backup og meta

คอเลสเตอรอล คืออะไร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/04/2022

    คอเลสเตอรอล คืออะไร และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

    คอเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นและได้รับจากอาหารที่รับประทาน พบได้มากในกระแสเลือด ร่างกายต้องการคอเลสเตอรอลเพื่อสร้างเซลล์ที่แข็งแรง แต่หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นำไปสู่การเกิดโรคร้ายแรงได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้น จึงควรควบคุมระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย

    คอเลสเตอรอล คืออะไร

    คอเลสเตอรอล คือ ไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อช่วยสร้างเซลล์ให้แข็งแรง สร้างฮอร์โมนที่จำเป็นต่อร่างกาย และช่วยให้ย่อยอาหารได้ดี นอกจากนี้ ร่างกายยังอาจได้รับคอเลสเตอรอลเพิ่มเติมจากอาหารที่รับประทาน ซึ่งหากคอเลสเตอรอลในร่างกายสูงกว่าเกณฑ์ที่เหมาะสมก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้น จึงควรควบคุมคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยกระทรวงเกษตรแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า สำหรับผู้ที่มีสุขภาพร่างกายปกติ ควรบริโภคคอเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน

    คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

    คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL)

    เป็นคอเลสเตอรอลที่มาจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก ธัญพืชเต็มเมล็ด พืชตระกูลถั่ว ผักผลไม้ ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีภายในร่างกายควรอยู่ในเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

    • ผู้ชาย ควรมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี 40-60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • ผู้หญิง ควรมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี 50-60 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • เด็ก ควรมีระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี 45-200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร

    คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)

    ส่วนใหญ่มักได้รับมาจากอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง เช่น ไข่ ชีส อาหารทะเล เนื้อสัตว์ติดมัน อาหารทอด อาหารแปรรูป ขนมหวาน น้ำอัดลม ซึ่งอาจส่งผลให้มีไขมันสะสมในหลอดเลือดจนนำไปภาวะสู่หลอดเลือดอุดตัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเกณฑ์การวัดระดับคอเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด มีดังนี้

    • ต่ำกว่า 100 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์ดีที่สุด
    • 100-129 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์ดี
    • 130-159 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูงเล็กน้อย
    • 160-189 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูง
    • มากกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูงมาก

    ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides)

    คือไขมันชนิดหนึ่งที่มักได้รับมาจากอาหารที่รับประทาน ที่เก็บไว้ในเซลล์ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น บริเวณแขน ขา สะโพก หน้าท้อง โดยร่างกายจะนำมาใช้เป็นพลังงานต่อเมื่อเกิดการเผาผลาญ ซึ่งถ้าหากไม่มีการเผาผลาญก็อาจก่อให้เกิดการสะสมไตรกลีเซอไรด์จำนวนมาก ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ตับอ่อนอักเสบ และโรคหัวใจ ที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต 

    เกณฑ์การวัดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ มีดังนี้

    • ต่ำกว่า 150 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์ปกติ
    • 150-199 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูงเล็กน้อย
    • 200-499 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูง
    • มากกว่า 500 มิลลิกรัม/เดซิลิตร อยู่ในเกณฑ์สูงมาก

    คอเลสเตอรอลส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไร

    หากระดับคอเลสเตอรอลอยู่ในเกณฑ์ปกติก็อาจไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากร่างกายมีคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีสูงเกินกว่า 190 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ดังนี้

    • ภาวะคอเลสเตอรอลสูง เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไป การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายไม่อาจเผาผลาญคอเลสเตอรอลได้เพียงพอ จนสะสมในกระแสเลือดและทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ภาวะการทำงานของไทรอยด์บกพร่อง โรคไต โรคลูปัส โรคมะเร็ง โรคเอดส์ อาจเพิ่มความเสี่ยงเป็นภาวะคอเลสเตอรอลสูงได้ เนื่องจากยาบางชนิดที่ใช้รักษาอาจส่งผลให้ควบคุมระดับคอเลสเตอรอลได้ยาก
    • เจ็บหน้าอก อาจเป็นสัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าหลอดเลือดแดงมีคอเลสเตอรอลสะสมมากเกินไป จนขัดขวางการไหลเวียนของเลือด เสี่ยงต่อหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
    • ภาวะหัวใจวาย หากคอเลสเตอรอลสะสมในกระแสเลือดมากเกินไปจนก่อตัวเป็นคราบจุลินทรีย์ ทำให้หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน และขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงหัวใจ ทำให้หัวใจขาดเลือดและหัวใจวาย

    วิธีลดคอเลสเตอรอล

    วิธีลดคอเลสเตอรอล อาจสามารถทำได้ดังนี้

    • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรล วอลนัท ข้าวโอ๊ต นมไขมันต่ำ
    • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ของทอด อาหารแปรรูป ขนมอบต่าง ๆ น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
    • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 30 นาที/วัน และออกกำลังกาย 5 วัน/สัปดาห์ เช่น ปั่นจักรยาน เดินเร็ว วิ่ง หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ชื่นชอบ เพื่อเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดีและลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี
    • เลิกบุหรี่ เพราะบุหรี่อาจเพิ่มระดับของคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี อีกทั้งยังอาจทำให้การไหลเวียนโลหิตไม่ดีและการทำงานของปอดแย่ลง เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคมะเร็งปอดได้

    นอกจากนี้ ควรพบคุณหมอเพื่อตรวจระดับคอเลสเตอรอลเป็นประจำ สำหรับเด็กควรเริ่มตรวจครั้งแรกเมื่ออายุ 9-11 ปี และตรวจทุก ๆ 5 ปี สำหรับเด็กที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจวาย คอเลสเตอรอลสูงและโรคหลอดเลือดสมอง อาจได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 2 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุ 45-65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก ๆ 1-2 ปี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 07/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา