สำหรับผู้ที่มีคนในครอบครัวหรือตัวเองเป็นโรคเบาหวาน อาจสงสัยว่า เป็น เบาหวานกินลูกชิ้นได้ไหม ซึ่งในความจริงแล้วสามารถกินได้ แต่ต้องเลือกลูกชิ้นที่ผลิตมาจากเนื้อสัตว์แท้ ไม่ผสมแป้ง (หรือผสมแต่น้อย) น้ำตาลหรือผงปรุงรสอื่น ๆ ที่อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดและไขมันสูงขึ้น นอกจากนี้ ควรจำกัดปริมาณการรับประทานเพื่อควบคุมโรคเบาหวาน และป้องกันโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
[embed-health-tool-bmi]
ไขข้อสงสัยเป็น เบาหวานกินลูกชิ้นได้ไหม
โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกรับประทานอาหารได้เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะอาหารที่มาจากธรรมชาติ ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือปรุงแต่งน้อย เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง เนื้อปลา ธัญพืช ผัก ผลไม้ และควรควรหลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่ผ่านการแปรรูปสูง เช่น อาหารทอด อาหารมัน อาหารที่มีไขมันสูง เบเกอรี่ น้ำหวาน เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เพราะอาจเสี่ยงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงและส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้
หลายคนอาจทราบกันดีว่า ลูกชิ้น เป็นอาหารแปรรูปชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของแป้งเป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับมี ผงปรุงรส น้ำตาล ไขมัน และเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ อาจมีสารอื่น ๆ เช่น สารบอแรกซ์ สีผสมอาหาร สารกันบูด โซเดียม ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานลูกชิ้นเป็นประจำ เพราะอาจเสี่ยงเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอลสูง จนเป็นผลเสียต่อสุขภาพได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีอาหารเพื่อสุขภาพมากมายให้เลือกบริโภค ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกซื้อลูกชิ้นจากผู้ผลิตที่ไว้ใจได้ โดยสังเกตจากฉลากเพื่อสุขภาพหน้าบรรจุภัณฑ์ รวมถึงควรอ่านฉลากทุกครั้งเพื่อดูส่วนผสมของลูกชิ้นที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง ไม่มีส่วนผสมของแป้ง น้ำตาล โซเดียม และสารเคมีที่เป็นอันตราย
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรรับประทาน
อาจไม่มีปริมาณของลูกชิ้นที่แนะนำอย่างชัดเจน แต่ผู้ป่วยเบาหวานควรแบ่งสัดส่วนของอาหารที่รับประทานใน 1 วันให้พอดี รวมถึงควรรับประทานอาหารให้หลากหลายครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วน โดยอาจยกตัวอย่างเป็นสัดส่วนง่าย ๆ ดังนี้
- คาร์โบไฮเดรต ¼ จาน โดยเน้นเลือกเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เมล็ดพืช ขนมปังโฮลวีท
- โปรตีน ¼ จาน เช่น เนื้อสัตว์ไม่ติดมันและหนัง เนื้อปลา ไก่ นม ถั่ว ผลิตภัณฑ์จากนม เต้าหู้
- ผัก ½ จาน สามารถกินผักได้ทุกชนิดทั้งผักสดและผักที่ผ่านการปรุงสุก
- ผลไม้ 1 ส่วน (ประมาณ 1 จานรองแก้วกาแฟ) เลือกผลไม้ที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเป็นหลัก เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอ ชมพู่ ส้ม
อาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง
นอกจากจะมีอาหารที่ผู้ที่เป็นเบาหวานควรเลือกรับประทานแล้ว ยังมีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยง หรือ บริโภคแต่น้อย เพราะนอกจากจะเสี่ยงในการเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดแล้วยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ด้วย โดยอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้
- อาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น ลูกอม เค้ก คุกกี้ ขนมไทย ลูกกวาด ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำผลไม้เติมน้ำตาล กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง
- อาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมันและหนัง อาหารทอด อาหารมัน มันฝรั่งทอด ขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- อาหารที่มีเกลือและโซเดียมสูง เช่น อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป