backup og meta

รางจืด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

รางจืด ประโยชน์และข้อควรระวังในการบริโภค

รางจืด เป็นพืชสมุนไพรที่คนไทยใช้เป็นยาพื้นบ้านในการรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่มักใช้ในการช่วยล้างพิษในร่างกาย เนื่องจาก รางจืดอาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพและต้านการอักเสบ นอกจากนี้ รางจืดยังอาจมีคุณสมบัติช่วยรักษาบาดแผล ปกป้องตับ ป้องกันโรคเบาหวานและป้องกันโรคมะเร็งได้อีกด้วย

ประโยชน์ของรางจืดที่มีต่อสุขภาพ

รางจืด เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนสรรพคุณของรางจืดในการส่งเสริมสุขภาพ ดังนี้

  1. อาจช่วยขับสารพิษ

รางจืดอาจมีฤทธิ์กระตุ้นกระบวนการขับสารพิษในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Thai Journal of Toxicology เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประโยชน์ของรางจืดที่เกี่ยวกับการทำงานของเอนไซม์ต่อการขับสารพิษในลำไส้ พบว่า รางจืดอาจมีคุณสมบัติยับยั้งเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของสารพิษในร่างกาย และกระตุ้นการทำงานของพี ไกลโปรตีน (P-Glycoprotein) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการขับสารพิษในร่างกาย ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของรางจืดในการขับสารพิษ

  1. อาจช่วยรักษาโรคเบาหวาน

รางจืดเป็นพืชสมุนไพรที่อาจช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ตับอ่อนที่ช่วยในการหลั่งอินซูลิน เพื่อช่วยเผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้เป็นพลังงาน ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน The Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 ศึกษาเกี่ยวกับฤทธิ์ต้านเบาหวานของสารสกัดจากน้ำใบรางจืด พบว่า การบริโภคสารสกัดจากน้ำใบรางจืด 60 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร/วัน ช่วยกระตุ้นเซลล์ในตับอ่อน (β-Cells) ในการหลั่งอินซูลินมากขึ้นเพื่อเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด จึงส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงและดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของรางจืดในการลดระดับน้ำตาลในเลือด

  1. อาจช่วยในการรักษาบาดแผล

รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้เป็นยาแก้พิษและขับสารพิษที่อาจช่วยรักษาบาดแผลได้ โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Journal of Advanced Pharmaceutical Technology & Research เมื่อเดือนกรกฎาคม-กันยายน พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับการรักษาบาดแผลไฟไหม้ของสารสกัดรางจืด พบว่า รางจืดเป็นยารักษาบาดแผล ต้านการอักเสบ โดยการทาเจลรางจืดลงบนผิวอาจช่วยให้แผลไฟไหม้หายดี เนื่องจาก เจลรางจืดช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของผิวบาดแผลโดยการลดระยะการอักเสบ เพิ่มปริมาณคอลลาเจน กระตุ้นการเพิ่มจำนวนและการเกิดใหม่ของคอลลาเจนและอิลาสติน (Ellastin) ในการรักษาบาดแผล ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของรางจืดในการรักษาบาดแผล

  1. อาจมีฤทธิต้านจุลชีพ

รางจืดอาจมีสารประกอบหลายชนิด เช่น อนุพันธ์เดลฟีนิดิน (Delphinidin) กรดฟีนอลิกของคลอโรจีนิก (Phenolic Acids of Chlorogenic) กรดคาเฟอิก (Caffeic Acid)  ที่อาจมีฤทธิ์ช่วยต้านจุลชีพและส่งเสริมสุขภาพในด้านอื่น ๆ เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ล้างพิษ ต้านเบาหวาน โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน Pharmacognosy Journal เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศึกษาเกี่ยวกับสารพฤกษเคมีและคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาของรางจืด พบว่า สารประกอบในรางจืดหลายชนิด เช่น อนุพันธ์เดลฟีนิดิน กรดฟีนอลิกของคลอโรจีนิก กรดคาเฟอิก แกลลิก (Gallic) โปรโตคาเทจูอิก (Protocatechuic) อาจมีคุณสมบัติที่ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ต้านอนุมูลอิสระ ต้านจุลชีพ ต้านเนื้องอก ปกป้องตับ ต้านการอักเสบ ล้างพิษ ต้านเบาหวาน

  1. อาจช่วยป้องกันมะเร็ง

รางจืดมีสารประกอบหลายชนิด เช่น ฟีนอล (Phenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารไพโรกัลลอล (Pyrogallol) กรดคาเฟอิก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยต้านการอักเสบของร่างกาย และยังช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์มาโครฟาจ (Macrophage Cells) ที่อาจช่วยกำจัดเซลล์มะเร็งในร่างกาย โดยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ใน International Food Research Journal เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 ศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของสารสกัดจากใบน้ำรางจืด พบว่า รางจืดมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระและเป็นยาแก้พิษ โดยสารประกอบที่ได้จากสารสกัดจากน้ำใบรางจืด เช่น ฟีนอล ฟลาโวนอยด์ แทนนิน (Tannin) สเตอรอล (Sterols) มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ นอกจากนี้ ยังพบสารประกอบอย่างสารไพโรกัลลอล กรดคาเฟอิก กรดโรสมารินิก (Rosmarinic Acid) และสารประกอบรูติน (Rutin) ที่ช่วยลดการผลิตไนตริกออกไซด์ (Nitric Oxide หรือ NO) ซึ่งเป็นสารในร่างกายที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและกระตุ้นการหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่สำคัญต่อวัยหนุ่มสาว ช่วยชะลอความแก่ชรา  และเพิ่มจำนวนเซลล์มาโครฟาจ (Macrophage Cells) ที่มีหน้าที่กำจัดเซลล์ที่ผิดปกติในร่างกาย เช่น เซลล์มะเร็ง จุลินทรีย์

ข้อควรระวังในการบริโภครางจืด

ข้อควรระวังในการบริโภคสมุนไพรรางจืด อาจมีดังนี้

  • ผู้ป่วยเบาหวานอาจต้องระมัดระวังในการบริโภครางจืด เนื่องจากรางจืดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด จึงอาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืดบางคนอาจมีอาการแพ้รางจืดจนส่งผลต่อระบบททางเดินหายใจ แต่หากมีอาการแพ้ไม่มากก็อาจมีผื่นแดงและอาการคันตามผิวหนัง ดังนั้น ควรปรึกษาคุณหมอก่อนบริโภครางจืด

[embed-health-tool-bmr]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Phytochemistry and Pharmacological Properties of Thunbergia laurifolia: A Review. https://www.researchgate.net/publication/257435499_Phytochemistry_and_Pharmacological_Properties_of_Thunbergia_laurifolia_A_Review. Accessed April 11, 2022

ANTI-DIABETIC EFFECT OF THUNBERGIA LAURIFOLIA LINN.

AQUEOUS EXTRACT. https://www.tm.mahidol.ac.th/seameo/2004-35-suppl-2/35sup2-53.pdf. Accessed April 11, 2022

Effect of Thunbergia laurifolia Lindl. on Cytochrome P450 and P-glycoprotein Activity and The Efflux of Malathion in Everted Intestine. https://li01.tci-thaijo.org/index.php/ThaiJToxicol/article/view/244118. Accessed April 11, 2022

Evaluation of wound healing activity of Thunbergia laurifolia supercritical carbon dioxide extract in rats with second-degree burn wounds. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26317073/. Accessed April 11, 2022

Efficacy of Thunbergia laurifolia (Rang Jued) aqueous leaf extract for specific biological activities using RAW 264.7 macrophage cells as test model. https://www.researchgate.net/publication/322447085_Efficacy_of_Thunbergia_laurifolia_Rang_Jued_aqueous_leaf_extract_for_specific_biological_activities_using_RAW_2647_macrophage_cells_as_test_model. Accessed April 11, 2022

รางจืด สมุนไพรแก้พิษและล้างพิษ. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/. Accessed April 11, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/04/2022

เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย

อัปเดตโดย: ทัตพร อิสสรโชติ


บทความที่เกี่ยวข้อง

ขี้เหล็ก ข้อมูลโภชนาการ ประโยชน์ และข้อควรระวัง

ข้าวโอ๊ต คุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์สุขภาพ


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 26/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา