backup og meta

นมใหญ่ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    นมใหญ่ เกิดจากอะไร ผิดปกติหรือไม่

    นมใหญ่ หมายถึง การมีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าขนาดหน้าอกเฉลี่ย สำหรับผู้หญิงไทยรอบอกเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 32 นิ้ว แต่บางคนอาจมีนมใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งอาจทำให้เสียความมั่นใจ ทั้งนี้ นมใหญ่เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย อาทิ พันธุกรรม การตั้งครรภ์ ความอ้วน แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องการมีนมใหญ่ แต่สำหรับด้านสุขภาพแล้ว นมใหญ่อาจเป็นสาเหตุของการปวดหลัง หัวไหล่ หรือลำคอ รวมถึงอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเม็ดผื่นและโรคผิวหนังบริเวณหน้าอกและใต้ราวนมได้ด้วย

    นมใหญ่เกิดจากอะไร

    นมใหญ่ หรือการมีขนาดหน้าอกที่ใหญ่กว่าค่าเฉลี่ยถือเป็นลักษณะของร่างกายที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับสีผิวหรือความสูง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด แต่อาจทำให้เกิดความกังวลได้ ทั้งนี้ การที่มีนมใหญ่อาจเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

    • พันธุกรรม ซึ่งสืบทอดผ่านยีนของบิดาหรือมารดา
    • ฮอร์โมน จากการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเพศเอสโทรเจน (Estrogen) ในช่วงวัยรุ่น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เมื่อตั้งครรภ์
    • น้ำหนักตัว เนื่องจากเต้านมประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อไขมัน เมื่อน้ำหนักเพิ่มขึ้น ขนาดเต้านมจึงอาจขยายไปด้วยได้

    นมใหญ่ หมายถึงขนาดหน้าอกเท่าไรบ้าง

    ปัจจุบัน ยังไม่พบนิยามของ นมใหญ่ อย่างเป็นทางการ โดยปกติผู้ที่มีนมใหญ่ มักหมายถึงผู้หญิงที่มีหน้าอกคัพ D ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของคนไทยหรือคนเอเชียส่วนใหญ่ นมใหญ่อาจเป็นนิยามของผู้หญิงซึ่งมีขนาดหน้าอกใหญ่กว่าค่าเฉลี่ย หรือใหญ่กว่าคัพ A หรือ B (รอบอก 32 นิ้ว )

    นมใหญ่ และปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น

    นมใหญ่ อาจเป็นความต้องการของผู้หญิงบางคน เพราะเชื่อกันว่านมใหญ่เป็นคุณสมบัติแง่บวก ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเอง ทำให้ใส่เสื้อผ้าได้สวยงามขึ้น อย่างไรก็ตาม การมีนมใหญ่อาจสร้างปัญหาในชีวิตประจำวัน หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ ดังนี้

    • อาการปวดตามร่างกาย น้ำหนักของหน้าอกที่มีขนาดใหญ่ อาจทำให้ผู้หญิงบางคนใช้ชีวิตประจำวันในสภาพหลังค่อม ไหล่ตก และท้ายที่สุดก็อาจนำไปสู่อาการปวดหลัง คอ หรือหัวไหล่ ผลการศึกษาหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Open Orthopaedics Journal เมื่อปี พ.ศ. 2555 ระบุว่า การมีนมใหญ่ อาจทำให้กล้ามเนื้อทราพีเซียส (Trapezius) ซึ่งอยู่บริเวณหลังและลำคอ มีอาการเกร็งอย่างต่อเนื่องด้วย
    • ผื่นขึ้น ผู้หญิงนมใหญ่ มีโอกาสพบผื่นขึ้นระหว่างหน้าอกหรือใต้หน้าอก เนื่องจากการเสียดสีกันระหว่างหน้าอกทั้ง 2 ข้าง รวมถึงระหว่างหน้าอกกับผิวหนังบริเวณหน้าท้อง เกิดการอับชื้นหากไม่ได้รับการทำความสะอาดหรือซับให้แห้งหลังอาบน้ำ นำไปสู่การติดเชื้อราบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ ผื่นที่พบจะเป็นสีแดงหรือน้ำตาลแดง และเกิดร่วมกับอาการคัน ผิวหนังแตก หรือแผลพุพอง
    • ออกกำลังกายลำบาก ผู้หญิงนมใหญ่อาจพบปัญหาในการออกกำลังกาย เนื่องจากน้ำหนักของหน้าอกซึ่งอาจทำให้หน้าอกกระเพื่อมไปมาระหว่างการเคลื่อนไหว นอกจากนี้ นมใหญ่อาจทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น และมีส่วนให้ออกกำลังกายได้ไม่นานอย่างที่ตั้งใจไว้
    • เป็นเหน็บชา ผู้หญิงที่มีนมใหญ่ อาจใส่เสื้อชั้นในขนาดเล็กเกินไป นำไปสู่การเป็นเหน็บชาที่บริเวณหน้าอก รวมถึงตามมือหรือนิ้วมือเนื่องจากเส้นประสาทบริเวณหน้าอกถูกกดไว้

    นมใหญ่ เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านมหรือไม่

    นมใหญ่ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าอาจเป็นสาเหตุมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีการศึกษาชิ้นใดระบุว่าการมี นมใหญ่เพิ่มความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วน ซึ่งทำให้มีขนาดหน้าอกใหญ่ตามไปด้วย อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดที่ว่า ผู้หญิงนมใหญ่มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้หญิงที่มีหน้าอกเล็ก จริง ๆ แล้ว ขนาดหน้าอกไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม แต่ภาวะน้ำหนักเกินคือปัจจัยหลักที่ทำให้เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม

    การศึกษาของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา พบว่าผู้หญิงซึ่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 9-13 กิโลกรัม ในวัยผู้ใหญ่ มีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งเต้านมหลังหมดประจำเดือน มากกว่าผู้หญิงซึ่งน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นไม่เกิน2.2 กิโลกรัม ราว 40 เปอร์เซ็นต์

    นมใหญ่ และการผ่าตัดลดขนาด

    การผ่าตัดลดขนาดหน้าอก สามารถทำได้หากผู้ที่มีนมใหญ่ไม่พอใจกับขนาดหน้าอก หรือพบปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ถูกจ้องมอง โดนล้อเลียน หาเสื้อผ้าใส่ยาก

    หากมีนมใหญ่ แล้วต้องการผ่าตัดลดขนาดหน้าอก คุณหมอจะผ่ารอบ ๆ หัวนมและข้างใต้เต้านม เพื่อนำเนื้อเยื่อและไขมันส่วนเกินออกมา ก่อนปรับรูปร่างของหน้าอกใหม่ จัดตำแหน่งของหัวนม แล้วเย็บปิดแผล

    ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่พบได้หลังจากผ่าตัดคือ อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการให้นมบุตร รวมทั้งอาจทำให้หัวนมไวต่อความรู้สึกน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลต่อความพึงพอใจที่ลดลงไปด้วยเมื่อมีเพศสัมพันธ์

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 06/03/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา