2. ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestogen-only pills)
เป็นยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสโตเจนเพียงชนิดเดียว ใน 1 แผงจะมียา 28 เม็ด ควรรับประทานวันละ 1 เม็ด ซึ่งมี 2 รูปแบบ คือ รับประทานในเวลาเดิมหรือไม่เกิน 3 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยา และอีกรูปแบบหนึ่งคือ รับประทานในเวลาเดิมหรือไม่เกิน 12 ชั่วโมงจากเวลารับประทานยา ควรเริ่มรับประทานวันแรกของรอบเดือนหรือไม่เกิน 5 วันหลังจากมีประจำเดือนและควรรับประทานในเวลาเดียวกันทุกวัน หากรับประทานช้ากว่า 3 ชั่วโมง หรือ 12 ชั่วโมง ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ และรับประทานเม็ดต่อไปช่วงเวลาเดิมตามปกติ ร่วมกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ถุงยางอนามัย
3. ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน
เป็นยาที่ใช้สำหรับป้องกันการตั้งครรภ์ มักใช้ในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ถุงยางอนามัยขาด ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ลืมรับประทานยาคุมแบบธรรมดาเกิน 3 วัน ปัจจุบันยาคุมฉุกเฉินที่นิยมใช้คือ ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) เป็นยาในกลุ่มโปรเจสติน ใน 1 แผง จะมี 2 เม็ด แต่ละเม็ดจะมีตัวยา 0.75 มิลลิกรัม ควรรับประทานเม็ดแรกภายใน 72 ชั่วโมง หรือไม่เกิน 3 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์ และรับประทานเม็ดที่ 2 ภายใน 12 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการลืม อาจรับประทานยาทั้ง 2 เม็ดพร้อมกันในคราวเดียวภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
กินยาคุมกำเนิดแล้วท้อง เกิดจากอะไร
ปกติแล้วหากรับประทานยาคุมกำเนิดอย่างถูกวิธี อาจมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์มากถึง 99% สำหรับยาคุมฉุกเฉินจะมีประสิทธิภาพประมาณ 90% แต่หากกินยาคุมกำเนิดแล้วท้อง อาจเกิดจากการรับประทานยาคุมไม่ถูกวิธี ดังนี้
- ลืมรับประทานยา 1 เม็ด และไม่รับประทานยาคุมในช่วงเวลาเดียวกันทุกวัน ซึ่งทำให้ระดับฮอร์โมนไม่สม่ำเสมอเพียงพอที่จะป้องกันการตั้งครรภ์
- การอาเจียนหลังจากกินยาคุม ทำให้ร่างกายดูดซึมยาไม่เต็มที่ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป ดังนั้น หลังจากอาเจียนควรรับประทานยาแก้อาการคลื่นไส้และรีบรับประทานยาคุมตามให้เร็วที่สุด
- ไม่รับประทานยาคุมอย่างต่อเนื่อง ปกติแล้วยาคุมกำเนิดแบบ 21 หรือ 28 เม็ด ควรรับประทานต่อเนื่องกัน โดยเมื่อสิ้นสุดแผงแรกก็ควรรับประทานแผงใหม่ทันที หากต้องการหยุดใช้ยา ควรรับประทานยาคุมให้หมดแผงก่อน ไม่ควรหยุดกลางคัน เพราะอาจทำให้ลดประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์
- ยาบางชนิด เช่น ยารักษาต้านไวรัสเอชไอวี ยาสมุนไพร ยารักษาโรคลมชัก อาจทำปฏิกิริยากับยาคุมกำเนิด ทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดลดลง ควรแจ้งให้คุณหมอทราบหากรับประทานยารักษาโรคประจำตัว รวมถึงวิตามิน สมุนไพรต่าง ๆ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานยาคุมอย่างถูกวิธี
ควรทำอย่างไรเมื่อรู้ว่าท้อง
เมื่อกินยาคุมแล้วท้องควรเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อนัดหมายการตรวจครรภ์เพื่อเช็กสุขภาพของทารกในครรภ์และคุณแม่ โดยคุณหมออาจนัดตรวจทุก 4 สัปดาห์ จนถึงช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 28 จากนั้นอาจนัดตรวจทุก 2 สัปดาห์ จนถึงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 36 และลดลงเหลือสัปดาห์ละ 1 ครั้ง จนกว่าจะถึงกำหนดคลอด
นอกจากนี้ คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองและทารก ดังนี้
- รับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ผลิตภัณฑ์จากนมที่ผ่านการฆ่าเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารทะเล อาหารแปรรูป ดื่มคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หยุดสูบบุหรี่
- ควรออกกำลังกายในระดับเบาอย่างสม่ำเสมอ เช่น เดิน ว่ายน้ำ
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย