backup og meta

เล็บเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    เล็บเป็นเชื้อรา สาเหตุ อาการ วิธีรักษาและวิธีดูแลตัวเอง

    เล็บเป็นเชื้อรา เป็นโรคที่พบได้ทั้งที่เล็บมือและเล็บเท้า โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อราหรือยีสต์ ทำให้เล็บที่ติดเชื้อมีอาการผิดปกติ เช่น เล็บหนา มีขุย เล็บบิดเบี้ยว โดยทั่วไปพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เล็บเป็นเชื้อราสามารถรักษาได้ด้วยการทายาต้านเชื้อราหรือรับประทานยาต้านเชื้อรา หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเล็บที่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง เช่น ลามมากขึ้น เนื้อเล็บถูกทำลาย ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วเพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมกับอาการมากที่สุด

    เล็บเป็นเชื้อรา เกิดจากอะไร

    เล็บเป็นเชื้อรา (Onychomycosis) เป็นการติดเชื้อบริเวณเล็บมือและเล็บเท้า อาจเกิดจากการติดเชื้อราและยีสต์ ที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยชนิดของเชื้อราที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่ เชื้อกลากแท้ (Dermatophytes) เชื้อกลากเทียม (non-dermatophytes) รวมไปถึงเชื้อยีสต์ (Yeasts) โดยเฉพาะเชื้อแคนดิดา (Candida) เมื่อเชื้อโรคเหล่านี้เข้าไปในเล็บอาจทำให้เล็บเป็นเชื้อราได้ โดยพบในเล็บเท้าได้บ่อยกว่าเล็บมือ เนื่องจากเชื้อราเจริญเติบโตได้ดีในที่มืดและอบอุ่น เล็บเท้าจึงเสี่ยงเกิดเชื้อราได้มากกว่า นอกจากนี้บริเวณเท้ายังมีการไหลเวียนของโลหิตน้อยกว่ามือ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายป้องการติดเชื้อได้น้อยกว่า ผู้ที่เล็บเท้าเป็นเชื้อรา อาจจะมีเล็บขบติดเชื้อ หรือมีโรคผิวหนังติดเชื้อที่เรียกว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต (Athlete’s Foot) ร่วมด้วย

    อาการของเล็บเป็นเชื้อรา

    เล็บเป็นเชื้อราอาจมีอาการดังนี้

    • เล็บหนาขึ้น และตัดเล็มได้ยาก
    • เล็บเปราะ แตกง่าย
    • เล็บมีรูปร่างบิดเบี้ยว
    • เล็บมีกลิ่นเหม็น
    • เล็บเปลี่ยนสีไปเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล หรือสีขาว
    • เล็บมีสีเข้ม อาจเกิดจากสิ่งสกปรกที่สะสมอยู่ใต้เล็บ

    ปัจจัยเสี่ยงทำให้ เล็บเป็นเชื้อรา

    ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดเชื้อราที่เล็บ มีดังนี้

    • มีออายุ 60 ปีขึ้นไป
    • เป็นโรคเบาหวาน
    • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • มีปัญหาระบบไหลเวียนโลหิต
    • เป็นโรคน้ำกัดเท้า
    • มีเหงื่อมาก หรือมีภาวะเหงื่อออกมือมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)
    • สวมถุงมือเป็นประจำ หรือทำกิจกรรมที่ทำให้มือและเท้าเปียกเป็นเวลานาน
    • เดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะ เช่น ห้องอาบน้ำที่ฟิตเนส สระว่ายน้ำ

    วิธีการรักษา เล็บเป็นเชื้อรา

    การรักษาเล็บเป็นเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้

    • ใช้ยาต้านเชื้อราเฉพาะที่ ได้แก่ ยาเอฟินาโคนาโซล (Efinaconazole) ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) เป็นวิธีการรักษาในกรณีที่ติดเชื้อไม่รุนแรง โดยใช้ยาทาบริเวณเล็บที่ติดเชื้อราเป็นประจำ และอาจใช้ร่วมกับการรับประทานยาต้านเชื้อรา
    • ใช้ยาต้านเชื้อราชนิดรับประทาน ได้แก่ ยาเทอร์บินาฟีน (Terbinafine) ยากลุ่มเอโซล (Azoles) สามารถใช้ฆ่าเชื้อราได้ทั้งร่างกาย ถือว่าเป็นวิธีฆ่าเชื้อราที่มีประสิทธิภาพที่สุด การรักษาอาจใช้เวลา 3 เดือนสำหรับเล็บมือ และ 4 เดือนสำหรับเล็บเท้า
    • การถอดเล็บ หากรักษาด้วยยาต้านเชื้อราแล้วไม่ได้ผล อาจต้องถอดเล็บออกและรอให้เล็บที่แข็งแรงกว่างอกขึ้นมาใหม่ หลังถอดเล็บ การติดเชื้อราอาจยังไม่หายทันที และจำเป็นต้องรักษาด้วยการใช้ยาร่วมด้วยจนกว่าเล็บจะหายติดเชื้อ
    • การรักษาด้วยวิธีการอื่น เช่น การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เป็นวิธีการรักษาที่ยังใหม่แต่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

    การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันเล็บเป็นเชื้อรา อาจทำได้ดังนี้

    • ล้างมือและเท้าให้สะอาด จากนั้นซับให้แห้ง โดยเฉพาะเมื่อสัมผัสกับสิ่งเสี่ยงติดเชื้อ หรือเล็บติดเชื้อ
    • หลีกเลี่ยงการกัดเล็บมือ เพราะอาจทำให้เป็นแผล และเสี่ยงติดเชื้อราหรือเชื้ออื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งจากน้ำลาย และการสัมผัสสิ่งสกปรก
    • ตัดเล็บให้สั้นเพื่อรักษาความสะอาดของเล็บและป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปสะสม โดยอาจตัดเล็บมือให้โค้งไปตามรูปนิ้ว อย่าตัดจนชิดเนื้อจนเกินไป จากนั้นตะไบเพื่อลบเหลี่ยมคมเล็บ เพื่อทำให้เล็บแข็งแรงและป้องกันไม่ให้ไปเกี่ยวเฟอร์นิเจอร์หรือเสื้อผ้า ส่วนเล็บเท้าให้ตัดเป็นทรงตรงและไม่สั้นจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดเล็บขบ จากนั้นตะไบให้ขอบเล็บเรียบ และควรทำความสะอาดที่ตัดเล็บและตะไบทุกครั้งหลังใช้งาน
    • ควรสวมถุงมือทุกครั้ง หากต้องสัมผัสสารเคมีรุนแรง เช่น น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก น้ำยาย้อมผม พยายามอย่าสัมผัสสารเคมีเหล่านี้โดยตรง
    • ไม่แคะ แกะ หรือทำความสะอาดบริเวณใต้เล็บบ่อยเกินไปหรือรุนแรงเกินไป
    • หากติดเล็บปลอม ให้ติดและถอดเล็บปลอมอย่างระมัดระวังและทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต
    • ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์บริเวณมือและเล็บให้ทั่ว เพื่อให้ผิวชุ่มชื้น ป้องกันผิวแห้ง แตก ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
    • ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
    • สวมถุงเท้าดูดซับเหงื่อ และควรเปลี่ยนถุงเท้าหากเท้าเปียกชื้น
    • ใส่รองเท้าที่กระชับพอดี และมีพื้นที่ให้อากาศถ่ายเท
    • ซักทำความสะอาดถุงเท้าทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่ควรใช้ถุงเท้าซ้ำ
    • ซักทำความสะอาดรองเท้าบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อรองเท้าเปียกชื้น หากยังไม่สะดวกซักรองเท้า ควรนำรองเท้าไปผึ่งแดดหรือผึ่งลมให้แห้งสนิท จึงค่อยนำมาใส่อีกครั้ง

    เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

    เล็บเป็นเชื้อราสามารถรักษาได้โดยการรับประทานยาหรือทายาต้านเชื้อราตามอาการ เมื่อสงสัยว่าเป็นเชื้อรา ควรไปพบคุณหมอเพื่อรักษาให้หายโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หากสังเกตเห็นความผิดปกติของเล็บ ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว  เพราะหากติดเชื้อ เป็นแผลลุกลาม หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นต้องตัดอวัยวะได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา