backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก

คันช่องคลอด สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์ · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

คันช่องคลอด สาเหตุและการรักษา

คันช่องคลอด อาจมาพร้อมกับอาการระคายเคือง แสบ ร้อน หรือมีสารคัดหลั่ง เช่น ตกขาวที่ผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียจากการที่สมดุลของความเป็นกรดในช่องคลอดเสียไป วัยหมดประจำเดือน การติดเชื้อรา หรือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติไป ซึ่งอาการคันช่องคลอดที่มีความรุนแรงจนถึงขั้นรบกวนการใช้ชีวิต จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง และการรักษานั้นมีหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ดังนั้น การได้รับการตรวจโดยการตรวจภายในจะทำให้สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน และนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสม อีกทั้งสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ดีขึ้น

คันช่องคลอด เกิดจากสาเหตุใด

อาการคันช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ความไม่สมดุลของภาวะความเป็นกรดด่างในช่องคลอด

ตามปกติภายในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียประจำถิ่น (Normal flora) ชื่อ แลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) อาศัยอยู่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นภาวะที่ปกติ โดยที่แบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้ช่องคลอดมีภาวะเป็นกรดอ่อน ๆ แต่หากแบคทีเรียชนิดนี้มีจำนวนลดลง จะทำให้ความเป็นกรดด่างของช่องคลอดเสียสมดุลไป และทำให้แบคทีเรียชนิดอื่น ๆ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลของการเพิ่มขึ้นของแบคทีเรียเหล่านี้ จะทำให้เกิดการอักเสบของคลอดเกิดขึ้น ทำให้มีอาการคัน อักเสบ แสบร้อน และตกขาวมีกลิ่นเหม็น

อาจมีทั้งโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น เริมที่อวัยวะเพศ หูดหงอนไก่ เอดส์ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น  โรคหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส หรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อพยาธิ (Trichomonas) เชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองและคันช่องคลอดหรือปากช่องคลอดได้

  • วัยหมดประจำเดือน

รังไข่จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ส่งผลให้เยื่อบุผนังช่องคลอดบางลง แห้ง และขาดสารคัดหลั่งที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้

  • การติดเชื้อรา

เกิดขึ้นเมื่อเชื้อราแคนดิดาเจริญเติบโตในช่องคลอดมากเกินไป ซึ่งมีหลายปัจจัยส่งเสริม เช่น การตั้งครรภ์ การมีเพศสัมพันธ์ การใช้ยาปฏิชีวนะ การมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ ส่งผลทำให้มีอาการคัน ตกขาวมากขึ้น ตกขาวมีสีขาวข้น สีเหลือง สีเขียวและมีกลิ่นเหม็น

  • สารระคายเคืองทางเคมี

เช่น ถุงยางอนามัย น้ำยาซักผ้า สบู่ กระดาษชำระที่มีน้ำหอม รวมถึงการสวนล้างช่องคลอดด้วยสบู่ สามารถสร้างความระคายเคืองและทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดได้

  • โรคไลเคนสเคลโรซัส (Lichen sclerosus)

เป็นภาวะที่พบไม่บ่อย  มีลักษณะเป็นหย่อมสีขาวเกิดขึ้นบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณช่องคลอด อาจทำให้เกิดแผลเป็นและอาการคันได้ พบบ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

การรักษาอาการคันช่องคลอด

การระคายเคืองที่ทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดมักจะดีขึ้นโดยไม่ต้องรักษา แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น หรือกลับมาเป็นซ้ำบ่อยครั้ง ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุหลักของอาการ วิธีรักษาอาการคันช่องคลอดอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค ดังนี้

  • การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด คุณหมออาจให้ยารับประทานในกลุ่มเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) เป็นยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ควรรับประทานหลังอาหารทันที เนื่องจากอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน และควรใช้ยาให้ครบตามที่กำหนดเพื่อป้องกันการดื้อยา
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คุณหมอจะทำการรักษาตามโรคที่เป็น เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคหนองใน ใช้ยาต้านไวรัสเพื่อรักษาโรคเริม ใช้ยาแก้พยาธิเพื่อรักษาการติดเชื้อพยาธิ โดยต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด และงดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าการติดเชื้อหรือโรคจะหายไป โรคบางโรค เช่น โรคเอดส์ โรคเริม อาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการ และควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
  • วัยหมดประจำเดือน คุณหมออาจรักษาด้วยยาฮอร์โมนเอสโตรเจน รูปแบบยาเม็ด หรือมอยส์เจอร์ไรเซอร์สำหรับใช้ทาในช่องคลอดเพื่อช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้งและอาการคัน
  • การติดเชื้อยีสต์ คุณหมอมักรักษาด้วยยาต้านเชื้อรา โดยจะใช้ยารูปแบบครีม ขี้ผึ้ง หรือยาเหน็บสอดเข้าไปในช่องคลอด หรืออาจเป็นรูปแบบของยารับประทาน ยาเหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่หากการติดเชื้อรารุนแรงขึ้นหรือไม่หายไปควรไปพบคุณหมอเพื่อรับยาที่มีฤทธิ์แรงขึ้น และหาสาเหตุเพิ่มเติม เช่น การติดเชื้อราดื้อยา ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
  • สารระคายเคืองทางเคมี เพื่อหลีกเลี่ยงอาการคันช่องคลอดจากสารเคมีในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรอ่อนโยน ไม่มีน้ำหอม หรือผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศโดยเฉพาะ หลีกเลี่ยงการสวนล้างเพราะอาจทำลายความสมดุลของแบคทีเรียดีในช่องคลอด ทำให้ช่องคลอดติดเชื้อได้ง่าย
  • โรคไลเคนสเคลโรซัส สามารถใช้ครีมสเตียรอยด์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ หรืออาจรับสเตียรอยด์ที่มีความเข้มข้นสูงเพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองจากไลเคนสเคลโรซัส

วิธีป้องกันอาการคันช่องคลอด

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการคันช่องคลอด สามารถทำได้ ดังนี้

  • ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกเป็นประจำ ด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่สูตรอ่อนโยน  หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอดเนื่องจากอาจทำให้ระคายเคืองและเสียความสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอดได้
  • เช็ดอวัยวะเพศให้แห้งเสมอ โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลังเพื่อลดโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียหรือสิ่งสกปรกเข้าสู่ช่องคลอด
  • สวมกางเกงผ้าฝ้ายหรือผ้าที่ระบายอาการดี ไม่อับชื้น และไม่คับแน่นจนเกินไป และควรเปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้กระดาษชำระที่มีน้ำหอม และหลีกเลี่ยงการทาครีมหรือแป้งในบริเวณอวัยวะเพศ
  • หลีกเลี่ยงการเกาเพราะอาจทำให้บริเวณอวัยวะเพศระคายเคืองได้
  • ใช้ถุงยางอนามัยระหว่างมีเพศสัมพันธ์เพื่อช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าอาการคันช่องคลอดหรือโรคจะดีขึ้น
  • หากมีภาวะช่องคลอดแห้งอาจใช้มอยเจอร์ไรเซอร์สำหรับช่องคลอดทาในช่องคลอด และก่อนมีเพศสัมพันธ์ให้ใช้เจลหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุจิณันฐ์ นันทาภิวัธน์

สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลนครพิงค์


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 27/10/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา