ทั้งนี้ ฟีโรโมนจะทำหน้าที่แตกต่างจากฮอร์โมนตรงที่ ฮอร์โมนเป็นสารที่ร่างกายผลิตขึ้นและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในร่างกาย ในขณะที่ฟีโรโมนเป็นสารที่หลั่งออกมาอยู่ภายนอกและส่งผลต่อผู้อื่นที่อยู่ใกล้ ทั้งด้านอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการทางเพศ
นอกจากนี้ ยังมีสมมติฐานหลายข้อเกี่ยวกับฟีโรโมนในมนุษย์ อย่างสารคัดหลั่งจากหัวนมของหญิงระยะให้นมบุตรว่าอาจมีฟีโรโมนที่กระตุ้นให้ทารกดูดนมจากมารดา หรือฟีโรโมนเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ด้วยกันมีรอบเดือนในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน
ฟีโรโมน เกี่ยวข้องกับอารมณ์ทางเพศในมนุษย์อย่างไร
ฟีโรโมนในมนุษย์ เช่น เหงื่อ กลิ่นตัว ซึ่งมีฮอร์โมนบางชนิดเป็นส่วนประกอบนั้นอาจมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ โดยเฉพาะอารมณ์ทางเพศ
งานวิจัยชิ้นหนึ่ง เรื่องคุณสมบัติของฟีโรโมนต่ออารมณ์และความต้องการทางเพศของผู้หญิง เผยแพร่ในวารสาร Facts, Views and Vision in Obstetrics and Gynaecology ปี พ.ศ. 2556 ระบุว่าฮอร์โมนแอนโดรสตาเดียโนน ซึ่งเปรียบเสมือนฟีโรโมนของมนุษย์นั้น พบมากในเหงื่อของเพศชายและสามารถตรวจจับได้โดยระบบประสาทรับสัญญาณของเพศหญิง โดยแอนโดรสตาเดียโนนมีผลแง่บวกต่ออารมณ์ สมาธิ และอารมณ์ทางเพศของเพศหญิง นอกจากนั้น ฟีโรโมนยังอาจสัมพันธ์ต่อการเลือกคู่ของมนุษย์อีกด้วย
ในขณะเดียวกัน งานวิจัยอีกชิ้น ศึกษาเกี่ยวกับบทบาทของฟีโรโมนเอสเทรทเทรนอล ซึ่งผลิตและหลั่งจากร่างกายเพศหญิง ต่อการตอบสนองของเพศชาย ตีพิมพ์ในวารสาร Social Cognitive and Affective Neuroscience ปี พ.ศ. 2562 นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างเพศชายสัมผัสกับเอสเทรทเทรนอล แล้วทดสอบพฤติกรรมของต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ผลปรากฏว่า เอสเทรทเทรนอลช่วยให้เพศชายทำงานได้แม่นยำมากขึ้น รวมถึงอาจกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศด้วย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย