backup og meta

มอยเจอร์ไรเซอร์ ประโยชน์และวิธีเลือกให้เหมาะกับผิว

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    มอยเจอร์ไรเซอร์ ประโยชน์และวิธีเลือกให้เหมาะกับผิว

    มอยเจอร์ไรเซอร์ (Moisturizer) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดอาการผิวแห้ง ลอกเป็นขุย คันและระคายเคือง โดยการเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นในผิว ทำให้ผิวแข็งแรง อ่อนนุ่มและอิ่มน้ำ อย่างไรก็ตาม มอยเจอร์ไรเซอร์แต่ละชนิดอาจมีเนื้อสัมผัสและองค์ประกอบที่แตกต่างกัน รวมถึงสภาพผิวของแต่ละคนก็แตกต่างกัน ดังนั้น การเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับสภาพผิวจึงเป็นวิธีที่จะช่วยให้มอยเจอร์ไรเซอร์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    มอยเจอร์ไรเซอร์ คืออะไร

    มอยเจอร์ไรเซอร์ คือ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีคุณสมบัติให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้น ทำให้ผิวนุ่มและอิ่มน้ำมากขึ้น ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพและป้องกันการสร้างน้ำมันส่วนเกินบนผิวหนัง ทั้งยังปกป้องผิวจากปัญหาผิวแห้งกร้าน ลอกเป็นขุย คันและระคายเคือง โดยมอยเจอร์ไรเซอร์อาจมีหลายเนื้อสัมผัสและหลายประเภท เช่น ครีม ขี้ผึ้ง โลชั่น สูตรน้ำ สูตรน้ำมัน ซึ่งอาจเหมาะสมกับสภาพผิวที่แตกต่างกันไป

    ประโยชน์ของมอยเจอร์ไรเซอร์

    การใช้มอยเจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับสภาพผิวเป็นประจำอาจให้ประโยชน์ต่อผิว ดังนี้

    • ช่วยเพิ่มและกักเก็บความชุ่มชื้นภายในผิว ทำให้ผิวดูอิ่มน้ำ อ่อนนุ่ม ชุ่มชื้นและเรียบเนียนมากขึ้น
    • ช่วยปกป้องผิวจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น อากาศแห้ง เย็น ซึ่งอาจส่งผลทำให้ผิวแห้งกร้าน ผิวแตก ลอก คันและระคายเคือง ทั้งยังอาจช่วยป้องกันปัญหาผิวขาดน้ำ
    • ช่วยผลัดเซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพ ส่งผลทำให้ผิวมีความสม่ำเสมอและเรียบเนียนมากขึ้น
    • ช่วยลดเลือนริ้วรอยและความเหี่ยวย่น สำหรับมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีส่วนผสมของวิตามินเออาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนที่เป็นโครงสร้างของผิวหนัง ทำให้ผิวแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

    วิธีเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับผิว

    การเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ให้เหมาะกับสภาพผิวของแต่ละคน อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของมอยเจอร์ไรเซอร์ในการบำรุงผิวได้ ดังนี้

    • สภาพผิวปกติ เป็นลักษณะของผิวที่แข็งแรง มีความสมดุลของน้ำมันและความชุ่มชื้นบนผิว ควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภทเนื้อครีมหรือเจลที่มีความบางเบา ที่อาจมีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic Acid) ไดเมทิโคน (Dimethicone) ว่านหางจระเข้ และกลีเซอรีน (Glycerin)
    • สภาพผิวผสม เป็นลักษณะของผิวผสมระหว่างผิวแห้งกับผิวมัน โดยผิวอาจแห้งและมันบางบริเวณ เช่น ผิวอาจมันมากบริเวณทีโซน (T-Zone) หน้าผาก จมูก คาง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผิว เช่น รูขุมขนกว้าง สิวอุดตัน ที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะจุด จึงควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภทที่มีความบางเบาทาในบริเวณทีโซน ซึ่งเป็นบริเวณที่ผิวมัน และประเภทครีมที่มีความหนักกว่าในส่วนที่ผิวแห้ง โดยอาจมีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และทีทรีออยล์ (Tea Tree Oils) ที่มีส่วนช่วยในการผลัดเซลล์ผิว ลดความมันในบริเวณที่ผิวมัน และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในบริเวณที่ผิวแห้ง
    • สภาพผิวแห้ง เป็นลักษณะของผิวที่ขาดความชุ่มชื้น ส่งผลทำให้ผิวดูหมองคล้ำ แห้ง แตก ลอก ผิวตึงและขาดความยืดหยุ่น ควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภทน้ำมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ซึ่งอาจมีส่วนผสมของกรดไฮยาลูโรนิก ไดเมทิโคน (Dimethicone) ลาโนลิน (Lanolin) น้ำมันแร่ (Mineral Oil) พาราฟินเหลว (Liquid Paraffin) ปิโตรลาทัม (Petrolatum) โพรพิลีน ไกลคอล (Propylene Glycol) ยูเรีย (Urea) โจโจ้บาออยล์ (Jojoba Oil) น้ำมันอัลมอนด์ น้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันเมล็ดองุ่น เชียบัตเตอร์ (Shea Butter) ขี้ผึ้ง (Beeswax Cholesterol) สควาลีน (Squalene) กรดไขมัน กรดแลคติก (Lactic Acid) และซูโดเซอราไมด์ (Pseudo-Ceramides)
    • สภาพผิวมันและเป็นสิวง่าย เป็นลักษณะของผิวที่มันกว่าปกติ เนื่องจากผิวผลิตน้ำมันส่วนเกินออกมามากขึ้น ทำให้ผิวมันวาว รูขุมขนกว้าง อาจทำให้เป็นสิวได้ง่ายขึ้น ควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดสิวและไม่อุดตันรูขุมขน โดยอาจมีส่วนผสมของกรดไกลโคลิก (Glycolic Acid) กรดไฮยาลูโรนิก เรตินอล (Retinol) สควาลีน ทีทรีออยล์ และกรดซาลิไซลิก
    • สภาพผิวบอบบาง แพ้ง่าย เป็นลักษณะของผิวที่อ่อนแอ บอบบาง ระคายเคืองง่ายและไวต่อสิ่งกระตุ้น เช่น แสงแดด มลภาวะ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว การเสียดสีกับเนื้อผ้าบางชนิด อาจทำให้มีอาการผื่นแดง คัน แสบร้อน ผิวอักเสบ ผิวลอก ควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ประเภทที่ปราศจากน้ำหอม ปราศจากสารก่อภูมิแพ้และมีส่วนผสมน้อย อาจมีส่วนผสมของว่านหางจระเข้และกลีเซอรีน
    • สภาพผิวที่เสื่อมตามอายุ เป็นลักษณะของผิวที่อาจพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจาก การเสื่อมสภาพของเซลล์ผิวหนัง อาจทำให้ผิวอ่อนแอ ขาดความยืดหยุ่น ริ้วรอยเหี่ยวย่นหรือมีจุดด่างอายุ ควรเลือกมอยเจอร์ไรเซอร์ที่มีความเข้มข้นของน้ำมันและโปรตีนผิว ซึ่งอาจมีส่วนผสมของปิโตรลาทัม โจโจ้บาออยล์ น้ำมันมะพร้าว คอลลาเจน อีลาสติน (Elastin) และเคราติน (Keratin) เพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และกระตุ้นการสร้างความแข็งแรงของผิวหนัง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา