แม้พาร์สลีย์อาจทำให้เมนส์มา แต่การได้รับเอพิออลมากเกินไปอาจเป็นพิษได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้หญิงในระยะให้นม หรือผู้หญิงที่ไตมีปัญหา จึงควรบริโภคอย่างระมัดระวัง
ผ่อนคลายบ้าง
บางครั้งปัญหาประจำเดือนมาช้า หรือประจำเดือนขาด อาจเป็นผลมาจากความเครียด เพราะเมื่อเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิด เช่น คอร์ติซอล (Cortisol) อะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมามาก ฮอร์โมนเหล่านี้จะไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ช่วยให้รอบเดือนเป็นปกติ
ดังนั้น วิธีที่จะทำยังไงให้เมนส์มาอาจทำได้ด้วยการหาเวลาพักผ่อน หรือคลายเครียด ด้วยการออกกำลังกาย เล่นโยคะ ใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัว ทำงานให้น้อยลง ทำงานอดิเรก ฝึกสมาธิ หรือทำกิจกรรมคลายเครียดในแบบที่ตนเองชอบ หรือหากเครียดมากจนวิธีดังกล่าวไม่ช่วยให้หายเครียดได้ ก็อาจต้องปรึกษาคุณหมอ และอาจต้องกินยาคลายเครียด
ประคบร้อน หรืออาบน้ำอุ่น
การอาบน้ำอุ่น หรือประคบร้อนบริเวณหน้าท้อง จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึงตัว และช่วยผ่อนคลายความเครียดทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ความร้อนไม่เพียงแต่จะช่วยให้ผ่อนคลาย แต่ยังอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด และค่อย ๆ ช่วยเร่งให้ประจำเดือนมาได้
มีเซ็กส์
ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่า กิจกรรมทางเพศช่วยกระตุ้นให้ประจำเดือนมาได้ การถึงจุดสุดยอด หรือออกัสซั่ม (Orgasm) ไม่ว่าจะมีการสอดใส่หรือไม่มีก็ตาม จะทำให้ปากมดลูกขยายตัว และอาจช่วยให้เลือดประจำเดือนหลั่งออกมาได้ นอกจากนี้ การมีเซ็กส์แบบพอดี ยังช่วยคลายเครียด และช่วยปรับสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือนทั้งสิ้น
ออกกำลังกายให้น้อยลง
หากชอบออกกำลังกายหนัก อาจต้องเพลาการออกกำลังกายลง เนื่องจากการออกกำลังกายหนักเกินไป จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จนประจำเดือนผิดปกติ มาช้า หรือประจำเดือนไม่มาได้
ใช้ยาคุมกำเนิด
หากมีปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติเรื้อรัง วิธีเร่งประจำเดือนที่กล่าวมา อาจไม่ได้ผล และอาจต้องใช้การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมน เพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกาย และทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ดี การเร่งประจำเดือนด้วยการคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนอาจมีผลข้างเคียง ฉะนั้นจึงควรปรึกษาคุณหมอก่อนตัดสินใจใช้วิธีเร่งประจำเดือนวิธีนี้
ลดน้ำหนัก
น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงสามารถส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนได้ หากน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็อาจทำให้ร่างกายขาดไขมันซึ่งจำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จึงส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และบางคนถึงขั้นประจำเดือนไม่มาเลยก็มี ไม่ใช่แค่น้ำหนักน้อย คนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วนก็สามารถส่งผลต่อฮอร์โมนและการมีประจำเดือนได้เช่นกัน
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย