สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจาก หลายปัจจัยด้วยกัน เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การดูแลผิวไม่ถูกวิธี การใช้เครื่องสำอางที่ก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขน ซึ่งทำให้เกิดสิวขึ้นหน้าผากประเภทต่าง ๆ ที่อาจมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรรับการวินิจฉัยโดยคุณหมอ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการป้องกันสิวขึ้นหน้าผากอย่างเหมาะสม
[embed-health-tool-bmr]
สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากอะไร
สิวขึ้นหน้าผาก เกิดจากเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรก และน้ำมันส่วนเกินที่เรียกว่า ซีบัม (Sebum) อุดตันในรูขุมขนบริเวณหน้าผาก ซึ่งอาจกระตุ้นให้แบคทีเรียตามธรรมชาติที่อาศัยอยู่บนผิวเจริญเติบโตมากขึ้น จนนำไปสู่การอักเสบและก่อให้เกิดสิว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางอย่างอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสิวขึ้นหน้าผาก ดังนี้
- พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีสิวขึ้นหน้าผาก บุตรหลานก็อาจมีแนวโน้มที่จะมีสิวขึ้นหน้าผากด้วยเช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันออกมามากจนเกินไป จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก
- ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ที่เป็นฮอร์โมนแห่งความเครียด และกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากเกินไป จนเกิดการอุดตันในรูขุมขน นำไปสู่การเกิดสิวขึ้นหน้าผาก
- การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันและคาร์โบไฮเดรตสูง เช่น ขนมหวาน ช็อกโกแลต ของทอด รวมถึงของเผ็ดร้อน ที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเหงื่อมากขึ้น นำไปสู่การอุดตันในรูขุมขน และเสี่ยงต่อการเกิดสิวขึ้นหน้าผาก หรืออาจทำให้สิวที่เป็นอยู่มีอาการแย่ลง
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ลิเทียม (Lithium) ที่อาจกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันออกมามากจนอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก
- พฤติกรรมการดูแลผิวไม่ดี เช่น การล้างหน้าไม่สะอาด โดยเฉพาะหลังแต่งหน้า การแต่งหน้าทิ้งไว้ข้ามคืน การขัดผิวอย่างรุนแรง การใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ไม่เหมาะกับสภาพผิว การใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของน้ำมันและสารก่อความระคายเคือง ที่อาจส่งผลให้รูขุมขนอุดตัน ผิวระคายเคือง และก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผากหรือส่งผลให้สิวที่เป็นอยู่อักเสบรุนแรง
ประเภทของสิวขึ้นหน้าผาก
ประเภทของสิวขึ้นบนหน้าผาก อาจมีดังต่อไปนี้
- สิวผด เป็นสิวไม่มีหัวที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อ ทำให้เหงื่อไม่สามารถระบายออกและสะสมอยู่ภายในรูขุมขนใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะเมื่อมีสภาพอากาศร้อน ออกกำลังกายอย่างหนัก หรือสวมเสื้อรัดรูปหรือหลายชั้น
- สิวหัวดำ (Blackheads) เป็นสิวหัวเปิดที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนเนื่องจากน้ำมันส่วนเกินและแบคทีเรีย เมื่อหัวสิวสัมผัสกับอากาศจะเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) ทำให้หัวสิวเข้มขึ้นจนกลายเป็นสีดำ
- สิวหัวขาว (Whiteheads) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ แข็ง ๆ เป็นไต นูนขึ้นมาจากใต้ผิวหนัง
- สิวตุ่มนูนแดง (Papule) เป็นสิวอักเสบที่มีลักษณะตุ่มหนองเล็ก ๆ สีแดง และอาจรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อสัมผัส
- สิวหัวหนอง (Pustule) มีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง ภายในมีหนองสะสม อาจมีตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ หากรักษาไม่ถูกวิธีหรือบีบสิวเองอาจเสี่ยงทำให้สิวอักเสบได้
- สิวอักเสบ (Nodule) เป็นสิวหัวปิดที่มีลักษณะเป็นตุ่มนูนใหญ่ เป็นไตแข็งใต้ผิวหนัง และอาจส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวด
- สิวซีสต์ (Cyst) เป็นสิวที่รุนแรงที่สุด มีลักษณะเป็นตุ่มสิวขนาดใหญ่ มีหนองภายใน และอาจทำให้รู้สึกเจ็บปวด หากมีสิวซีสต์ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ควรบีบสิวหรือกดสิวด้วยตัวเองเพราะอาจทำให้สิวอักเสบและเสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นขนาดใหญ่ได้
วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าผาก
วิธีรักษาสิวขึ้นหน้าผาก มีดังนี้
- ยาเรตินอยด์ (Retinoid) เช่น อะดาพาลีน (Adapalene) เตรทติโนอิน (Tretinoin) ทาซาโรทีน (Tazarotene) เพื่อช่วยป้องกันรูขุมขนอุดตัน ในช่วงแรกควรทายาเพียงสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จนกว่าผิวจะชินกับยา แล้วจึงปรับเป็นทาทุกวัน ก่อนนอนหรือตามที่คุณหมอกำหนด ผลข้างเคียงคืออาจส่งผลให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น
- ยาปฏิชีวนะ เพื่อช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่อาจก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก และช่วยลดการอักเสบของสิว มี 2 รูปแบบ คือ 1.ยาทาเฉพาะที่ เช่น เบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) คลินดามัยซิน (Clindamycin) ที่คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ร่วมกับยาในกลุ่มเรตินอยด์ โดยใช้ยาปฏิชีวนะในช่วงเช้า และทายากลุ่มเรตินอยด์ช่วงเวลาก่อนนอน เพื่อป้องกันการดื้อยาและช่วยให้รักษาสิวขึ้นหน้าผากได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. ยาปฏิชีวนะแบบรับประทาน เช่น ยาแมคโครไลด์ (Macrolide) ยาเตตราไซคลีน (Tetracyclines) อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้ยาเตตราไซคลีนในสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี
- ยาคุมกำเนิด ประกอบด้วยฮอร์โมนโปรเจสตินและเอสโตรเจน ที่อาจช่วยปรับความสมดุลของฮอร์โมน เพื่อลดการผลิตน้ำมันส่วนเกิน อย่างไรก็ตาม ควรใช้ร่วมกับวิธีรักษาสิวอื่น ๆ เช่น การทายาเฉพาะที่ การกดสิว นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดอาจส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักขึ้น เจ็บหน้าอกและอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนรับประทาน
- ยายับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจน อาจช่วยชะลอการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่ทำให้ต่อมไขมันขยายและผลิตน้ำมันมากขึ้น จนนำไปสู่การอุดตันในรูขุมขนและก่อให้เกิดสิวขึ้นหน้าผาก ผลข้างเคียงคืออาจมีอาการเจ็บเต้านมและปวดท้องระหว่างเป็นประจำเดือน
- การกดสิว เพื่อช่วยระบายสิ่งอุดตันในรูขุมขนและหนองออก โดยควรให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้กดสิวเท่านั้นเพื่อลดความเสี่ยงต่อการอักเสบและรอยแผลเป็น
- การฉีดยาสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดจากสิว แต่อาจส่งผลข้างเคียงคือผิวหนังบางและสีผิวเปลี่ยนสีในบริเวณที่ทำการรักษา
- การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี คุณหมออาจใช้กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) กรดไกลโคลิก (Glycolic acid) และกรดเรติโนอิก (Retinoic acid) เพื่อช่วยผลัดเซลล์ผิวเก่าออก และช่วยให้กดสิวออกได้ง่ายขึ้นเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นสิวขึ้นหน้าผากที่ไม่รุนแรง
การป้องกันสิวขึ้นหน้าผาก
การป้องกันสิวขึ้นหน้าผากอาจทำได้ ดังนี้
- ทำความสะอาดผิวหน้าด้วยสบู่ที่เหมาะกับสภาพผิว อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เพื่อช่วยขจัดเซลล์ผิวเก่า สิ่งสกปรกและน้ำมันส่วนเกิน
- ควรหลีกเลี่ยงการขัดผิวหน้าอย่างรุนแรงเพื่อป้องกันการระคายเคืองผิว
- ควรเลือกผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ระบุว่า “Non-comedogenic” เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมที่ทำให้รูขุมขนอุดตันและช่วยลดการเกิดสิว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้าและบริเวณหน้าผาก หากยังไม่ได้ล้างมือ เนื่องจากมืออาจมีสิ่งสกปรกและเชื้อโรคตกค้างอยู่
- ทาครีมกันแดดที่มี SPF 50 ขึ้นไป อย่างน้อย 20 นาที ก่อนออกจากบ้าน เพื่อป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดทำร้ายผิว
- ควรเลือกเครื่องสำอางที่ปราศจากน้ำมัน และควรล้างเครื่องสำอางออกจนหมดก่อนเข้านอน เพื่อลดการอุดตันในรูขมขน
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ออกกำลังกาย เล่นเกม ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป เพื่อลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ที่อาจกระตุ้นการผลิตน้ำมันบนใบหน้าจนส่งผลให้เกิดสิว
- ทำความสะอาดของใช้ที่สัมผัสกับผิวบริเวณหน้าผากบ่อยครั้ง เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดหน้า เพื่อลดการสะสมของสิ่งสกปรกที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมันสูง เช่น ของทอด ขนมหวาน ขนมปังขาว มันฝรั่ง เนื้อสัตว์ติดมัน เพราะอาจทำให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันมากขึ้น นำไปสู่การเกิดสิวขึ้นหน้าผาก โดยควรเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่าง ผลไม้ ผัก ธัญพืช และไขมันดี เช่น ส้ม อัลมอนด์ อะโวคาโด น้ำมันมะกอก ปลาแซลมอน มะเขือเทศ สับปะรด แตงกวา แครอท ฟักทอง