backup og meta

ถั่งเช่า คุณค่าทางโภชนาการและข้อควรระวังในการบริโภค

ถั่งเช่า คุณค่าทางโภชนาการและข้อควรระวังในการบริโภค

ถั่งเช่า หรือหญ้าหนอน เป็นเห็ดราชนิดหนึ่ง ในศาสตร์แพทย์แผนจีน ถั่งเช่าจัดเป็นสมุนไพรที่มีราคาแพงมากในท้องตลาด เพราะหาได้ยากในธรรมชาติ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า ถั่งเช่าอาจมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ต่อต้านเนื้อร้าย และลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากในสารสกัดถั่งเช่ามีแร่ธาตุต่าง ๆ และสารต้านอนุมูลอิสระรวมทั้งสารประกอบอื่น ๆ เช่น โพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharides) สารคอร์ไดเซปีน (Cordycepin) ที่อาจมีประโยชน์ในการบำรุงสุขภาพได้

[embed-health-tool-bmi]

คุณค่าทางโภชนาการของถั่งเช่า

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture) ระบุว่า ถั่งเช่า 100 กรัม ให้พลังงาน 500 กิโลแคลอรี่ และอุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ ดังนี้

  • คาร์โบไฮเดรต 100 กรัม
  • โปรตีน 50 กรัม
  • ใยอาหาร 50 กรัม
  • ไขมันอิ่มตัว 10 กรัม
  • แคลเซียม 260 มิลลิกรัม
  • เหล็ก 14.4 มิลลิกรัม

นอกจากนี้ ถั่งเช่ายังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โพลิฟีนอล (Polyphenol) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) รวมทั้งสารอาหารสำคัญอื่น ๆ เช่น วิตามินอี วิตามินเค วิตามินบี 1 และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ซิลิเนียม (Selenium)

ประโยชน์ของถั่งเช่าต่อสุขภาพ

ถั่งเช่าอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยมีงานศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคุณสมบัติในการส่งเสริมสุขภาพของถั่งเช่า ดังต่อไปนี้

1. อาจช่วยบำรุงกำลัง

ถั่งเช่า อาจมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารอะดีโนซีนไตรฟอสเฟต (Adenosine Triphosphate) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งในอัตราที่สูงขึ้น โดยสารดังกล่าวให้พลังงานสูงต่อเซลล์และกล้ามเนื้อ และอาจทำให้ร่างกายสามารถออกกำลังกายหรือทำงานหนักได้นานขึ้น

ในรายงานชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของสารสกัดถั่งเช่าต่อพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงวัย ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Alternative and Complementary Medicine ปี พ.ศ. 2553 โดยให้กลุ่มทดลองซึ่งเป็นผู้สูงวัยสุขภาพดีอายุระหว่าง 50-75 ปี จำนวน 20 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกบริโภคสารสกัดถั่งเช่าแบบแคปซูล และกลุ่มที่ 2 บริโภคยาหลอกแบบแคปซูล วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 12 สัปดาห์ติดต่อกัน ผลวิจัยพบว่า สารสกัดจากถั่งเช่าอาจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเผาผลาญพลังงานจากการออกกำลังของผู้สูงอายุในกลุ่มที่บริโภคสารสกัดถั่งเช่า ในขณะที่อีกกลุ่มไม่พบการเปลี่ยนแปลง จึงอาจสรุปได้ว่า ถั่งเช่าอาจมีส่วนในการช่วยบำรุงและดูแลสุขภาพผู้สูงวัย และเพิ่มพลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพในการออกกำลังกายได้ดีขึ้น

นอกจากนั้น มีการศึกษาหนึ่งเกี่ยวกับประโยชน์ของสารพอลิแซ็กคาไรด์ ต่อการช่วยลดความเหนื่อยล้าจากการว่ายน้ำอย่างหนัก ที่เผยแพร่ในวารสาร International Journal of Medicinal Mushrooms ปี พ.ศ. 2559 โดยให้สัตว์ทดลองดื่มน้ำสารสกัดถั่งเช่า และทดลองให้ว่ายน้ำ ผลการศึกษาสรุปว่า สารพอลิแซ็กคาไรด์ในถั่งเช่า อาจช่วยให้สัตว์ทดลองว่ายน้ำได้นานขึ้น เมื่อให้ว่ายน้ำอย่างต่อเนื่อง และอาจช่วยลดการสะสมของสารต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าร่างกายของสัตว์ทดลองกำลังเหนื่อยล้า เช่น กรดแลคติก (Lactic Acid) ครีเอทีน ไคเนส (Creatine Kinase)

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการเพิ่มกำลังและให้พลังงาน

2. อาจช่วยชะลอความชรา

ถั่งเช่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่อาจมีส่วนช่วยชะลอความแก่ชรา รวมทั้งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย รวมทั้งอาจช่วยปรับปรุงความจำ

ในรายงานการวิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของสารสกัดถั่งเช่าต่อการชะลอวัย ที่เผยแพร่ในวารสาร Phytotherapy Research ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งทดลองในสัตว์ทดลอง พบว่า สารสกัดจากถั่งเช่า อาจช่วยพัฒนาระบบการทำงานของสมองและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (Superoxide Dismutase) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระในร่างกายของสัตว์ทดลองที่มีอายุมากและมีความจำบกพร่องนอกจากนี้ ถังเช่ายังช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ในสัตว์ทดลองที่ทำหมันแล้ว งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า ถั่งเช่าอาจมีสรรพคุณช่วยชะลอวัย

นอกจากนี้ การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับ ประโยชน์ของถั่งเช่าต่อการยืดอายุขัย ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The FASEB Journal ปี พ.ศ. 2554 ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าอาจมีส่วนช่วยยืดอายุขัยของสัตว์ทดลองที่มีอายุมากที่สุดได้นานขึ้น 152 วัน จึงสรุปว่า ถั่งเช่าอาจมีสรรพคุณชะลอวัย

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการชะลอความชรา

3. อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็ง

การบริโภคถั่งเช่า อาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น โพลิฟีนอล ฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง

งานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างถั่งเช่าในการมีส่วนช่วยลดโอกาสเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Molecules ปี พ.ศ. 2558 โดยทดลองใช้สารสกัดถั่งเช่ากับเซลล์มะเร็งในห้องทดลองเพื่อรักษาเซลล์มะเร็ง พบว่า สารสกัดจากถั่งเช่ามีตัวยาที่อาจช่วยลดการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งปอด และทำลายเซลล์มะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม สรรพคุณต้านมะเร็งของถังเช่าควรมีการศึกษาและทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาหลักฐานและเหตุผลสนับสนุนผลการวิจัยดังกล่าวต่อไป

4. อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

สารสกัดถั่งเช่า อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ที่สูงจนเป็นผลเสียต่อร่างกายในผู้ป่วยเบาหวานได้ด้วยกระตุ้นให้ร่างกายดูดซึมน้ำตาลเพิ่มขึ้น ผ่านการทำงานของเอนไซม์ไพรูเวต ไคเนส (Pyruvate Kinase) อ้างอิงจากผลการศึกษาเรื่องคุณสมบัติของสารสกัดถั่งเช่า ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BioMed Research International ปี พ.ศ. 2557 พบว่าสารสกัดถั่งเช่าอาจมีสารประกอบที่ต่อต้านอนมูลอิสระซึ่งมีส่วนช่วยรักษาภาวะแทรกซ้อนในเบาหวาน

ขณะเดียวกัน งานวิจัยเกี่ยวกับฤทธิ์ของสารสกัดถั่งเช่าต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Life Sciences พ.ศ. 2547 โดยทดลองฉีดสารสกัดถั่งเช่าในสัตว์ทดลอง พบว่า ดอกเห็ดถั่งเช่า อาจมีส่วนช่วยบรรเทาภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงอาการกระหายน้ำและน้ำหนักลดอย่างผิดปกติ เนื่องจากโรคเบาหวาน งานวิจัยดังกล่าวจึงสรุปว่า ถั่งเช่าอาจเป็นอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

5. อาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ถั่งเช่า มีสารคอร์ไดเซปีนที่อาจมีสรรพคุณช่วยป้องกันภาวะไขมันในเลือดสูงในร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ในรายงานฉบับหนึ่งเกี่ยวกับสารคอร์ไดเซปีนซึ่งช่วยป้องกันไขมันในเลือดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Pharmacological Sciences พ.ศ. 2553 โดยทดลองให้สัตว์ทดลองกินอาหารไขมันสูง และสารสกัดถั่งเช่าพบว่า ถั่งเช่า อาจมีส่วนช่วยลดระดับไขมันต่าง ๆ ได้ในสัตว์ทดลองที่กินอาหารไขมันสูงทุกวัน

ไขมันต่าง ๆ ในที่นี้ ได้แก่ คอเลสเตอรอล ไขมันความหนาแน่นต่ำหรือไขมันเลว (Low-density Lipoprotein Cholesterol) และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

ทั้งนี้ ยังคงเป็นการทดลองในสัตว์ ควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของถั่งเช่าในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

ข้อควรระวังในการบริโภคถั่งเช่า

ถั่งเช่า ควรบริโภควันละ 3-6 กรัม โดยผลข้างเคียงเนื่องจากบริโภคถั่งเช่า อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วง ท้องผูก หรือไม่สบายท้องได้ในระดับที่ไม่รุนแรง

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ไม่ควรบริโภคถั่งเช่า เนื่องจากปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าสามารถบริโภคถั่งเช่าได้อย่างปลอดภัย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเอง (Autoimmune Diseases) ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคถั่งเช่า เพราะถั่งเช่าอาจกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้อาการของโรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อของตนเองรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

นอกจากนั้น ถั่งเช่าอาจไม่เหมาะต่อการบริโภคช่วงใกล้ผ่าตัด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงเลือดออกผิดปกติระหว่างผ่าตัด ดังนั้น ก่อนผ่าตัด ควรหยุดรับประทานถั่งเช่าและสมุนไพรอื่น ๆ เป็นเวลา 2 สัปดาห์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

CORDYCEPS MEDICINAL MUSHROOM ENDURANCE, STAMINA, & RESPIRATORY EXTRACT POWDER. https://fdc.nal.usda.gov/fdc-app.html#/food-details/712132/nutrients. Accessed May 6, 2022

Antiaging effect of Cordyceps sinensis extract. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/18803231/. Accessed May 6, 2022

The lifespan-extending effect of Cordyceps sinensis Cs-4 in normal mice and its molecular mechanisms. https://faseb.onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1096/fasebj.25.1_supplement.599.1 Accessed May 6, 2022

Cordyceps. https://www.webmd.com/vitamins-and-supplements/cordyceps. Accessed May 6, 2022

The anti-hyperglycemic activity of the fruiting body of Cordyceps in diabetic rats induced by nicotinamide and streptozotocin. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/15050427/. Accessed May 6, 2022

Cordycepin prevents hyperlipidemia in hamsters fed a high-fat diet via activation of AMP-activated protein kinase. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/20724804/. Accessed May 6, 2022

Special Precautions and Warnings. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-602/cordyceps. Accessed May 6, 2022

Effect of Cs-4® (Cordyceps sinensis) on Exercise Performance in Healthy Older Subjects: A Double-Blind, Placebo-Controlled Trial. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3110835/. Accessed May 6, 2022

Effect of Polysaccharide from Cordyceps militaris (Ascomycetes) on Physical Fatigue Induced by Forced Swimming. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/28094746/. Accessed May 6, 2022

Cordyceps militaris (L.) Link Fruiting Body Reduces the Growth of a Non-Small Cell Lung Cancer Cell Line by Increasing Cellular Levels of p53 and p21. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/26263965/. Accessed May 6, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

24/10/2022

เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

อาหารบำรุงคนท้องอ่อนๆ ที่ดีต่อสุขภาพแม่และลูกน้อย

ข้อเข่าเสื่อม ควรรับประทานอาหารเสริมอะไร เพื่อส่งเสริมสุขภาพกระดูก


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 24/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา