backup og meta

ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์

    ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์ คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพผิวหนัง เช่น สิว รอยแตกลาย ผิวคล้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในหญิงตั้งครรภ์ แม้ผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์จะเป็นปัญหาผิวที่พบได้น้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้อาหาร แมลงกัดต่อย ยา สารเคมี เป็นต้น เนื่องจากฮอร์โมนที่แปรปรวนในช่วงตั้งครรภ์ อาจมีส่วนทำให้ร่างกายไวต่อเชื้อโรคและทำให้เกิดผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ได้

    สาเหตุของผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์

    หญิงตั้งครรภ์อาจประสบปัญหาฮอร์โมนแปรปรวน หน้าท้องเริ่มขยายขึ้น อาจทำให้ผิวแห้ง แตก มีอาการคัน ไวต่อเชื้อโรคและอาการแพ้ อาจทำให้เกิดลมพิษและผื่นที่รุนแรงขึ้น โดยอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

    ผดผื่น ผดร้อน

    เมื่อตั้งครรภ์อาจมีเลือดไปเลี้ยงที่ผิวหนังมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผิวหนังของคุณแม่รู้สึกอบอุ่นผิดปกติ มีเหงื่อออกมากขึ้นและอาจเกิดผดผื่นหรือผดร้อนได้ อาจทำให้มีตุ่มเล็ก ๆ สีแดงเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ บนผิวหนังและมีอาการคัน

    การรักษา หลีกเลี่ยงพื้นที่ความร้อนสูงที่อาจทำให้เหงื่อออกง่าย เปิดพัดลมหรือเปิดแอร์ให้ผิวเย็นลงอาการผื่นจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่หากอาการรุนแรงอาจใช้คาลาไมน์บรรเทาอาการคันหรือสเตียรอยด์เฉพาะที่ เช่น เบต้าเมทาโซน (Betamethasone) ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา

    ลมพิษ

    ลมพิษเป็นอาการแพ้ที่อาจเกิดจากความร้อน การเกา ความเครียด แรงเสียดสีที่ผิวหนัง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น อาจทำให้มีตุ่มนูนหรือรอยบุ๋มสีแดงบนผิวหนังและมีอาการคันที่อาจรุนแรงขึ้น

    การรักษา หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นอาจต้องรักษาด้วยยาเม็ดต่อต้านฮีสตามีน ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา

    ผื่น PUPPP (Pruritic Urticarial Papules and Plaques of Pregnancy) ในหญิงตั้งครรภ์

    ผื่น PUPPP ในหญิงตั้งครรภ์ เป็นอาการทางผิวหนังที่เริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่มักเกิดขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์และพบมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือทารกเพศชาย เนื่องจากผิวหนังหน้าท้องที่ยืดออกมากทำลายชั้นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบและปรากฏเป็นผื่นสีแดง กระจายไปทั่วผิวหนังหน้าท้อง ต้นขา ต้นแขน และมีอาการคัน ซึ่งอาการอาจจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากคลอดบุตร

    การรักษา โดยปกติอาการผื่นแดงจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากคลอดบุตร แต่คุณหมออาจแนะนำให้ใช้ยาต้านฮีสตามีนชนิดรับประทาน ยาปรับสภาพผิว หรือยาสเตียรอยด์ เพื่อรักษา

    โรคผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์ (Atopic Eruption of Pregnancy หรือ AEP)

    โรคผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์ คือ อาการอักเสบของผิวหนัง ส่งผลให้ผิวแห้ง เป็นผื่นแดงและคัน มักเกิดขึ้นบริเวณรอยพับที่ผิวหนัง เช่น ข้อศอก หัวเข่า ข้อมือ คอ ในหญิงตั้งครรภ์ที่ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผิวแห้ง แตกอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย จนทำให้อาการกำเริบหรือเกิดโรคขึ้นใหม่

    การรักษา อาการโรคผื่นภูมิแพ้ขณะตั้งครรภ์อาจดีขึ้นหลังการคลอดบุตร ส่วนการรักษาเพื่อบรรเทาอาการคัน ลดการอักเสบและรอยแดงของผิวหนัง สามารถทำได้ด้วยการทามอยเจอร์ไรเซอร์ และครีมหรือขี้ผึ้งสเตียรอยด์ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ควรปรึกษาคุณหมอก่อนใช้ยา

    โรคน้ำดีคั่งในตับและการตั้งครรภ์ (Cholestasis of Pregnancy)

    ฮอร์โมนที่แปรปรวนในขณะตั้งครรภ์โดยเฉพาะวันใกล้ครบกำหนดคลอด อาจมีส่วนทำให้น้ำดีไหลเวียนช้าลงและสะสมในตับ ส่งผลให้เกลือน้ำดีเข้าสู่กระแสเลือดทำให้รู้สึกคัน มีผื่นหรือไม่มีผื่นก็ได้ โดยอาการจะเริ่มที่ฝ่ามือและฝ่าเท้าก่อนจะลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย

    การรักษา หากมีอาการเกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ควรเข้าพบคุณหมอทันที คุณหมออาจใช้ยาเออร์โซไดออล (Ursodiol) เพื่อช่วยลดระดับน้ำดีในเลือด ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ

    การป้องกันผื่นลมพิษในขณะตั้งครรภ์

    • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำอุ่น และลดระยะเวลาการอาบน้ำให้เหลือ 10-15 นาที เพื่อป้องการสูญเสียน้ำมันในผิวที่ทำให้ผิวแห้ง
    • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้ารัดรูป เพราะอาจระคายเคืองทำให้เกิดอาการแพ้ได้
    • หลีกเลี่ยงเกาผิวเมื่อมีอาการคัน เพราะอาจทำให้อาการแย่ลง ติดเชื้อ และผื่นลุกลามได้
    • จัดการกับความเครียดและฝึกเทคนิคการผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลง โยคะ
    • สังเกตตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นอาการแพ้ เช่น ความร้อน ความเครียด อาหารบางชนิด อาจช่วยป้องกันผื่นลมพิษขณะตั้งครรภ์ได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 31/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา