ยาขับเสมหะ
ยาแก้ไอ แบบขับเสมหะ มีตัวยาสำคัญคือ ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเมือกในระบบทางเดินหายใจมากขึ้น ทำให้เสมหะคลายความข้นเหนียวทำให้เราสามารถขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น ยาขับเสมหะ ที่จำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไปมักมาในรูปแบบของยาน้ำและยาเม็ด
ยาละลายเสมหะ
ยาแก้ไอ แบบละลายเสมหะ มักประกอบด้วยตัวยาสำคัญ 3 ตัว ด้วยกัน ซึ่งก็ต่างมีฤทธิ์ต่อเสมหะโดยตรง โดยจะช่วยทำให้เสมหะแตกตัวและมีความข้นเหนียวลดลง ทำให้ร่างกายสามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น โดยมีตัวยาสำคัญดังนี้
- แอมบร็อกซอล ไฮโดรคลอไรด์ (Ambroxol hydrochloride) เป็นสารสำคัญที่ทำให้เสมหะที่สะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจบางลง และมีความหนืดน้อยลง จึงทำให้ร่างกายสามารถไอเพื่อขับเสมหะออกมาได้ง่ายขึ้น แม้ว่าในความเป็นจริง ยานี้ไม่สามารถหยุดการสร้างเสมหะ แต่การใช้ยาในระหว่างการรักษาจะช่วยไม่ให้เสมหะข้นเหนียวมากกว่าเดิมจนไม่สามารถไอออกมาได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ยาละลายเสมหะที่ประกอบด้วยตัวยานี้ อาจมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารและลำไส้ แต่มักไม่มีอาการร้ายแรงใด ๆ
- คาร์โบซิสเทอีน (Carbocysteine) เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในยาละลายเสมหะ โดยมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และช่วยต้านการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ โดยถือว่าเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับการช่วยละลายเสมหะในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังอีกด้วย
- บรอมเฮกซีน (Bromhexine) มีฤทธิ์ในการช่วยลดความข้นเหนียวของเสมหะเช่นกัน แต่มีข้อควรระวังในการใช้สำหรับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้ หรือผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
- อะเซทิลซิสเทอีน (Acetylcysteine) หรือ เอ็น-อะเซทิลซิสเทอีน (N-acetylcysteine: NAC) มีคุณสมบัติทำให้โมเลกุลเสมหะแตกตัว ทำให้เสมหะมีความข้นเหนียวลดลงและถูกขับออกมาได้ง่ายขึ้น นอกจากคุณสมบัติในการช่วยละลายเสมหะอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ตัวยานี้ยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างทางเคมีของตัวยาชนิดนี้ที่สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ดี รวมทั้งสามารถแพร่กระจายตัวในร่างกายได้ดีอีกด้วย
สรุปแล้ว การจะตัดสินว่าตัวยาไหนที่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการไอมากที่สุดคงไม่สามารถทำได้ เพราะตัวยาแต่ละตัวมีคุณสมบัติและข้อบ่งใช้ต่างกัน สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณควรพิจารณาหากจำเป็นต้องใช้ ยาแก้ไอ เหล่านี้ คือความเข้าใจถึงลักษณะอาการไอ สาเหตุ และควรปฏิบัติตามข้อบ่งใช้และข้อควรระวังที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด หรือหากมีข้อสงสัยหรือคำถามใดๆ การปรึกษาแพทย์คือวิธีที่ดีที่สุด
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย