
ต้อหิน (Glaucoma) เป็นโรคที่สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทตา ทำให้การมองเห็นลดลงหรือแม้แต่ทำให้ตาบอดได้ อย่างไรก็ดี คุณยังคงสามารถป้องกันดวงตาของคุณจากผลที่ร้ายแรงต่างๆได้โดยการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการ รักษาต้อหิน จากบทความของ Hello คุณหมอ นี้ค่ะ
การวินิจฉัยต้อหินเป็นสิ่งที่สำคัญมากค่ะ เพราะถ้าวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรกจะสามารถหาวิธีที่เหมาะสมในการรักษา การรักษาต้อหิน นั้นเป็นเพียงการชะลอให้เส้นประสาทตาถูกทำลายอย่างช้าที่สุด เพื่อให้คนที่เป็นต้อหินเป็นมีการมองเห็นอย่างยาวนานที่สุดค่ะ โรคต้อหินนั้นในระยะแรกจะไม่มีอาการเพราะฉะนั้นการตรวจตากับจักษุแพทย์เพื่อคัดกรองต้อหิน เป็นประจำทุกปีจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากค่ะ
ประเภทของต้อหิน มีอะไรบ้าง
การรักษาภาวะต้อหินมีหลายวิธีขึ้นกับการประเภทของต้อหินดังนี้ค่ะ
- ภาวะมุมม่านตาแคบแต่ไม่ได้เป็นต้อหิน (Primary angle closure suspect)
ในคนไข้สายตายาวหรือในคนเอเซียจะมีลูกตาเล็กและมุมม่านตาแคบ โดยที่ไม่ได้เป็นต้อหิน เมื่อมาตรวจตากับจักษุแพทย์แล้วพบภาวะดังกล่าว จะแนะนำให้ยิงเลเซอร์เปิดมุมม่านตา (Iridotomy) เพื่อป้องกันภาวะต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน
- ต้อหินมุมปิด (Primary angle closure glaucoma)
ภาวะนี้ผู้ป่วยจะมีมุมม่านตาแคบและมีความดันลูกตาสูง อาจใช้วิธีการยิงเลเซอร์เปิดมุมม่านตา ร่วมกับการใช้ยาลดความดันตา ส่วนการผ่าตัดจะพิจารณากรณีที่ใช้ยาไม่ได้ผล
- ต้อหินมุมเปิด (Primary open angle glaucoma)
ผู้ป่วยจะมีมุมม่านตาปกติและมีความดันตาสูง การรักษาจะใช้ยาเป็นหลัก เมื่อไม่สามารถควบคุมโดยการใช้ยาได้ เลเซอร์และการผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาท ซึ่งเลเซอร์จะต่างจากมุมปิด คือการยิงเลเซอร์บริเวณทางระบายน้ำที่มุมตา ทำให้ระบายน้ำช่องหน้าลูกตาออกจากตาได้ดีขึ้น (trabeculoplasty)
- ต้อหินที่มีความดันตาปกติ (Normal tension glaucoma)
การวินิจฉัยจะค่อนข้างยากเนื่องจากความดันตาปกติ แต่พบการเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตาในลักษณะของต้อหิน การรักษาจะใช้ยาหยอด ถ้าไม่สามารถควบคุมโรคได้การผ่าตัดจะเข้ามามีบทบาทค่ะ
แนวทางการ รักษาต้อหิน
การรักษาต้อหินโดยการลดความดันตา
ยาที่ใช้ รักษาต้อหิน คือยาที่สามารถลดความดันตา ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของยาหยอด การใช้ยาในรูปแบบเม็ดจะใช้กรณีที่ต้องการลดความดันตาฉับพลันเท่านั้น โดยยาหยอดมีกลไกการลดความดันตาแบ่งเป็น 2 วิธีดังนี้คือ ลดปริมาณการสร้างของเหลวในดวงตา และวิธีที่ 2 คือปรับโครงสร้างระดับเซลล์เพื่อให้ของเหลวในลูกตาไหลเวียนออกไปจากดวงตาได้มากขึ้น โดยยาลดความดันตา 1 ขวดอาจมียาเพียง 1 ชนิด หรือมากกว่า 1 ชนิด (combination) เพื่อให้สะดวกในการใช้ยาหยอดเพราะบางรายต้องหยอดยาควบคุมความดันตามากกว่า 1 ชนิด
ตัวอย่างของยาประเภทนี้ ได้แก่
- ยากลุ่ม Alpha adrenergic antagonists ยาเหล่านี้ลดการสร้างสารน้ำและเพิ่มการไหลของสารน้ำออกจากดวงตา ยากลุ่มนี้ที่ใช้ในประเทศไทย ได้แก่ ยาไบรโมนิดีน (brimonidine)
- ยากลุ่ม Beta blockers ยาเหล่านี้ลดอัตราการสร้างของเหลวในตา ยากลุ่มนี้ที่ใช้ในประเทศไทยได้แก่ ยาไทโมลอล (timolol) ยาคาร์ทีโอลอล (carteolol)
- ยากลุ่ม Carbonic anhydrase inhibitors ยาเหล่านี้ลดการสร้างของเหลวในดวงตา ยาเหล่านี้ยังมีทั้งในรูปยาหยอดตาและยาเม็ดอีกด้วย ยากลุ่มนี้บางประเภท ได้แก่ ยาดอร์โซลาไมด์ (dorzolamide) ยาบรินโซลาไมด์ (brinzolamide)
- ยาเหล่านี้เป็น cholinergic agents ซึ่งทำให้รูม่านตามีเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กลงมากและช่วยเพิ่มการระบายของเหลวจากดวงตา ยากลุ่มนี้บางประเภท ได้แก่ ยาไพโลคาร์พีน (pilocarpine) ซึ่งไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน
- ยากลุ่ม Prostaglandin analogs ยาเหล่านี้ลดความดันในดวงตาโดยการเพิ่มการไหลเวียนของเหลวในตาออกไปจากดวงตาได้มากขึ้น ซึ่งเป็นยากลุ่มแรกที่ใช้เพราะลดความดันตาได้มากที่สุด ยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาลาทาโนพรอสต์ (latanoprost) ยาไบมาโทพรอสต์ (bimatoprost) ยาทราดวพรอสต์ (travoprost) และ ทาฟูพรอส (taflupost)
ยาแต่ละประเภทมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยาและปรับยาต้องอยู่ในดุลยพินิจของจักษุแพทย์เท่านั้น
การใช้เลเซอร์ในการรักษาต้อหิน
การรักษาต้อหินโดยเลเซอร์ จะใช้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่นๆ มีดังนี้
- Iridotomy มาจากคำว่า Irido (มาจาก iris ซึ่งแปลว่าม่านตา) และ tomy (การเจาะรู) โดยจะใช้เลเซอร์ยิงเจาะรูบริเวณม่านตา เพื่อเปิดทางระบายของเหลวในลูกตาส่วนหน้าและส่วนหลัง จะใช้ในกรณีต้อหินมุมปิด
- Trabeculoplasty จะให้เลเซอร์ยิงบริเวณทางระบายของเหลวซึ่งอยู่บริเวณมุมม่านตา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์ เพื่อให้ระบายของเหลวออกจาตาได้ดีขึ้น จะรักษากรณีต้อหินมุมเปิด
การผ่าตัดรักษาต้อหิน
ก่อนอื่น อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่าการผ่าตัดเป็นการรัษาต้อหินให้หายขาดได้ แต่ที่จริงแล้วการผ่าตัดจะทำเมื่อการใช้ยาหรือเลเซอร์ไม่ได้ผล หรือเพื่อลดปริมาณการใช้ยาลงและคุมความดันตาได้ดีขึ้น
- Trabeculectomy คือการผ่าตัดทำให้เกิดช่องเชื่อมระหว่างช่องหน้าลูกตาและเยื่อบุตา เพื่อให้ของเหลวในตาระบายผ่านรูที่เชื่อมนี้ออกไปนอกตาได้ จะส่งผลให้ลดความดันตาได้ดี อย่างไรก็ดี สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ ได้
- Glaucoma drainage device (GDD) หลักการผ่าตัดเหมือน trabeculectomy แต่จะมีอุปกรณ์พิเศษมีลักษณะเป็น ท่อระบายน้ำเข้าในช่องหน้าลูกตาและมีทางระบายน้ำออกจากลูกตาเช่นกัน
- ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีการผ่าตัดระบายของเหลวในลูกตาที่แผลเล็ก ซึ่งเรียกว่าMininal invasive glaucoma surgery (MIGS) ซึ่งจะทำการผ่าตัดผัดท่อเล็กๆเข้าไประบายของเหลวในช่องหน้าลูกตา ซึ่งกำลังเป็นวิธีที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม: