backup og meta

วิธีกดสิวที่ถูกต้อง ปลอดภัย หากจำเป็นต้องกำจัดสิวแบบเร่งด่วน

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา · โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    วิธีกดสิวที่ถูกต้อง ปลอดภัย หากจำเป็นต้องกำจัดสิวแบบเร่งด่วน

    สิว เป็นปัญหาผิวที่พบได้ทั่วไป อาจเกิดจากความเครียด มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เป็นต้น เมื่อเกิดสิว หลายคนอาจเลือกกดหรือบีบสิว เพื่อกำจัดสิวออกไปให้ได้เร็วที่สุด แต่วิธีนี้อาจทิ้งรอยแดง รอยดำ หรือทำให้สิวอักเสบกว่าเดิมได้ อย่างไรก็ตาม การศึกษา วิธีกดสิวที่ถูกต้อง และปลอดภัย อาจช่วยลดปัญหาสุขภาพที่อาจตามมาได้ ทั้งนี้ ควรกดสิวเองเมื่อจำเป็นเท่านั้น และควรดูแลสิวด้วยไลฟ์สไตล์ที่เหมาะสม เช่น ปรับการรับประทานอาหาร ล้างหน้าและบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับสภาพผิว และหากปัญหาสิวแย่ลง ควรปรึกษาคุณหมอผิวหนัง เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด

    วิธีกดสิวที่ถูกต้อง และปลอดภัย

    วิธีรักษาสิวที่เหมาะสมที่สุดอาจเป็นการรอให้หัวสิวหลุดออกมาเอง เพราะบนผิวหนังบริเวณรอบ ๆ สิวมีแบคทีเรียก่อตัวอยู่ หากกดสิวอาจทำให้แบคทีเรียบนผิวหนังชั้นนอกเข้าสู่ผิวหนังผ่านรอยกดสิว และทำให้ผิวหนังอักเสบได้ แต่หากจำเป็นต้องกำจัดสิวด้วยการกดสิวจริง ๆ การกดสิวด้วยวิธีกดสิวที่ถูกต้องดังต่อไปนี้ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาจากการกดสิวได้

    วิธีกดสิวที่ถูกต้อง สำหรับสิวหัวขาวหรือสิวหัวปิด

    1. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นให้สะอาด จะได้ไม่เสี่ยงติดแบคทีเรีย
    2. ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดทำความสะอาดเข็มเจาะสิวให้สะอาด หากไม่มี สามารถใช้เข็มเย็บผ้าเล่มใหม่ได้
    3. ค่อย ๆ แทงเข็มลงบนสิวในมุมเฉียง หากมองเห็นรูขุมขนให้แทงเข็มเข้าไปตามแนวรูขุมขน ควรแทงเข็มอย่างเบามือ อย่าให้แรงหรือลึกเกินไปจนเลือดไหลหรือรู้สึกเจ็บ
    4. ใช้ไม้พันสำลีหรือผ้าก๊อซกดที่ผิวใกล้ๆ บริเวณหัวสิว แล้วดึงผิวให้ตึง ให้หัวสิวหรือหนองไหลออกมาเอง อย่าใช้วิธีกด ดัน หรือบีบสิว เพราะอาจทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ผิวหนังได้
    5. ใช้สำลีเช็ดหัวสิวและหนองออกให้หมด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดผิวอีกครั้งด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เช่น วิตช์ฮาเซล (Witch Hazel)
    6. ใช้แอลกอฮอล์ 70% เช็ดเข็มเจาะสิวให้สะอาด ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วเก็บในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด

    วิธีกดสิวที่ถูกต้อง สำหรับสิวหัวดำหรือสิวหัวเปิด

    1. ทาผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) ที่บริเวณหัวสิวบาง ๆ  เพื่อช่วยให้หัวสิวและสิ่งสกปรกหลุดออกได้ง่ายขึ้น
    2. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำอุ่นให้สะอาด จากนั้นซับให้แห้ง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรีย
    3. ใช้สำลีก้านหรือคอตตอนบัดกดข้างหัวสิวทั้งสองข้างเบา ๆ จนหัวสิวหลุดออกมา ระวังอย่ากดโดนหัวสิว
    4. ใช้สำลีเช็ดหัวสิวออกให้หมด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดผิวอีกครั้งด้วยน้ำเกลือล้างแผล หรือผลิตภัณฑ์ที่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ เช่น วิตช์ฮาเซล

    สิวประเภทไหนที่ไม่ควรบีบหรือกด

    แม้วิธีกดสิวข้างต้นจะเป็นวิธีกดสิวที่ถูกต้องและปลอดภัย แต่อาจเหมาะสำหรับใช้กดสิวหัวดำหรือสิวหัวขาวที่มีลักษณะกดง่าย ไม่อักเสบมากเท่านั้น หากเป็นสิวชนิดตุ่มนูนแดงแต่ไม่มีหัว (Papules) ไม่ควรกดหรือบีบออกเด็ดขาด หรือหากกดดูแล้วสิวเป็นไต ๆ อยู่ลึกใต้ผิว หรือเป็นสิวซีสต์ก็ไม่ควรกดออกเองเช่นกัน วิธีรักษาสิวลักษณะข้างต้นที่ดีที่สุด คือปล่อยให้สิวหายเอง โดยอาจใช้ยารักษาสิวร่วมด้วย

    หากสังเกตเห็นว่าสิวมีลักษณะแดงเป็นบริเวณกว้างและเจ็บมาก จริง ๆ แล้วนั่นอาจไม่ใช่สิว แต่เป็นฝี (Boil) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อจนบวมเป็นหนองอยู่ภายใน ไม่ควรกด กรีด หรือบีบออกเองเด็ดขาด ต้องให้คุณหมอผู้เชี่ยวชาญรักษาให้เท่านั้น

    วิธีดูแลรักษาสิวที่เหมาะสม

    วิธีกดสิวที่ถูกต้องข้างต้นควรใช้เมื่อจำเป็นหรือเร่งด่วนเท่านั้น เพราะการกดสิวหรือบีบสิวเอง อาจทำให้เกิดรอยแดง รอยดำ หลุมสิว รอยแผลเป็น หรือทำให้สิวอักเสบรุนแรงกว่าเดิม ทั้งนี้ วิธีดูแลรักษาสิวดังต่อไปนี้ อาจช่วยให้ปัญหาสิวดีขึ้นได้ และเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพหรือปัญหาผิวอื่น ๆ น้อยกว่าการกดสิวด้วยตัวเอง

    ประคบร้อน

    การประคบร้อน เช่น ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและบวมแดงจากสิวอักเสบได้ อีกทั้งความร้อนยังช่วยให้รูขุมขนเปิด และหัวสิวอาจหลุดออกเองตามธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

    ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่หาซื้อได้เอง

    หากไม่สะดวกเข้ารับการรักษาสิวตามคลินิกหรือโรงพยาบาล ก็สามารถซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันทีทรี (Tea tree oil) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ซัลเฟอร์ (Sulfur) เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ จากร้านขายยามาใช้เองได้ สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มรักษาสิวด้วยตัวเอง อาจเริ่มใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ในระดับความเข้มข้นต่ำ ๆ ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอาการระคายเคือง และก่อนใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวใด ๆ ควรปรึกษาเภสัชกรด้วย

    เข้ารับการกดสิวโดยผู้เชี่ยวชาญ

    หากจำเป็นต้องกดสิวจริง ๆ ควรให้คุณหมอผิวหนังหรือผู้ดำเนินการที่ได้รับอนุญาตเป็นผู้กดสิวให้เท่านั้น เพราะบุคลากรเหล่านี้จะทราบวิธีกดสิวที่ถูกต้อง และกดสิวโดยใช้อุปกรณ์เฉพาะที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจปลอดภัย และเสี่ยงเกิดปัญหาผิวอักเสบหรือติดเชื้อแบคทีเรียน้อยกว่าการกดสิวเอง

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงเกศอร ป้องอาณา

    โรคผิวหนัง · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 12/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา