backup og meta

สิวอักเสบหัวหนอง สาเหตุ อาการ และการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย · โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    สิวอักเสบหัวหนอง สาเหตุ อาการ และการรักษา

    สิวอักเสบหัวหนอง เป็นสิวที่เกิดขึ้นจากการอุดตันของรูขุมขน และเมื่อหัวสิวถูกกดทับหรือมีการสะสมของน้ำมันใต้ผิวหนังเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้หัวหนองผุดออกมา อาจทำให้มีอาการเจ็บปวด บวม แดง และเป็นหนอง ซึ่งหากไม่ทำการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม รูขุมขนอาจเสียหาย เกิดเป็นหลุมสิว แผลเป็น และอาจทำให้สีผิวไม่สม่ำเสมอได้

    สิวอักเสบหัวหนอง เกิดจากอะไร

    สิวอักเสบหัวหนอง อาจเกิดจากเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว น้ำมันที่ผลิตในรูขุมขน สิ่งสกปรก และเชื้อแบคทีเรียที่อุดตันรูขุมขนจนทำให้เกิดเป็นสิวอักเสบขึ้น และเมื่อหัวสิวอักเสบถูกกดทับหรือมีการสะสมของน้ำมัน สิ่งสกปรกและเชื้อโรคมากขึ้นก็อาจทำให้ผนังรูขุมขนแตกออกจนผุดออกมาเป็นสิวอักเสบหัวหนองและอาจทำให้สิวแตกได้

    อาการของสิวอักเสบหัวหนอง

    สิวอักเสบหัวหนองอาจเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า คอ หนังศีรษะ หลัง หน้าอก ก้น แขน ขา และขาหนีบ โดยอาการของสิวอักเสบหัวหนอง มีดังนี้

    • ตุ่มนูนเป็นก้อนแข็ง มีขนาดเล็กหรือใหญ่
    • ตุ่มนูนแดง บวมที่ผิวหนังบริเวณตุ่มสิวและตุ่มหนอง
    • เจ็บปวดและรู้สึกไม่สบายบริเวณตุ่มสิวหรือรอบ ๆ ตุ่ม
    • หัวสิวมีสีเหลือง สีขาว หรือสีแดงตรงกลางตุ่มสิว

    ภาวะแทรกซ้อนของ สิวอักเสบหัวหนอง

    ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเป็นสิวอักเสบหัวหนอง มีดังนี้

    • การเปลี่ยนแปลงของสีผิวบริเวณที่เป็นสิวอักเสบหัวหนอง โดยในผู้ที่มีผิวขาว เมื่อสิวอักเสบหัวหนองหายแล้วอาจทำให้สีผิวบริเวณที่เป็นสิวมีสีเข้มขึ้น สำหรับผู้ที่มีผิวคล้ำบริเวณที่เป็นสิวอาจมีสีจางลงกว่าสีผิวปกติหรือเข้มขึ้นก็ได้
    • รอยแผลเป็น ผิวบริเวณที่เป็นสิวอักเสบหัวหนองอาจเป็นหลุม หรือเป็นรอยแผลเป็นนูนเกิดขึ้นบนผิวหนังเป็นเวลานาน ที่สามารถหายเองได้ หรืออาจรักษาให้หายได้ยากขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผล

    การรักษาสิวอักเสบหัวหนอง

    สิวอักเสบหัวหนองอาจรักษาได้ด้วยการทำความสะอาดผิวหน้าและการใช้ครีมที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและช่วยผลัดเซลล์ผิว ดังนี้

    • กรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) อาจช่วยลดผิวหนังอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และลดการอุดตันของรูขุมขน
    • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) อาจช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังที่เสื่อมสภาพ ลดน้ำมันส่วนเกิน และลดการอุดตันของรูขุมขน
    • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) อาจช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและลดการอุดตันของรูขุมขน
    • ไนอะซินาไมด์ (Niacinamide) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินบี 3 ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว และลดการอุดตันของรูขุมขน
    • เรตินอยด์ (Retinoid) เช่น เตรทติโนอิน (Tretinoin) อะดาพาลีน (Adapalene) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ที่ช่วยขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วและลดการอุดตันของรูขุมขน
    • ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่ เช่น อีรีโทรมัยซิน (Erythromycin) แดพโซน (Dapsone) ที่อาจช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย

    สำหรับยากินที่อาจช่วยรักษาสิวอักเสบหัวหนอง มีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น เตตราไซคลิน (Tetracycline) แดพโซน (Dapsone) ที่ช่วยรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การรักษาด้วยฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) ที่เป็นยาต้านแอนโดรเจน ซึ่งอาจช่วยยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนที่กระตุ้นทำให้เกิดสิว
  • ไอโซเตรทติโนอิน (Isotretinoin) เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ที่อาจช่วยกดการทำงานของต่อมไขมัน ลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบของสิว
  • สำหรับผู้ที่มีปัญหาสิวอักเสบหัวหนองเรื้อรัง หรือสิวมีขนาดใหญ่และอักเสบรุนแรง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อป้องกันความเสียหายของรูขุมขนและป้องกันความรุนแรงของสิว ดังนี้

    • กดสิว ด้วยการใช้เข็มหรือมีดผ่าตัดขนาดเล็กในการสะกิดเอาสิวหัวดำ สิวอุดตัน หรือสิวอักเสบหัวหนองออก
    • ฉีดคอร์ติโซน (Cortisone Injections) เป็นการฉีดยาเข้าหัวสิวโดยตรงเพื่อลดการอักเสบและลดขนาดสิว
    • การฉายแสง เป็นการรักษาสิวด้วยการฉายแสงเพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย

    การป้องกันสิวอักเสบหัวหนอง

    การป้องกันสิว และความรุนแรงของสิวอักเสบหัวหนองอาจทำได้ ดังนี้

    • ล้างหน้าเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะเวลาที่มีเหงื่อออกมากหรือผู้ที่มีหน้ามันมาก เพื่อขจัดสิ่งสกปรกบนใบหน้าที่อาจทำให้รูขุมขนอุดตัน และควรให้ความชุ่มชื้นกับผิวหลังล้างหน้าด้วยการทามอยเจอร์ไรเซอร์
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า เพราะมืออาจปนเปื้อนสิ่งสกปรก เชื้อแบคทีเรีย และมีน้ำมันที่สามารถอุดตันรูขุมขนบนใบหน้าจนทำให้เกิดสิวได้
    • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสูตรอ่อนโยน ปราศจากน้ำมัน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม ที่อาจทำให้เกิดความระคายเคืองและการแพ้ ที่อาจเพิ่มโอกาสของการเกิดสิว
    • ไม่ควรเกา บีบ หรือกดสิวทุกชนิด เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบที่ก่อให้เกิดสิวอักเสบหัวหนอง และอาจทำให้เกิดแผลเป็นได้
    • หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะน้ำตาลอาจทำให้ผิวหนังอักเสบได้ง่ายจนอาจมีแนวโน้มเป็นสิวง่ายขึ้นในผู้ป่วยบางราย
    • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่สามารถทำลายคอลลาเจนในผิวหนัง ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังอ่อนแอและเป็นสิวได้ง่าย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอัญชิสา กาญจโนมัย

    โรคผิวหนัง · พรเกษมคลินิก


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 24/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา