ยาเลื่อนประจําเดือนกินยังไง อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย โดยส่วนใหญ่ยาเลื่อนประจำเดือนอาจมีคุณสมบัติในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกและการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการมีประจำเดือน จึงควรกินยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เช่น ยาเม็ดนอร์อิทิสเตอโรน (Norethisterone) ยาเม็ดคุมกำเนิด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นเวลา 7-10 วัน แต่ไม่ควรกินนานเกิน 2 สัปดาห์
[embed-health-tool-ovulation]
ยาเลื่อนประจําเดือน คืออะไร
ยาเลื่อนประจําเดือน คือ ยาที่มีคุณสมบัติในการช่วยชะลอและเลื่อนช่วงเวลาการมีประจำเดือนออกไประยะหนึ่ง ซึ่งสามารถใช้ได้ทั้งยาเม็ดนอร์อิทิสเตอโรนและยาเม็ดคุมกำเนิด ในการเลื่อนประจำเดือนอาจมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคล่องตัวเป็นอย่างมาก เช่น การทำงาน การท่องเที่ยว การเล่นกีฬา รวมถึงผู้ที่ไม่สะดวกในการเปลี่ยนผ้าอนามัยหรืออาจเสี่ยงที่ประจำเดือนจะเลอะออกมาได้
การทำงานของยาเลื่อนประจําเดือน
ยาเลื่อนประจำเดือนเป็นยาเม็ดที่ประกอบด้วย นอร์อิทิสเตอโรน ขนาด 5 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นฮอร์โมนโปรเจสตินสังเคราะห์ ออกฤทธิ์คล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่ร่างกายสร้างขึ้นเอง ซึ่งตัวยาจะทำงานโดยการยับยั้งการเจริญเติบโตตามปกติของเยื่อบุโพรงมดลูกในระหว่างรอบเดือน ทำให้ประจำเดือนเลื่อน และหากใช้ยาไดโดรเจสเตอโรน (Dydrogesterone) อาจใช้เพื่อรักษาความผิดปกติของรอบเดือนอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะเลือดออกผิดปกติ อาการก่อนเป็นประจำเดือน (Premenstrual Syndrome หรือ PMS) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้มีอาการหงุดหงิดหรือปวดหัวก่อนมีประจำเดือน
นอกจากนี้ การกินยาคุมกำเนิดทั้งแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด ก็อาจช่วยเลื่อนประจำเดือนได้เช่นกัน ซึ่งการทำงานของตัวยามีหลักการเดียวกันกับยานอร์อิทิสเตอโรนนอร์เอทีสเตอโรน
ยาเลื่อนประจําเดือนกินยังไง
ยานอร์อิทิสเตอโรนและยาคุมกำเนิดจะใช้หลักการกินเช่นเดียวกันเพื่อช่วยในการเลื่อนประจำเดือน แต่สำหรับยาคุมกำเนิดให้กินเฉพาะเม็ดที่ประกอบด้วยตัวยา ไม่ใช่กินเม็ดแป้ง 7 เม็ดสุดท้าย โดยวิธีการกินยาเลื่อนประจำเดือน อาจทำได้ดังนี้
- กินยานอร์อิทิสเตอโรนพร้อมกับอาหารหรือหลังอาหาร เพื่อป้องกันอาการปวดท้องหลังจากกินยา
- ควรเริ่มกินยาอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะเป็นประจำเดือน
- กินยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือวันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวันและเย็น เป็นเวลา 7-10 วัน แต่ไม่ควรกินนานเกิน 2 สัปดาห์ เพราะอาจส่งผลเสียต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
- หลังหยุดยาประจำเดือนจะมาภายใน 7 วัน
อย่างไรก็ตาม หากหยุดกินยานอร์อิทิสเตอโรนในการเลื่อนประจำเดือนเกิน 1 สัปดาห์ แต่ประจำเดือนยังไม่มา ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจการตั้งครรภ์หรือความผิดปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เพราะอาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเริ่มกินยาเลื่อนประจำเดือน
นอกจากนี้ ยาคุมกำเนิดไม่ว่าจะเป็นแบบ 21 เม็ด และ 28 เม็ด อาจมีการทำงานหรือมีปริมาณฮอร์โมนในตัวยาที่แตกต่างกัน จึงควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอเพิ่มเติมสำหรับการกินยาเพื่อช่วยเลื่อนประจำเดือนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อควรระวังในการกินยาเลื่อนประจําเดือน
ยาเลื่อนประจำเดือนอาจไม่เหมาะกับทุกคนโดยอาจมีข้อควรระวังในการใช้สำหรับผู้มีปัจจัยต่อไปนี้
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้มีอายุครรภ์เดือนครึ่งขึ้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ระบบสืบพันธุ์ของทารกกำลังมีการพัฒนา ตัวยาอาจเข้าไปทำให้เกิดความผิดปกติของอวัยวะเพศในทารกเพศหญิง จนทำให้อวัยวะเพศหญิงของทารกมีลักษณะภายนอกคล้ายกับเพศชายได้
- ผู้หญิงที่ให้นมลูก เนื่องจากยาอาจส่งผลทำให้การสร้างน้ำนมลดลง จึงควรหลีกเลี่ยงหากจำเป็นต้องให้นมลูก
- ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่ โรคอ้วน โรคหลอดเลือดอุดตัน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เพราะยาอาจออกฤทธิ์และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหลอดเลือดอุดตันได้
- ผู้ที่เป็นโรคตับขั้นรุนแรงหรือเคยมีประวัติเป็นโรคตับ เนื่องจากตับมีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย การกินยาเลื่อนประจำเดือนอาจส่งผลต่อการทำงานของตับ ทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ และอาจทำให้สารพิษจากยาสะสมในร่างกาย