึงทายาฆ่าเชื้อและพันแผลเอาไว้จนกว่าแผลจะหายสนิท ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 4 เดือน เล็บจึงจะงอกกลับมาใหม่อย่างสมบูรณ์

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเล็บขบ

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเล็บขบ สามารถทำได้ดังนี้

  • ตัดเล็บเท้าเป็นแนวตรงอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการตัดเล็บให้โค้งตามรูปร่างของนิ้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้อที่มุมข้างเล็บ ส่วนนิ้วมือให้ตัดเล็บโค้งตามรูปเล็บ โดยไม่ให้เล็บชิดติดขอบเนื้อมากเกินไป และควรตะไบเล็บให้มนเพื่อป้องกันเล็บขบ
  • สวมรองเท้าที่พอดีกับความยาวและความกว้างของเท้า เพื่อไม่ให้รองเท้าบีบนิ้วเท้า อาจช่วยป้องกันไม่ให้เล็บงอกเข้าไปในเนื้อเยื่อด้านข้างเล็บได้
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ควรใส่ใจสุขภาพของเท้าอยู่เสมอ เนื่องจากโรคนี้มักส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดีนัก และอาจติดเชื้อบริเวณเท้าได้ง่าย
  • สำหรับผู้ที่ทำกิจกรรมที่เสี่ยงเกิดการบาดเจ็บที่เท้า ควรเลือกสวมรองเท้าที่ช่วยป้องกันเท้า เช่น รองเท้าหัวเหล็ก (Steel Toe) อาจช่วยป้องกันเล็บขบได้

เล็บขบแบบไหนควรไปพบคุณหมอ

หากเล็บขบไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือมีอาการแย่ลง เช่น รู้สึกเจ็บปวดหรือไม่สบายนิ้วเท้าอย่างรุนแรง บริเวณเล็บมีหนองหรือผิวหนังอักเสบที่ดูเหมือนจะลุกลาม ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะหากมีโรคประจำตัวที่อาจทำให้เล็บขบหายได้ยาก เช่น โรคเบาหวานหรืออาการอื่น ๆ ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงเท้าไม่ดี เจ็บเท้าบ่อย เล็บติดเชื้อง่าย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Ingrown Nails: Symptoms, Treatments, and Prevention. https://www.webmd.com/skin-problems-and-treatments/understanding-ingrown-nail-basics. Accessed June 15, 2022

Ingrown toenails. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/ingrown-toenails/symptoms-causes/syc-20355903. Accessed June 15, 2022

Ingrown Toenails. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17664-ingrown-toenails. Accessed June 15, 2022

Ingrown toenail. https://www.nhs.uk/conditions/ingrown-toenail/. Accessed June 15, 2022

Ingrown toenails. https://www.healthdirect.gov.au/ingrown-toenails. Accessed June 15, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

17/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

เล็บเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

ผ่าตัดเล็บขบ (Ingrown Toenail Surgery)


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงภัทรีวัลย์ โรจนพันธุ์

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลวิภาวดี



เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 17/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา