backup og meta

วัยทองอายุเท่าไหร่ เข้าสู่วัยทองแล้วมีอาการอย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    วัยทองอายุเท่าไหร่ เข้าสู่วัยทองแล้วมีอาการอย่างไร

    วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิง เป็นภาวะธรรมชาติที่ร่างกายหยุดสร้างฮอร์โมนและหยุดการผลิตไข่ทำให้ประจำเดือนไม่มา และมักส่งผลให้มีอาการร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย และเหงื่อออกตอนกลางคืน ถ้าถามว่า วัยทองอายุเท่าไหร่? คำตอบคือช่วงอายุประมาณ 45-55 ปี

    วัยทองอายุเท่าไหร่ เกิดขึ้นกับใครบ้าง

    วัยทอง (Menopause) เป็นภาวะธรรมชาติอย่างหนึ่งของร่างกายที่ผลิตฮอร์โมนเพศลดลง จนส่งผลให้เกิดอาการแปรปรวน โดยเฉพาะในผู้หญิง หมายถึง การหมดประจำเดือน หรือการที่ประจำเดือนไม่มาเป็นเวลา 12 เดือนขึ้นไป

    โดยทั่วไป วัยทองมักเกิดขึ้นในช่วงอายุระหว่าง 45-55 ปี แต่ในบางรายอาจอายุต่ำกว่า 40ปี เรียกว่า ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัยอันควร (Premature Menopause)

    สาเหตุของวัยทอง คือการลดลงของฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเจอโรน (Progesterone) ในร่างกายเพศหญิง โดยฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะค่อย ๆ ลดลงจนหมดไป ทำให้ผู้หญิงไม่ได้หมดประจำเดือนในทันที แต่จะมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติก่อน

    ทั้งนี้ วัยทองยังเป็นคำที่ใช้เรียกผู้ชายที่ร่างกายเริ่มมีฮอร์โมนเพศเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ลดลงเช่นเดียวกัน โดยภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออายุประมาณ 40 ปี แต่จะค่อย ๆ ลดลง ต่างจากในผู้หญิง

    ทั้งนี้ เทสโทสเตอโรนในผู้ชายส่วนมากจะไม่ลดลงจนต่ำกว่าเกณฑ์หรือหมดไปในทันที ทำให้วัยทองในผู้ชายแทบไม่ส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือรบกวนการดำเนินชีวิต

    วัยทอง มีอาการอย่างไร

    วัยทอง มักส่งผลให้ผู้หญิงมีอาการดังต่อไปนี้

    • รู้สึกร้อนวูบวาบไปทั่วร่างกาย
    • เหงื่อออกตอนกลางคืน
    • ช่องคลอดแห้ง ซึ่งจะทำให้เจ็บช่องคลอดหรือไม่สบายตัวระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ปัสสาวะบ่อยขึ้น
    • นอนไม่หลับ
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ปวดข้อหรือกล้ามเนื้อ
    • ผมบางลง
    • ความต้องการทางเพศลดลง
    • อารมณ์แปรปรวน
    • ความทรงจำแย่ลง
    • กระดูกบางลงทำห้เกิดการบาดเจ็บกระดูกหักมากขึ้นในวัยทอง

    โดยทั่วไป อาการข้างต้นจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงวัยทอง ช่วง 1-2 ปีแรกที่หมดประจำเดือน และมักจะมีอาการน้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการวัยทองเป็นเวลาถึง 10 ปีได้

    ภาวะแทรกซ้อนเมื่อเข้าสู่ วัยทอง

    เมื่อเข้าสู่วัยทอง ผู้หญิงมักเสี่ยงสูงต่อภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้

    • น้ำหนักเพิ่มขึ้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่วัยทองและหลังเข้าสู่วัยทองแล้ว ระบบเผาผลาญของผู้หญิงจะทำงานช้าลง ส่งผลให้ผู้หญิงหลายคนมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
    • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีคุณสมบัติรักษาความแข็งแรงของกระดูก เมื่อเอสโตรเจนลดลงหลังเข้าสู่วัยทอง มวลกระดูกจึงลดลงตามไปด้วย และเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้หญิงวัยทองเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าก่อนเข้าสู่วัยทอง
    • โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเอสโตรเจนลดลงส่งผลให้หลอดเลือดแคบลงและเลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวก ทำให้ผู้หญิงวัยทองเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น
    • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ เอสโตรเจนที่ลดลง มีผลให้กลไกป้องกันการติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะทำงานได้แย่ลง ผู้หญิงวัยทองจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะมากขึ้น

    เมื่อเข้าสู่วัยทอง ควรดูแลตัวเองอย่างไร

    ผู้หญิงวัยทอง ควรดูแลตัวเองตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้

    • ดื่มน้ำเย็น พยายามอยู่ในที่ร่ม หรือห้องที่อากาศถ่ายเท รวมทั้งเปิดเครื่องปรับอากาศในห้องนอนให้มีอุณหภูมิประมาณ 25 องศา หรือเปิดพัดลมเมื่อรู้สึกร้อนวูบวาบ
    • ใช้มอยส์เจอไรเซอร์สำหรับช่องคลอด รวมถึงเจลหล่อลื่น หรือปรึกษาคุณหมอเพื่อรับยาเหน็บที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อแก้ปัญหาช่องคลอดแห้ง และอาการแสบช่องคลอดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น และลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
    • ออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานหรือฝึกขมิบช่องคลอดเพื่อเสริมสร้างความแข็งให้กระเพาะปัสสาวะ
    • พยายามติดต่อครอบครัวหรือเพื่อน ๆ อยู่เสมอ เพื่อป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ
    • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และควบคุมน้ำหนัก
    • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้อาการร้อนวูบวาบรุนแรงยิ่งขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยกว่าเดิม นอกจากนี้ ยังทำให้นอนหลับได้ยากขึ้นด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 04/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา