backup og meta

วิธีรักษาผิวหนังอักเสบ ด้วย ตัว เอง ทำได้อย่างไรบ้าง

วิธีรักษาผิวหนังอักเสบ ด้วย ตัว เอง ทำได้อย่างไรบ้าง

ผิวหนังอักเสบ (Dermatitis) เป็นกลุ่มโรคที่ทำให้ผิวหนังระคายเคืองจนมักนำไปสู่อาการคัน ผิวแห้งลอก ผื่นแดง แผลพุพอง เป็นต้น ผิวหนังอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเป็น ๆ หาย ๆ จนกระทบการใช้ชีวิตประจำวันได้ วิธีรักษาผิวหนังอักเสบ ด้วย ตัว เอง อาจทำได้ด้วยการใช้มอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ช่วยให้ผิวชุ่มชื้น ไม่อาบน้ำนานเกินไป งดอาบน้ำอุ่นหรือน้ำร้อน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมและสิ่งกระตุ้นอาการแพ้ ทั้งนี้ หากดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วอาการผิวหนังอักเสบไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบคุณหมอผิวหนังเพื่อรับการรักษาอย่างตรงจุด

[embed-health-tool-bmi]

ผิวหนังอักเสบ คืออะไร

ผิวหนังอักเสบ เป็นโรคผิวหนังชนิดไม่ติดต่อที่เกิดจากการอักเสบของชั้นผิว จนส่งผลให้มีอาการคัน ระคายเคือง มีผื่นแดง ผิวแห้ง ผิวหนังพุพอง ผิวตกสะเก็ด เป็นต้น สาเหตุโดยทั่วไปของผิวหนังอักเสบ คือ สัมผัสกับสารระคายเคืองหรือสารกระตุ้นอาการแพ้ เช่น น้ำหอม เครื่องสำอาง ควัน ฝุ่นละออง ขนสัตว์ และอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น ผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่าย ปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม การติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย

โรคหนังอักเสบที่พบได้บ่อย เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) เซ็บเดิร์มหรือผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) สะเก็ดเงิน (Psoriasis) ผื่นผ้าอ้อม (Diaper rash) โดยสาเหตุ อาการแสดง รวมไปถึงความรุนแรงของอาการจะแตกต่างไปตามชนิดของโรค

ปัจจัยเสี่ยงของผิวหนังอักเสบ

ปัจจัยเสี่ยงของผิวหนังอักเสบ อาจมีดังนี้

  • อายุ ผิวหนังอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในทารก ส่วนสะเก็ดเงินมักพบในผู้ใหญ่
  • โรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืด อาจเสี่ยงเกิดผิวหนังอักเสบได้มากกว่าคนทั่วไป
  • สภาพแวดล้อม หากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น สารเคมี มลภาวะ น้ำหอม อาหารอาจทำให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบได้
  • ภาวะสุขภาพ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคพาร์กินสัน การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคผิวหนังอักเสบอย่างเซ็บเดิร์มได้
  • ความเครียด อาจทำให้อาการผิวหนังอักเสบกำเริบและแย่ลงได้ เนื่องจากความเครียดจะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลที่ส่งผลต่อการทำงานของต่อมไขมัน ทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป จนมีน้ำมันส่วนเกินและเกิดผิวหนังอักเสบ

อาการผิวหนังอักเสบ

อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปตามชนิดของโรคผิวหนังอักเสบที่เป็น เช่น

  • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Eczema) อาจทำให้ผิวแห้งเป็นขุย คัน ระคายเคือง บางรายอาจผิวแห้งมากจนผิวหนังแตกจนทำให้เจ็บหรือเลือดออก
  • ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact dermatitis) อาจทำให้มีผื่นแดง รอยแดง บวม ผิวแห้งแตกหรือเป็นขุย ตามบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้
  • เซ็บเดิร์มหรือผื่นแพ้ต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังที่พบได้บ่อยบริเวณหนังศีรษะ และบริเวณอื่น ๆ ที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า จมูก คิ้ว ใบหู หน้าอก ขาหนีบ อาจทำให้มีรังแคเรื้อรัง ผิวหนังเป็นขุยหรือสะเก็ด ผื่นแดง ระคายเคือง
  • สะเก็ดเงิน (Psoriasis) อาจทำให้เกิดผื่นแดงมีขุยสีขาวหนาเป็นหย่อมๆ ขึ้นกระจายตามผิวหนังที่ติดเชื้อ ซึ่งมักเป็นผิวหนังบริเวณที่ถูกเสียดสีบ่อย ๆ เช่น หนังศีรษะ ไรผม ศอก เข่า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ทั้งยังอาจทำให้ผิวแห้ง แตก เลือดออก คัน แสบร้อนด้วย
  • ผื่นผ้าอ้อม (Diaper rash) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่มักพบในทารก ซึ่งเป็นวัยที่ต้องสวมผ้าอ้อมเป็นเวลานาน ความอับชื้นอาจทำให้เกิดผดแดง ผื่นคัน ระคายเคือง บริเวณก้น ต้นขา และอวัยวะเพศของทารก

วิธีรักษาผิวหนังอักเสบ ด้วย ตัว เอง

วิธีรักษาผิวหนังอักเสบ ด้วย ตัว เอง โดยทั่วไป อาจทำได้ดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาแก้คัน กลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน (Antihistamine) เช่น เซทิริซีน (Cetirizine) เฟกโซเฟนาดีน (Fexofenadine) อาจช่วยบรรเทาอาการคันที่เกิดจากผิวหนังอักเสบได้
  • ใช้ยาแก้อักเสบ เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์เฉพาะที่ (Topical corticosteroids) ชนิดครีมและขี้ผึ้ง อาจช่วยลดอาการบวมและรอยแดงที่เกิดขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ผิวแห้ง เช่น ไม่อาบน้ำนานเกิน 5-10 นาที หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อนจัดเพราะจะทำให้ผิวสูญเสียความชุ่มชื้นและยิ่งแห้ง ทามอยส์เจอร์ไรเซอร์ที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวทันทีหลังอาบน้ำเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้หรือสิ่งกระตุ้นอาการผิวหนังอักเสบ เช่น ขนสัตว์ ฝุ่น น้ำหอม สารเคมี ความร้อน สภาพอากาศเย็นและแห้ง เครื่องสำอาง
  • งดแกะเกาผิวหนังบริเวณที่คัน ระคายเคือง อักเสบ เพราะอาจทำให้อาการแย่ลงหรือเชื้อลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้
  • ความเครียดอาจกระตุ้นให้อาการโรคผิวหนังอักเสบกำเริบหรือแย่ลงได้ จึงควรคลายเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ ควบคุมอารมณ์เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่กดดันด้วยการสูดหายใจเข้าออกลึก ๆ แล้วนับ 1-10 ยอมรับว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ปรึกษาและพูดคุยกับเพื่อน ครอบครัว หรือจิตแพทย์เกี่ยวกับปัญหาหรือความคิดที่ทำให้เครียด
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนน้อยทำให้ผื่นต่างๆกำเริบได้

ทั้งนี้ โรคผิวหนังอักเสบแต่ละชนิดอาจมีวิธีรักษาและดูแลที่แตกต่างกัน จึงควรเข้าพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่เจาะจงและให้คุณหมอวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับอาการมากที่สุด โดยเฉพาะหากผิวหนังอักเสบรุนแรงหรือเรื้อรัง

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากรักษาด้วยตัวเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลง หรือมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • อาการผิวหนังอักเสบส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น คันหรือปวดแสบผิวหนังจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้
  • มีสัญญาณของภาวะผิวหนังติดเชื้อ เช่น เกิดผื่นบวมแดง มีแผลพุพอง มีหนองไหลซึมออกมา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dermatitis. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dermatitis-eczema/symptoms-causes/syc-20352380#:~:text=Dermatitis%20is%20a%20general%20term,ooze%2C%20crust%20or%20flake%20off. Accessed November 22, 2022

Dermatitis. https://my.clevelandclinic.org/health/articles/4089-dermatitis. Accessed November 22, 2022

Atopic eczema. https://www.nhs.uk/conditions/atopic-eczema/. Accessed November 22, 2022

Atopic dermatitis. https://dermnetnz.org/topics/atopic-dermatitis. Accessed November 22, 2022

Atopic Dermatitis. https://www.niams.nih.gov/health-topics/atopic-dermatitis. Accessed November 22, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

03/01/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา สาเหตุ อาการ และการรักษา

ผิวหนังอักเสบ (Eczema หรือ Dermatitis) สาเหตุ อาการ วิธีรักษา


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 03/01/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา