backup og meta

เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก มีประโยชน์อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก มีประโยชน์อย่างไร

    เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้ฟังจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อตรวจสอบสุขภาพ ความสมบูรณ์แข็งแรง และการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับทารก ซึ่งเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกมีทั้งรูปแบบหูฟังและแบบอัลตราซาวด์ ซึ่งมีวิธีการใช้และข้อควรระวังที่อาจต้องอยู่ในการควบคุมของคุณหมอด้วย

    ใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกได้เมื่อใด

    เด็กทารกมีอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ระหว่าง 110-160 ครั้ง/นาที แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสภาวะในมดลูก หากการเต้นของหัวใจไม่อยู่ช่วงเวลาที่กำหนด แสดงว่าทารกอาจได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอหรือมีปัญหาอื่น ๆ เช่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งสามารถใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกวัดอัตราการเต้นของหัวใจประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 ของการตั้งครรภ์ แต่หากต้องการฟังการเต้นของหัวใจทารกเร็วขึ้น อาจต้องใช้วิธีอัลตราซาวด์ ประมาณสัปดาห์ที่ 10-12 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งต้องอยู่ในการดูแลของคุณหมอ

    ประเภทของ เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก

  • หูฟัง (Stethoscope) เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ทั่วไปที่ใช้ขยายเสียงภายใน โดยเฉพาะปอดและหัวใจ ลักษณะเป็นหูฟัง 2 ข้าง มีท่อยางต่อจากปากแตรใช้วางบนหน้าอกหรือหน้าท้องเพื่อฟังเสียง สามารถใช้ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 ทั้งนี้ อาจขึ้นอยู่กับตำแหน่งของทารก และตำแหน่งของรกด้วย
  • พินาร์ด ฮอร์น (Pinard Horn) เป็นเครื่องมือแบบเก่าที่ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ทำจากไม้หรือโลหะ รูปทรงคล้ายทรัมเป็ต สามารถใช้ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 18-20 เครื่องมือนี้จะส่งสัญญาณเสียงจากหัวใจของทารกในครรภ์ไปที่หูของผู้ฟัง ช่วยให้สามารถประเมินอัตราการเต้นของหัวใจของทารกในครรภ์เป็นระยะ และส่วนใหญ่จะใช้ในระหว่างการคลอด เพื่อตรวจหาภาวะหัวใจล้มเหลวของทารกในครรภ์
  • เฟโตสโคป (Fetoscope) เป็นเครื่องมือที่ผสมผสานระหว่างหูฟังกับพินาร์ด ฮอร์น ทำจากโลหะและพลาสติก เป็นอุปกรณ์ที่ต้องใช้ทักษะแยกแยะเสียง มี 2 แบบ คือ แบบหูฟังและแบบส่งลวดผ่านเข้าไปในมดลูก เพื่อยึดติดกับศีรษะของทารกและเชื่อมต่อกับจอภาพเพื่อฟังเสียงหัวใจ คุณหมอมักใช้ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 12
  • ดอปเปลอร์ (Doppler) สามารถใช้ฟังเสียงหัวใจเต้นของทารกในครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 13-28 เป็นอัลตราซาวน์ประเภทหนึ่งชนิดอุปกรณ์พกพา โดยใช้คลื่นเสียงตรวจการเต้นของหัวใจของทารกเพื่อตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์และแปลเป็นเสียง
  • การตรวจสอบการเต้นหัวใจทารกในครรภ์จากอัลตราซาวด์ (ultrasonography) เป็นวิธีตรวจสอบการเต้นของหัวใจโดยคุณหมอ แบบอัลตราซาวนด์แสดงผลผ่านจอภาพ เพื่อดูความสมบูรณ์แข็งแรงและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ โดยจะมีฟังก์ชัน M mode ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจ อีกทั้งคุณหมอสามารถประเมินลักษณะหัวใจที่ผิดปกติของทารกได้จากการทำอัลตราซาวด์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คุณแม่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือทารกเจริญเติบโตผิดปกติ
  • วิธีใช้ เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก

    เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกชนิดหูฟัง พินาร์ด ฮอร์น คุณแม่สามารถใช้ฟังเสียงการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ได้ที่บ้าน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางกายภาพ เครื่องมือเป็นแบบหูฟังจึงใช้งานง่าย ด้วยวิธีดังนี้

  • หาสถานที่ที่เงียบที่สุด จากนั้นนอนราบหรือนั่งเอนบนโซฟาในท่าที่สบาย
  • นำปลายแตรวางไว้บนหน้าท้อง โดยวางไปรอบ ๆ จนกว่าจะได้ยินเสียงหัวใจทารก ทั้งนี้ ตำแหน่งของทารก หรือตำแหน่งของรกอาจอยู่ไกลเกินไป จนอาจทำให้ไม่สามารถได้ยินเสียงหัวใจได้
  • สำหรับเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกชนิดดอปเปลอร์ (Doppler) เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานที่บ้านได้ แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไม่แนะนำให้ใช้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ เนื่องจากการอัลตราซาวด์สามารถทำให้เนื้อเยื่อร้อนได้เล็กน้อย และอาจเป็นอันตรายหากใช้งานผิดวิธีหรือใช้งานมากเกินไป ดังนั้น การใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจทารกชนิดดอปเปลอร์ (Doppler) จึงควรอยู่ในความควบคุมของคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยของทารกมากที่สุด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 22/03/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา