ลูกในครรภ์เดือนที่ 5 สัปดาห์ที่ 18-21
เดือนที่ 5 ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 10 นิ้ว และคุณแม่อาจเริ่มรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหวของทารก ส่วนการเจริญเติบโตของร่างกายทั้งอวัยวะ ศีรษะ และเส้นผม ยังคงพัฒนาต่อไป โดยขนอ่อน ๆ จะเริ่มขึ้นตามร่างกายมากขึ้น ผิวของทารกจะถูกปกคลุมด้วยไขหุ้มทารก (Vernix Caseosa) ซึ่งมีลักษณะคล้ายขี้ผึ้งมีหน้าที่เคลือบให้ความชุ่มชื้นและปกป้องผิวของทารกจากน้ำคร่ำ
ลูกในครรภ์เดือนที่ 6 สัปดาห์ที่ 22-26
เดือนที่ 6 ทารกอาจมีความยาวประมาณ 12 นิ้ว ผิวทารกยังคงบอบบางมากและโปร่งแสง มีสีแดงและเป็นรอยย่น เริ่มมีลายนิ้วมือและรอยเท้า เปลือกตาเริ่มแยกออกและเริ่มเปิดตาได้ ทารกจะเริ่มได้ยินเสียงชัดเจนขึ้นและเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากขึ้นด้วยการเตะ ถีบ สะดุ้ง หรือชีพจรอาจเต้นเร็วเมื่อตกใจ
ลูกในครรภ์เดือนที่ 7 สัปดาห์ที่ 27-30
เดือนที่ 7 ทารกอาจมีความยาวประมาณ 14 นิ้ว โดยอวัยวะส่วนต่าง ๆ สมองและระบบประสาทยังคงพัฒนาต่อไป ชั้นไขมันจะเริ่มสะสมตามร่างกาย การได้ยินได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ สามารถได้ยินเสียงจากภายนอกร่างกายแม่ และสามารถตอบสนองต่อเสียง แสง และความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้ ทารกอาจเริ่มเคลื่อนไหวและเปลี่ยนตำแหน่ง ในช่วงนี้น้ำคร่ำจะเริ่มลดลงเนื่องจากทารกมีขนาดตัวใหญ่ขึ้น
ลูกในครรภ์เดือนที่ 8 สัปดาห์ที่ 31-35
เดือนที่ 8 ทารกอาจมีขนาดตัวยาวประมาณ 18 นิ้ว การเจริญเติบโตยังคงพัฒนาต่อไป และอวัยวะส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ แต่ปอดอาจยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาต่อไป สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีการสะสมของไขมันเพิ่มขึ้น ตาของทารกอาจมองเห็นได้ดีขึ้น เริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เตะ ถีบ บ่อยและแรงขึ้น
ลูกในครรภ์เดือนที่ 9 สัปดาห์ที่ 36-40 ขึ้นไป
เดือนที่ 9 เป็นเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทารกอาจมีความยาวประมาณ 20 นิ้ว โดยปอดจะได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่เพื่อเตรียมพร้อมในการคลอด การตอบสนองดีขึ้น และร่างกายมีการทำงานประสานกันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การได้ยินเสียง กระพริบตา การมองเห็น ขยับร่างกาย การจับ การหันศีรษะไปมา
ในช่วงนี้ทารกจะเคลื่อนไหวน้อยลง เนื่องจากร่างกายมีขนาดใหญ่และทารกจะเคลื่อนตัวไปสู่ตำแหน่งพร้อมคลอด คือ หันศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกรานใกล้กับช่องคลอด
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย