backup og meta

ประจำเดือนมามาก สาเหตุ อาการ และการรักษา

ประจำเดือนมามาก สาเหตุ อาการ และการรักษา

ประจำเดือนมามาก เป็นปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนผิดปกติ เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หากไม่รักษาอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือนำไปสู่ภาวะอื่นที่รุนแรงได้

[embed-health-tool-ovulation]

คำจำกัดความ

ประจำเดือนมามาก คืออะไร

ประจำเดือนมามาก หมายถึงการที่มีเลือดประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอดมากกว่าปกติ หรือนานกว่าปกติ ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละบุคคล ผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีประจำเดือนไม่เกิน 7 วัน โดยประจำเดือนอาจมามากในช่วง 3 วันแรก และลดน้อยลงในช่วงวันหลัง ๆ แต่หากประจำเดือนยังคงมาอย่างต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน หรือประจำมามากจนจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมงตลอดทั้งวัน ก็อาจหมายความว่ากำลังประสบกับภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ 

ประจำเดือนมามากอาจก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งสร้างความไม่สะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน หรือทำให้รู้สึกไม่สบายตัว นอกจากนี้ ยังอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดมากเกินไปได้ด้วย

ประจำเดือนมามากพบได้บ่อยแค่ไหน

ประจำเดือนมามากเป็นปัญหาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดปรึกษาแพทย์

อาการ

อาการของประจำเดือนมามาก

อาการทั่วไปของประจำเดือนมามาก มีดังนี้

  • มีประจำเดือนติดต่อกันนานเกิน 7 วัน
  • จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ ชั่วโมง นานตลอดทั้งวัน หรือจำเป็นต้องใช้ผ้าอนามัยมากกว่าครั้งละ 1 ชิ้นเพื่อช่วยซึมซับเลือด
  • จำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยในช่วงกลางดึก 
  • มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ไหลปะปนออกมากับประจำเดือน

นอกจากนี้ บางคนยังอาจมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง หรืออาการของภาวะโลหิตจาง เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด ร่วมด้วย

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากคุณหมอ หากพบอาการดังต่อไปนี้

หรือหากมีข้อกังวลใด ๆ เกี่ยวกับอาการประจำเดือนมามาก ก็ควรติดต่อเข้ารับคำปรึกษาจากคุณหมอ

สาเหตุ

สาเหตุของ อาการประจำเดือนมามาก

ประจำเดือนมามากอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • ฮอร์โมนผิดปกติ ปัญหาฮอร์โมนเพศในร่างกายไม่สมดุล อาจส่งผลกระทบต่อการตกไข่และการมีประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมามากกว่าปกติได้
  • เนื้องอกในมดลูก ก้อนเนื้องอกหรือติ่งเนื้อที่เกิดขึ้นภายในมดลูก อาจส่งผลให้มีอาการเลือดออกจากช่องคลอดมากผิดปกติ และทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงได้
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ ที่เกิดขึ้นจากปัญหาเลือดไม่ยอมแข็งตัว อาจทำให้มีเลือดออกมากผิดปกติ รวมถึงเลือดประจำเดือน
  • โรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งรังไข่ โรคมะเร็งปากมดลูก
  • การใช้ยา เช่น ยาเจือจางเลือด ยาแอสไพริน ยาละลายลิ่มเลือด อาจทำให้มีเลือดออกมากได้
  • การใช้ห่วงอนามัยเพื่อคุมกำเนิด
  • สภาวะอื่น ๆ เช่น การแท้งบุตร การตั้งครรภ์นอกมดลูก โรคตับ โรคไต โรคไทรอยด์

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของประจำเดือนมามาก

ปัจจัยที่อาจทำให้เสี่ยงมีประจำเดือนมามาก มีดังนี้

  • โรคประจำตัว เช่น เนื้องอกในมดลูก โรคตับ โรคไต โรคมะเร็งปากมดลูก
  • ประวัติการแท้งบุตร หรือประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • การใช้ยาที่ส่งผลกระทบกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาเจือจางเลือด ยาละลายลิ่มเลือด ยาแอสไพริน
  • อายุ มีงานวิจัยที่พบว่า ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 29 ปี อาจมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะมีประจำเดือนมามาก
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยประจำเดือนมามาก

คุณหมอจะวินิจฉัยภาวะประจำเดือนมามาก โดยเริ่มจากการตรวจร่างกายและการซักประวัติ โดยอาจถามถึงระยะเวลาในการมีประจำเดือน และจำนวนของผ้าอนามัยที่ต้องใช้คร่าว ๆ จากนั้นอาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติม เพื่อสาเหตุของภาวะประจำเดือนมามากผิดปกติ ดังนี้

  • ตรวจเลือด เก็บตัวอย่างของเลือดเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น ตรวจดูลิ่มเลือด ตรวจหาภาวะโลหิตจาง ตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับไทรอยด์
  • ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อโพรงมดลูก เพื่อหาเซลล์ผิดปกติที่อาจพัฒนาเป็นเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็ง
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
  • ตรวจอัลตราซาวด์ ฉายภาพภายในร่างกายบริเวณมดลูกและโดยรอบเพื่อมองหาความผิดปกติ

การรักษาประจำเดือนมามาก

การรักษาประจำเดือนมามากจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและสภาวะร่างกายของผู้ป่วย โดยอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ฮอร์โมนบำบัด เช่น ใช้ยาคุมกำเนิดแบบฮอร์โมน ให้ยาเม็ดฮอร์โมน สำหรับผู้ที่ประจำเดือนมามากเนื่องจากฮอร์โมนผิดปกติ
  • การผ่าตัด เพื่อกำจัดเนื้องอกหรือติ่งที่ภายในมดลูก การขูดมดลูก การทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) หรือในกรณีรุนแรงอาจต้องผ่าตัดนำมดลูกออก
  • การใช้ยา เช่น ยาแก้ปวดอย่าง ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) สำหรับบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (Antifibrinolytic Agents) เพื่อทำให้เลือดแข็งตัวได้ตามปกติ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์หรือดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับ ประจำเดือนมามากผิดปกติ

เนื่องจากประจำเดือนมามากอาจนำไปสู่ภาวะโลหิตจางได้ ดังนั้น การดูแลตัวเองและเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับ เนื้อแดง ไข่ ธัญพืชเต็มเมล็ด ผักใบเขียว อาจช่วยบำรุงเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะโลหิตจางจากประจำเดือนมามากได้ นอกจากนี้ อาหารเสริมธาตุเหล็กก็อาจเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกในการเสริมธาตุเหล็กให้ร่างกายได้เช่นกัน

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Heavy Menstrual Bleeding. https://www.acog.org/womens-health/faqs/heavy-menstrual-bleeding

Heavy periods. https://www.nhs.uk/conditions/heavy-periods/. Accessed September 6, 2021.

Heavy Menstrual Bleeding. https://www.cdc.gov/ncbddd/blooddisorders/women/menorrhagia.html. Accessed September 6, 2021.

Menorrhagia (heavy menstrual bleeding). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/menorrhagia/symptoms-causes/syc-20352829. Accessed September 6, 2021.

Menorrhagia (Heavy Period). https://www.webmd.com/women/heavy-period-causes-treatments. Accessed September 6, 2021.

Heavy menstrual bleeding among women aged 18–50 years living in Beijing, China: prevalence, risk factors, and impact on daily life. Heavy menstrual bleeding among women aged 18–50 years living in Beijing, China: prevalence, risk factors, and impact on daily life (nih.gov). Accessed September 6, 2021.

Iron-Rich Foods. https://www.webmd.com/diet/iron-rich-foods#1. Accessed September 6, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

27/09/2022

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ความบกพร่องทางเพศของผู้ชาย กับปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง

ประจำเดือนไม่มา แต่ผลตรวจครรภ์เป็นลบ มีสาเหตุจากอะไร


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 27/09/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา