backup og meta

ฝังยาคุมกำเนิด ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร

ฝังยาคุมกำเนิด ดีหรือไม่ เหมาะกับใคร

การ ฝังยาคุม เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่ออกฤทธิ์ได้นาน สามารถใช้คุมกำเนิดระยะยาวได้ถึง 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับยี่ห้อที่เลือกใช้ การฝังยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูง สามารถฝังและนำออกยาคุมออกได้อย่างรวดเร็ว อาจไม่ต้องผ่าตัดหรือใช้เวลาพักฟื้นนาน อีกทั้งยังไม่ต้องกินยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำทุกเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยการใช้ยาคุมแบบฝังควรศึกษาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงให้ถี่ถ้วน จะได้ทราบว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองหรือไม่

[embed-health-tool-ovulation]

ยาคุมกำเนิดแบบฝังทำงานอย่างไร

การใช้ยาคุมกำเนิดแบบฝังสามารถทำได้โดยการฝังหลอดยาขนาดเล็ก ยืดหยุ่นสูง ขนาดประมาณ 4 เซนติเมตรหรือประมาณไม้ขีดไฟไว้ใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขนท่อนบนของแขนข้างที่ไม่ถนัด ภายในหลอดยาจะบรรจุฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) หรือบางครั้งเรียกว่า โปรเจสโตเจน (Progestogen) ซึ่งจะค่อย ๆ ถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดประมาณวันละ 70-60 ไมโครกรัม ตัวฮอร์โมนจะไปกระตุ้นให้เยื่อบุโพรงมดลูกฝ่อลง ทำให้ตัวอ่อนที่เกิดจากการปฏิสนธิฝังตัวที่เยื่อบุโพรงมดลูกได้ยากขึ้น กระตุ้นให้มูกมดลูกเหนียวข้นจนอสุจิเข้าไปสู่ปากมดลูกได้ยากขึ้น ทั้งยังมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของไข่และป้องกันไม่ให้มีการตกไข่ สามารถใช้คุมกำเนิดระยะยาวได้นานถึง 3-5 ปี

ประโยชน์ของการ ฝังยาคุม

ประโยชน์ของการฝังยาคุมกำเนิด อาจมีดังนี้

  • สามารถคุมกำเนิดอย่างได้ผลและมีประสิทธิภาพ
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน อาจมีอาการปวดท้องน้อยลง นอกจากนี้ รอบเดือนอาจมีระยะเวลาสั้นลงหรืออาจไม่มาเลย
  • ใช้สะดวก อาจไม่ต้องกังวลเรื่องวิธีใช้ที่ถูกต้องเหมือนการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ถุงยาง ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด
  • ไม่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจน จึงไม่เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ อารมณ์แปรปรวนง่าย เหมือนกับการกินยาเม็ดคุมกำเนิด
  • เมื่อนำยาคุมกำเนิดแบบฝังออกแล้ว สามารถเริ่มวางแผนมีบุตรได้ทันที
  • ลดโอกาสที่จะลืมกินยา ไม่ต้องกินยาทุกวัน
  • สามารถฝังและนำออกได้ตามต้องการ แม้ยังไม่หมดอายุการใช้งานก็นำออกได้
  • ใช้เวลาในการฝังหลอดยาคุมกำเนิดและนำหลอดยาคุมกำเนิดออกไม่นาน และอาจไม่ต้องพักฟื้นนาน

ข้อควรรู้ของการฝังยาคุมกำเนิด

สิ่งที่ควรรู้เมื่อต้องการฝังยาคุมกำเนิด อาจมีดังนี้

  • การฝังยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3-5 ปี หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีเดิมอย่างต่อเนื่อง ควรนำหลอดยาเก่าออกและฝังหลอดยาใหม่ทันทีเมื่อครบกำหนด
  • ยาคุมกำเนิดแบบฝังจะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้หลังจากฝังยาคุมกำเนิด 7 วัน
  • สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันทีหลังคลอดบุตร
  • หากฝังยาคุมกำเนิดภายใน 21 วันหลังคลอด ช่วงนี้ภาวะการเจริญพันธ์ุอาจยังไม่กลับมาทำงานตามปกติ ระยะเวลา 21 วันหลังคลอด จึงอาจเป็นระยะปลอดภัยที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่ตั้งครรภ์ หากฝังยาคุมกำเนิดในระยะนี้ ยาสามารถทำงานได้ทันที
  • หากฝังยาคุมกำเนิดหลังคลอดเกิน 21 วัน อาจต้องใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดอื่น เช่น ถุงยางอนามัย ร่วมด้วยประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นยาคุมกำเนิดแบบฝังจะเริ่มออกฤทธิ์และป้องกันการตั้งครรภ์ได้
  • หลังฝังยาคุมกำเนิด อาจมีผลเคียงข้างที่ไม่รุนแรงมากเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เช่น ปวดศีรษะ รู้สึกเจ็บหน้าอก อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน
  • ประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ หรือไม่มาเลยในช่วงที่ ฝังยาคุม หรืออาจมีเลือดออกกระปริบกระปรอยทางช่องคลอดได้
  • อาจเกิดสิว หรือทำให้มีปัญหาสิวเพิ่มขึ้น
  • การฝังยาคุมกำเนิดไม่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Infections หรือ STI) จึงควรป้องกันด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย

ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด

การฝังยาคุมกำเนิดจะส่งผลให้ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง เช่น ความถี่ของรอบเดือนไม่คงที่ มีปริมาณเลือดประจำเดือนไม่แน่นอน บางคนอาจไม่มีประจำเดือนมาเลยในช่วงที่ฝังยาคุมกำเนิด ทั้งนี้ ผลข้างเคียงเล็กน้อยที่อาจพบได้บ่อยหลังฝังยาคุมกำเนิด เช่น

  • ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
  • ส่งผลต่อสภาพผิว
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • สมรรถภาพทางเพศลดลง
  • ช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ
  • เจ็บคัดเต้านม
  • ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน

ฝังยาคุม เหมาะกับใคร

การฝังยาคุมกำเนิดถือว่าปลอดภัย และมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อสุขภาพน้อย ทั้งยังป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพบางประการอาจต้องหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดแบบฝัง และใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่นแทน

การฝังยาคุมกำเนิดเหมาะกับใคร

  • คุณแม่ในช่วงให้นมลูกสามารถฝังยาคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย ไม่กระทบต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนม
  • ผู้ที่ยังไม่ต้องการมีบุตร และประสงค์ที่จะคุมกำเนิดระยะยาว
  • ผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรในช่วงหลังจากยุติการตั้งครรภ์หรือแท้งตามธรรมชาติ สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันที
  • ผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ในระยะยาว ซึ่งหากต้องการรับบริการฝังยาคุมจากโรงพยาบาลรัฐ อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500-3,000 บาท ทั้งนี้ ควรสอบถามสถานพยาบาลที่สนใจก่อนตัดสินใจเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิด

การฝังยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่เคยมีประวัติการรักษามะเร็งเต้านมหรือกำลังรักษาโรคในปัจจุบัน
  • ผู้ที่มีเนื้องอกที่ตับ หรือมะเร็งตับ
  • ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่ไม่ต้องการให้รอบเดือนเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติไปจากเดิม
  • ผู้ที่มีเลือดออกในช่องคลอดผิดปกติในช่วงระหว่างรอบเดือนหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อการคุมกำเนิด แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจจัยเพิ่มเติม และเข้ารับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ

หลัง ฝังยาคุม สามารถมีบุตรได้อีกหรือไม่

ยาคุมกำเนิดแบบฝังสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เฉพาะตอนที่ฝังยาคุมกำเนิดอยู่ในร่างกายเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อภาวะเจริญพันธุ์ในระยะยาว เมื่อนำหลอดยาคุมกำเนิดออกแล้ว ก็สามารถวางแผนมีบุตรได้ทันที โดยปกติแล้ว จะเริ่มกลับมามีประจำเดือนภายใน 3 สัปดาห์หลังจากการนำยาคุมแบบฝังออกจากร่างกาย

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Birth Control Implants (Contraceptive Implants). https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-implants-types-safety-side-effects. Accessed March 3, 2022

Contraceptive implant. https://www.mayoclinic.org/tests-procedures/contraceptive-implant/about/pac-20393619. Accessed March 3, 2022

Contraception – implants. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/contraception-implants#are-there-any-side-effects-from-using-the-contraceptive-implant. Accessed March 3, 2022

ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง. https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/547/ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง/. Accessed March 3, 2022

Implants. https://www.cdc.gov/reproductivehealth/contraception/mmwr/spr/implants.html. Accessed March 3, 2022

Contraceptive implant. https://www.nhs.uk/conditions/contraception/contraceptive-implant/. Accessed March 3, 2022

เวอร์ชันปัจจุบัน

28/02/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

อัปเดตโดย: เนตรนภา ปะวะคัง


บทความที่เกี่ยวข้อง

แพ้ยาคุม อาการและผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของยาคุม มีอะไรบ้าง ยาคุมไม่เหมาะกับใคร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 28/02/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา