ผลข้างเคียงของการฝังยาคุมกำเนิด
การฝังยาคุมกำเนิดจะส่งผลให้ประจำเดือนเปลี่ยนแปลง เช่น ความถี่ของรอบเดือนไม่คงที่ มีปริมาณเลือดประจำเดือนไม่แน่นอน บางคนอาจไม่มีประจำเดือนมาเลยในช่วงที่ฝังยาคุมกำเนิด ทั้งนี้ ผลข้างเคียงเล็กน้อยที่อาจพบได้บ่อยหลังฝังยาคุมกำเนิด เช่น
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- ส่งผลต่อสภาพผิว
- คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องอืด
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
- สมรรถภาพทางเพศลดลง
- ช่องคลอดแห้งหรืออักเสบ
- เจ็บคัดเต้านม
- ซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน
ฝังยาคุม เหมาะกับใคร
การฝังยาคุมกำเนิดถือว่าปลอดภัย และมีผลข้างเคียงที่กระทบต่อสุขภาพน้อย ทั้งยังป้องกันการตั้งครรภ์ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะสุขภาพบางประการอาจต้องหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดแบบฝัง และใช้วิธีการคุมกำเนิดประเภทอื่นแทน
การฝังยาคุมกำเนิดเหมาะกับใคร
- คุณแม่ในช่วงให้นมลูกสามารถฝังยาคุมกำเนิดได้อย่างปลอดภัย ไม่กระทบต่อคุณภาพและปริมาณน้ำนม
- ผู้ที่ยังไม่ต้องการมีบุตร และประสงค์ที่จะคุมกำเนิดระยะยาว
- ผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรในช่วงหลังจากยุติการตั้งครรภ์หรือแท้งตามธรรมชาติ สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันที
- ผู้ที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ในระยะยาว ซึ่งหากต้องการรับบริการฝังยาคุมจากโรงพยาบาลรัฐ อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500-3,000 บาท ทั้งนี้ ควรสอบถามสถานพยาบาลที่สนใจก่อนตัดสินใจเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิด
การฝังยาคุมกำเนิดไม่เหมาะกับใคร
- ผู้ที่เคยมีประวัติการรักษามะเร็งเต้านมหรือกำลังรักษาโรคในปัจจุบัน
- ผู้ที่มีเนื้องอกที่ตับ หรือมะเร็งตับ
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบตัน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง
- ผู้ที่สงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่ไม่ต้องการให้รอบเดือนเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติไปจากเดิม
- ผู้ที่มีเลือดออกในช่องคลอดผิดปกติในช่วงระหว่างรอบเดือนหรือหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อการคุมกำเนิด แนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อวินิจจัยเพิ่มเติม และเข้ารับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย