backup og meta

การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือการนวดดีพทิชชู่ (Deep Tissue Massage) ดียังไงนะ?

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/09/2020

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือการนวดดีพทิชชู่ (Deep Tissue Massage) ดียังไงนะ?

    ในปัจจุบันมีการนวดบำบัดมากมายหลากหลายชนิด เช่น การนวดแผนไทยหรือการนวดแผนโบราณ การนวดแบบสวีดิช การนวดน้ำมันหอมระเหย การนวดกดจุด ซึ่งการนวดแต่ละชนิด ก็ให้ประโยชน์และผลลัพธ์ที่แตกต่างกันออกไป หากคุณเลือกนวดบำบัดได้เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของคุณ ก็อาจทำให้ปัญหาที่มีดีขึ้นได้ ในวันนี้ เราอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับการนวดบำบัดอีกหนึ่งประเภท นั่นคือ การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือการนวดดีพทิชชู่ ว่าแต่การนวดรูปแบบนี้จะเป็นอย่างไร เราไปหาคำตอบไปพร้อมกับ Hello คุณหมอ จากบทความนี้กันเลย

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือการนวดดีฟทิชชู่ คืออะไร

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก หรือการนวดดีพทิชชู่ (Deep Tissue Massage) เป็นการนวดที่เน้นใช้เทคนิคการนวด การรีดเส้น และการกดที่ค่อนข้างลึกกว่าการนวดชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ส่งผลถึงกล้ามเนื้อส่วนลึก เส้นเอ็น และพังผืดที่แข็งเกร็งมาเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเครียด อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นต้น เมื่อคุณเข้ารับการนวดรูปแบบนี้แล้ว จะช่วยบรรเทาอาการตึงของกล้ามเนื้อและเนื่อเยื่อเกี่ยวพันได้

    ประโยชน์ของ การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกมีประโยชน์ต่อสุขภาพดังนี้

    ช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเรื้อรัง

    งานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดหลังเรื้อรังของการนวดรักษา (Therapeutic massage) และการนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก (Deep Tissue Massage) พบว่า การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน ช่วยบรรเทาอาการปวดดังกล่าวได้ดีกว่าการนวดรักษาอย่างเห็นได้ชัด

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกช่วยลดความดันโลหิต

    งานศึกษาชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of Alternative and Complementary Medicine ระบุว่า การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกส่งผลดีต่อค่าความดันโลหิต ทั้งความดันโลหิตค่าบน (Systolic Blood Pressure หรือ SBP) คือ ค่าความดันโลหิตสูงสุดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว และความดันโลหิตค่าล่าง (Diastolic Blood Pressure หรือ DBP) คือ ค่าความดันโลหิตต่ำสุดเมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายคลายตัว

    ช่วยบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล และความตึงตัวของกล้ามเนื้อ

    ใครที่เครียดจัด หรือเครียดสะสม รู้สึกวิตกกังวลเป็นประจำ หรือมีปัญหากล้ามเนื้อแข็งเกร็งและตึงตัวอยู่เสมอ เราแนะนำให้คุณลองเข้ารับการนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก เพราะการนวดรูปแบบนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยบรรเทาอาการแข็งตึงของกล้ามเนื้อ ทั้งยังเพิ่มการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข อย่างเซโรโทนิน (Serotonin) และออกซิโทซิน (Oxytocin) ซึ่งช่วยคลายเครียดและลดอาการวิตกกังวลได้ด้วย

    ช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย

    งานศึกษาวิจัยหลายชิ้นพบว่า การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกช่วยกระตุ้นการกำจัดแลคเตท (Lactate) ซึ่งเป็นสารเคมีในเลือดที่เกี่ยวข้องกับอาการบาดเจ็บ และการกลับสู่สภาวะปกติของร่างกาย ออกจากร่างกาย ช่วยชะลอการเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้อล้า ช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บ และช่วยให้หายบาดเจ็บได้เร็วขึ้น ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อคนที่เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายทั้งสิ้น

    นวดเนื้อเยื่อส่วนลึกจะเจ็บมากไหม

    การนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกต้องใช้แรงกด รีด หรือนวดที่มากกว่าการนวดรูปแบบอื่น จึงอาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บปวด หรือไม่สบายตัวได้บ้าง โดยคุณจะรู้สึกเจ็บมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแรงนวด เทคนิคที่ใช้ บริเวณที่นวด รวมถึงความอดทนต่อความเจ็บปวดของคุณด้วย หากคุณรู้สึกเจ็บจนทนไม่ไหว ควรรีบแจ้งให้นักนวดบำบัดทราบทันที เพราะหากฝืนทนนวดต่อไปอาจยิ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ และทำให้การนวดไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ

    โดยปกติแล้ว อาการเจ็บปวดหลังนวดเนื้อเยื่อส่วนลึกจะหายไปได้เองใน 2-3 วัน แต่หากอยากให้อาการหายเร็วขึ้น คุณก็สามารถบรรเทาอาการด้วยการประคบเย็นหรือประคบร้อนได้

    ข้อควรระวังก่อนเข้ารับการนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก

    หากคุณมีภาวะดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการนวดเนื้อเยื่อส่วนลึก

    • มีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด หรือเป็นโรคการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ (Clotting Disorder)
    • กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือด
    • มีภาวะเลือดออกผิดปกติ (Bleeding Disorders)
    • เป็นมะเร็ง มีภาวะมะเร็งเข้ากระดูก หรืออยู่ระหว่างรักษามะเร็งด้วยการทำเคมีบำบัด การฉายแสงหรือรังสีรักษา เป็นต้น
    • เป็นโรคกระดูกพรุน
    • มีแผลเปิดหรือผิวหนังติดเชื้อ

    อีกหนึ่งสิ่งที่คุณต้องใส่ใจให้ดีก่อนตัดสินใจเข้ารับการนวดทุกรูปแบบก็คือ การเลือกนักนวดบำบัด นั่นเอง อย่าลืมเลือกสถานประกอบการที่เชื่อถือได้ สะอาดและปลอดภัย และนักนวดบำบัดต้องผ่านการรับรองด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 02/09/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา