พัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของเด็กวัยนี้ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว เด็กจะพัฒนาความสัมพันธ์และความรักกับคนในครอบครัว แต่ก็ต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น เมื่อเข้าสู่อายุ 2-5 ปี เด็กมักเริ่มตัดสินใจด้วยตัวเอง ชอบทำอะไรด้วยตัวเอง รู้จักทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น เริ่มสร้างมิตรภาพกับเด็กคนอื่น และเริ่มรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กจะเชื่อฟังกฎเกณฑ์จากพ่อแม่หรืออาจลองต่อต้านกฎเกณฑ์ และหากทำผิด เด็กจะเริ่มรู้สึกผิดกับการกระทำเหล่านั้นเริ่มเรียนรู้เหตุผลง่าย ๆ ได้
เด็กวัยเรียน
เด็กวัยเรียน (อายุ 6-12 ปี) ในช่วงวัยนี้พัฒนาการทางร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดทั้งความสูง น้ำหนัก และรูปร่าง รวมถึงพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมด้วย เด็กจะเริ่มอยากเป็นจุดสนใจและต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเพื่อนมากขึ้น
พัฒนาการทางร่างกาย
การเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กวัยเรียนจะมั่นคงขึ้น และกล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น การประสานงานของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะมือและตา ความสมดุลของร่างกาย และความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออาจแตกต่างกันแล้วแต่บุคคล ส่วนพัฒนาการด้านส่วนสูง น้ำหนัก และรูปร่างก็อาจขึ้นอยู่กับพันธุกรรม โภชนาการ การนอนหลับอย่างพอเพียง และการออกกำลังกายที่อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก
เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงบางคนอาจเริ่มมีพัฒนาการทางเพศเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ เช่น เต้านมขยาย มีขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ขนหน้าอก อัณฑะและองคชาตใหญ่ขึ้น (หากเด็กหญิงมีหน้าอกก่อน 8 ขวบ, เด็กชายมีอัณฑะใหญ่ขึ้นก่อน 10 ขวบ แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์เพิ่มเติม)
พัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ และสังคม
เด็กวัยเรียนจะเรียนรู้ทางภาษาและจดจำคำได้มากขึ้น จึงควรสอนเด็กวันนี้ด้วยประโยคที่เรียบง่ายแต่รูปประโยคครบถ้วน ในแต่ละประโยคอาจมีคำประมาณ 5-7 คำ จะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และจดจำได้ดีขึ้น โดยใช้ภาษาตรงไปตรงมาอย่างสุภาพ เด็กวัยเรียนสามารถเรียนรู้หลักไวยากรณ์และการออกเสียงในประโยคที่ซับซ้อนได้มากขึ้นตามวัย การเปลี่ยนแปลงทางสติปัญญา อารมณ์และสังคมของเด็กนี้แต่ละคนอาจแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่มีพัฒนาการ ดังนี้
เด็กอายุ 6-8 ปี อาจต้องการความเป็นอิสระจากพ่อแม่ เริ่มคิดถึงอนาคต อยากเป็นจุดสนใจ ให้ความสำคัญกับมิตรภาพ ต้องการการยอมรับจากผู้อื่น
เด็กอายุ 9-12 ปี เริ่มมีมิตรภาพและความสัมพันธ์กับเพื่อนฝูงที่ซับซ้อนมากขึ้น เริ่มรู้สึกกดดันจากคนรอบข้าง รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตัวเองเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เช่น เต้านมขยาย มีขนขึ้น ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตามากขึ้น อยากเป็นอิสระจากครอบครัวมากขึ้น และให้ความสนใจกับสิ่งที่ตัวเองรู้สึกว่าสำคัญมากขึ้น
แนวทางการเลี้ยงเด็ก
การเลี้ยงเด็กแต่ละช่วงวัยอาจแตกต่างกัน ตามพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา แต่แนวทางการเลี้ยงเด็กดังต่อไปนี้อาจช่วยให้เด็กมีความสุข สุขภาพดี และมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมบูรณ์ตามวัย
- แสดงความรัก ความอบอุ่น และความอ่อนโยนภายในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เช่น การอุ้ม การกอด การบอกรักกันภายในครอบครัว ยินดีเมื่อเด็กทำดี เมื่อเด็กทำผิดก็ตักเตือนโดยไม่ใช้ความรุนแรง
- ปลูกฝังให้แบ่งปันสิ่งของ หนังสือ ทำกิจกรรมร่วมกัน และพูดคุยกับเด็ก เพื่อให้เด็กมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว
- เด็กทารก เช่น พูดคุยกับทารกอยู่เสมอ อ่านหนังสือการ์ตูนง่าย ๆ เปิดเพลงให้ทารกฟัง
- เด็กก่อนวัยเรียน เช่น ร่วมอ่านหนังสือนิทานที่มีจำนวนคำไม่มาก มีภาพประกอบ พูดคุยและเล่นของเล่นด้วยกัน
- เด็กวัยเรียน เช่น แนะนำหนังสือที่เกี่ยวกับการเรียนมากขึ้น แต่ควรเลือกให้เหมาะกับระดับชั้นเรียนของเด็ก หรืออาจแนะนำหนังสือผ่อนคลายสมองบ้าง พร้อมทั้งแบ่งเวลาพูดคุยกันในครอบครัว อาจถามถึงปัญหาที่โรงเรียนหรือแลกเปลี่ยนความสนใจกับเด็ก เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและรู้สึกมีส่วนร่วมกับทุกคนในครอบครัว
- ส่งเสริมสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก ทั้งโภชนาการ การออกกำลังกาย การนอนหลับอย่างพอเพียงมีประสิทธิภาพ ให้ความรู้เรื่องการใช้ชีวิตและความปลอดภัยในสังคม
- เด็กทารก เช่น ไม่ควรวางสิ่งของที่ทารกสามารถหยิบเข้าปากได้ จนอาจเกิดทางเดินหายใจอุดกั้นในช่วง 6 เดือนแรก ควรให้ทารกกินนมแม่เป็นหลัก
- เด็กก่อนวัยเรียน เช่น ส่งเสริมให้เด็กเล่นกับคนอื่น รู้จักแบ่งปัน และสร้างมิตรภาพ
- เด็กวัยเรียน เช่น สอนให้เด็กรู้จักอันตรายบนท้องถนน การจราจร การดูแลร่างกายตนเอง ความสะอาด เช่น ล้างมือก่อนกินอาหาร
- มีกิจวัตรประจำวันและกฎของบ้าน เพื่อฝึกให้เด็กมีระเบียบมากขึ้น
- เด็กก่อนวัยเรียน ฝึกให้เด็กรู้จักกฎระเบียบ เช่น การดูโทรทัศน์เป็นเวลา เข้านอนให้เป็นเวลา เก็บของเล่นเข้าที่เมื่อเล่นเสร็จ
- เด็กวัยเรียน อาจเพิ่มกฎระเบียบของบ้านที่ชัดเจนมากขึ้นตามวัย เช่น สามารถไปเล่นข้างนอกได้แต่ต้องกลับบ้านก่อน 6 โมงเย็น
- สร้างวินัยให้เด็กอย่างเหมาะสม และไม่ใช้ความรุนแรง
- เด็กก่อนวัยเรียน ฝึกให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เก็บจานของตัวเอง เก็บถุงขนมไปทิ้งในถังขยะ เก็บของเล่นที่เล่นเสร็จแล้ว
- เด็กวัยเรียน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในบ้านอย่างชัดเจน ทั้งงานส่วนตัวและงานส่วนรวมของบ้าน เช่น ทำความสะอาดห้องนอน ช่วยดูแลผู้สูงอายุหรือดูแลน้องบ้างตามโอกาส ทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยจึงจะได้เล่นตามที่ต้องการ เป็นต้น
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย