หลอดเลือดและน้ำเหลือง
เลือดจะไหลผ่านหลอดเลือดแดงมดลูกและหลอดลือดแดงรังไข่ เพื่อลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงมดลูก และระบายเลือดเสียผ่านหลอดเลือดดำมดลูกไหลเข้าสู่หลอดเลือดดำอุ้งเชิงกรานภายในระหว่างช่องเอ็น Broad Ligament ส่วนการระบายน้ำเหลืองของมดลูกจะลำเลียงผ่านต่อมน้ำเหลืองอุ้งเชิงกราน (Iliac) กระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ (Sacrum) หลอดเลือดแดงใหญ่ (Aortic) และต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (Inguinal lymph nodes)
หน้าที่ของมดลูก
มดลูกมีบทบาทสำคัญในวงจรการเจริญพันธุ์ การสืบพันธุ์ และการคลอดบุตร โดยภายในมดลูกมีเนื้อเยื่อที่เรียกว่า เยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเป็นผนังมดลูกชั้นในสุดที่ความหนาอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับระดับของฮอร์โมนที่มักเกิดขึ้นระหว่างรอบเดือน เยื่อบุโพรงมดลูกจะเกิดกระบวนการก่อตัวของหลอดเลือดใหม่ (Vascularization) โดยหลอดเลือดขนาดเล็กจะขยายตัว และเยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมการฝังตัวของไข่ แต่หากไข่ไม่ได้รับการปฏิสนธิ เยื่อบุโพรงมดลูกและไข่จะหลุดลอกออกและกลายเป็นประจำเดือน
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์ มดลูกจะเริ่มขยายตัวและผนังมดลูกจะบางลงเพื่อรองรับน้ำคร่ำและการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงปัสสาวะและสารคัดหลั่งของทารก ชั้นกล้ามเนื้อของมดลูกจะบีบตัวและขยายออกเป็นระยะเพื่อเตรียมพร้อมคลอดบุตร หรือที่เรียกว่า อาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องหลอก (Braxton Hick Contraction) ซึ่งอาจทำให้มีอาการคล้ายกับปวดประจำเดือน
หลังจากคลอดบุตร มดลูกจะหดตัวเพื่อขับรกออกมา และยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มดลูกกลับมามีขนาดปกติและเพื่อห้ามเลือดที่ไหลออกมาในระหว่างคลอดบุตร
โรคเกี่ยวกับมดลูกที่พบบ่อย
โรคเกี่ยวกับมดลูกที่พบบ่อย มีดังนี้
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หรือ ช็อกโกแลตซีส (Chocolate Cyst) เป็นภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกเกิดขึ้นผิดตำแหน่ง เช่น ในรังไข่ หลังมดลูก ลำไส้ หรือในกระเพาะปัสสาวะ จนอาจทำให้มีอาการปวดที่หน้าท้องส่วนล่างหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน เกิดภาวะมีบุตรยาก และประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- เนื้องอกในมดลูก (Uterine Fibroids) เป็นเนื้องอกไม่ร้าย หรือเนื้องอกที่ไม่กลายเป็นมะเร็ง พบบ่อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื้องอกจะเติบโตด้านในและรอบผนังมดลูกอย่างไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ประจำเดือนมามาก ปัสสาวะบ่อย เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ปวดหลังส่วนล่าง เกิดภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตรหลายครั้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
- ติ่งเนื้อมดลูก เป็นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อผนังมดลูก ขนาดที่พบอาจมีตั้งแต่เท่าเมล็ดงาไปจนถึงเท่าลูกกอล์ฟ ติ่งเนื้ออาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เลือดออกมาก และอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ปรสิต หรือไวรัสผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันด้วยถุงยางอนามัย หากเกิดในผู้หญิงตั้งครรภ์อาจส่งผลกระทบรุนแรง และอาจส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ด้วย
- โรคมะเร็ง มะเร็งอาจเริ่มต้นในอวัยวะสืบพันธ์ุของผู้หญิงภายในกระดูกเชิงกราน ซึ่งเป็นบริเวณใต้ท้องและระหว่างกระดูกสะโพก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งในช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด
- ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome : PCOS) เกิดขึ้นเมื่อรังไข่หรือต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ มักพบในผู้หญิงที่เป็นโรคอ้วน ภาวะนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ โรคเบาหวาน และอาจทำให้มีอาการปวดกระดูกเชิงกราน สิวขึ้น ผิวมัน มีรังแค ขนขึ้นมากบนใบหน้า หน้าอก ท้อง นิ้วหัวแม่มือ หรือนิ้วเท้า
- โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Interstitial Cystitis) ภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะปัสสาวะ มีอาการปวดในกระเพาะปัสสาวะหรืออุ้งเชิงกราน ปัสสาวะบ่อย และอั้นปัสสาวะไม่ได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย